| |
ปฏิจจสมุปบาท   |  

ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า ธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องประดุจลูกโซ่ หรือประดุจตาข่าย ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง ยากแก่การที่จะพิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียดครบถ้วนได้ นอกจากพระปัญญาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สามารถพิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียดทุกอย่างได้ มี ๑๒ ประการ คือ

๑. อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร

๒. สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ

๓. วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป

๔. นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด อายตนะ

๕. อายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ

๖. ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา

๗. เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา

๘. ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน

๙. อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ

๑๐. ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ

๑๑. ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ

๑๒. ชรา มรณะ เป็นปัจจัยให้เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะ

เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลไม่เข้าใจในหลักความเป็นไปของปฏิจจสมุปบาทดังนี้แล้ว ย่อมทำให้เกิดความสงสัยว่า จะเป็นไปเช่นนั้นจริงหรือ จะมีความลึกซึ้งเช่นนั้นจริงหรือ จะควรนำมาศึกษาพิจารณาหรือ ไม่เป็นสิ่งที่เกินวิสัยของมนุษย์ไปหรือ ดังนี้เป็นต้น ทำให้ไม่ตัดสินใจที่ทำการศึกษาเรียนรู้ ไม่ทำการกำหนดพิจารณาให้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ปัญญาบารมีที่จะพึงเกิดขึ้นจากการกำหนดพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมในปฏิจจสมุปบาท ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความสงสัยเหล่านี้ จึงเรียกว่า วิจิกิจฉานิวรณ์ เพราะเป็นเครื่องขัดขวางจิต ขัดขวางปัญญาไม่ให้บรรลุถึงคุณความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |