| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับศรัทธา   |  

สัทธาสูตร [๑]

[ว่าด้วยศรัทธา]

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณะงามยังพระวิหารเชตวัน ทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับแล้วจึงถวายอภิวาทพระพุทธเจ้าแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่า

ศรัทธาเป็นเพื่อนที่สองของบุคคล [เป็นเพื่อนใกล้ชิดสนิทสนมอยู่เคียงข้าง เป็นที่ปรึกษาเสมอ] หากว่าความไม่มีศรัทธาไม่ตั้งมั่น เพราะฉะนั้น บริวารยศและเกียรติยศ ย่อมมีแก่บุคคลนั้น อนึ่ง บุคคลนั้นละทิ้งสรีระแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงทิ้งมานะเสีย พึงล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย กิเลสเป็นเครื่องเกี่ยวข้องย่อมไม่เกาะเกี่ยวบุคคลนั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องในนามรูป ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

พวกชนพาลผู้มีปัญญาทรามย่อมตามประกอบความประมาท ส่วนนักปราชญ์ย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือนบุคคลรักษาทรัพย์อันประเสริฐ บุคคลอย่าตามประกอบความประมาทและอย่าตามประกอบความสนิทสนมด้วยอำนาจความยินดีในกาม เพราะว่า บุคคลผู้ไม่ประมาท เพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุบรมสุข

สัททสูตร [๒]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียง [ที่เกิดขึ้นเพราะปีติ] ของเทวดา ๓ อย่างนี้ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย ๓ อย่าง สมัย ๓ อย่างเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด พระอริยสาวกย่อมคิดเพื่อจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่า พระอริยสาวกนี้ย่อมคิดเพื่อทำสงครามกับมาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๑ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดา เพราะอาศัยสมัยแต่สมัย [เพราะเหตุที่พระอริยสาวกนี้ถือเอาเวลาที่เหมาะสมแล้วกระทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นโดยทันต่อเหตุการณ์ ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไปโดยเปล่าประโยชน์]

อีกประการหนึ่ง ในสมัยใด พระอริยสาวกประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่า พระอริยสาวกนั้นทำสงครามกับมาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเสียงของเทวดา ข้อที่ ๒ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย

อีกประการหนึ่ง ในสมัยใด พระอริยสาวกกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่า พระอริยสาวกนี้พิชิตสงคราม ชนะแดนแห่งสงครามนั้นแล้วครอบครองอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๓ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียงของเทวดา ๓ ประการนี้แล ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย

แม้เทวดาทั้งหลาย เห็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ชนะสงครามแล้ว เป็นผู้ใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม ย่อมนอบน้อมด้วยคำว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้ครอบงำกิเลสที่เอาชนะได้ยาก ชนะเสนาแห่งมัจจุ ผู้กางกั้นไว้มิได้ด้วยวิโมกข์ เทวดาทั้งหลาย ย่อมนอบน้อมพระขีณาสพผู้มีอรหัตผลอันบรรลุแล้วนี้ ด้วยประการฉะนี้ เพราะเทวดาทั้งหลายไม่เห็นเหตุแม้มีประมาณน้อยของพระขีณาสพผู้เป็นบุรุษอาชาไนยนั้น อันเป็นเหตุให้ท่านเข้าถึงอำนาจของมัจจุได้ เพราะฉะนั้น จึงพากันนอบน้อมพระขีณาสพนั้น ฯ

สัทธาสูตร [๓]

[ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก]

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคะ ชื่อว่า อาปณะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้วตรัสว่า ดูกรสารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด มีศรัทธามั่นเลื่อมใสยิ่ง ในพระตถาคต อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคตหรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำพูดแม้นานได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่า อริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ชัดอย่างนี้ว่า วัฏสงสารมีที่สุดและเบื้องต้นอันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือซึ่งกองแห่งความมืดคืออวิชชานั้นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้ว รู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ศรัทธาของอริยสาวกนี้ เป็นสัทธินทรีย์ ดังนี้แล

[พระพุทธเจ้า] ดีละ ๆ สารีบุตร อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสในตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่า อริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

ดูกรสารีบุตร ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้

ดูกรสารีบุตร ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต

ดูกรสารีบุตร ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ชัดอย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้นอันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืดคืออวิชชานั่น เป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน

ดูกรสารีบุตร ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้ว รู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา

ดูกรสารีบุตร สิ่งใดเป็นศรัทธาของอริยสาวกนั้น สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์ ของอริยสาวกนั้น ดังนี้แล

กสิภารทวาชสูตร

[ว่าด้วยศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถ]

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พราหมณคาม ชื่อว่า เอกนาฬา ในทักขิณาคิรีชนบท แคว้นมคธ ครั้งนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์ประกอบไถประมาณ ๕๐๐ ในเวลาเป็นที่หว่านพืช ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า พระพุทธเจ้าทรงนุ่งห่มแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่ทำการงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้น การเลี้ยงดูของกสิภารทวาชพราหมณ์กำลังเป็นไป ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงที่เลี้ยงดู ครั้นแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระพุทธเจ้าประทับยืนอยู่เพื่อบิณฑบาต ครั้นแล้วได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพระองค์ ย่อมไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วจงบริโภคเถิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค

[กสิภารทวาชพราหมณ์] ข้าแต่พระสมณะ ข้าพระองค์ไม่เห็นแอก ไถ ผาลปฏักหรือโค ของพระองค์เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมย่อมตรัสอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค ดังนี้ ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าด้วยคาถาว่า

พระองค์ย่อมปฏิญาณว่าเป็นชาวนา แต่ข้าพระองค์ไม่เห็นไถของพระองค์ พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกไถแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีข้าพระองค์จะพึงรู้จักไถของพระองค์

พระพุทธเจ้าตรัสตอบด้วยคาถาว่า

ศรัทธาของเราเป็นพืช ความเพียรของเราเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริของเราเป็นงอนไถ ใจของเราเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและปฏัก เราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจา สำรวมในอาหารในท้อง ย่อมกระทำการถอนหญ้า คือ การกล่าวไม่ให้คลาดเคลื่อนด้วยสัจจะ ความสงบเสงี่ยมของเราเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส ความเพียรของเรานำธุระไปเพื่อถึงแดนเกษมจากโยคะ ไม่หวนกลับมา ย่อมถึงสถานที่ ๆ บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถนานั้นเราไถแล้วอย่างนี้ การไถนานั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลไถนานั้นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

ลำดับนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสลงในถาดสำริดใหญ่ แล้วน้อมถวายแด่พระพุทธเจ้าด้วยกราบทูลว่า ขอท่านพระโคดมเสวยข้าวปายาสเถิด เพราะพระองค์ท่านเป็นชาวนา ย่อมไถนา อันมีผลไม่ตาย

พระพุทธเจ้าตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

ดูกรพราหมณ์ เราไม่ควรบริโภคโภชนะที่ขับกล่อมได้มา ข้อนี้ไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้เห็นอยู่โดยชอบ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงห้ามโภชนะที่ขับกล่อมได้มา ดูกรพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ การแสวงหานี้เป็นความประพฤติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เชิญท่านบำรุงพระขีณาสพ ผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้มีความคะนองอันสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำอย่างอื่นเถิด เพราะว่าเขตนั้นเป็นเขตของบุคคลผู้มุ่งบุญ

[กสิภารทวาชพราหมณ์] ข้าแต่พระโคดม ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพระองค์จะถวายข้าวปายาสนี้แก่ใคร

[พระพุทธเจ้า] ดูกรพราหมณ์ เราย่อมไม่เห็นบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ผู้บริโภคข้าวปายาสนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยได้โดยชอบ นอกจากตถาคตหรือสาวกของตถาคตเลย ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงทิ้งข้าวปายาสนั้นเสียในที่ปราศจากของเขียวหรือจมลงในน้ำซึ่งไม่มีตัวสัตว์เถิด

ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสนั้นให้จมลงในน้ำอันไม่มีตัวสัตว์ พอข้าวปายาสอันกสิภารทวาชพราหมณ์เทลงในน้ำ [ก็มีเสียง] ดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันคลุ้งไปโดยรอบ เหมือนก้อนเหล็กที่บุคคลเผาให้ร้อนตลอดวัน ทิ้งลงในน้ำ [มีเสียง] ดังจิจจิฏะ จิฏิจิฏะ เป็นควันคลุ้งไปโดยรอบ ฉันนั้น

ลำดับนั้นแล กสิภารทวาชพราหมณ์สลดใจ มีขนชูชัน เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ หมอบลงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉันนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด กสิภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระพุทธเจ้า ครั้นอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมุ่งหวังกันนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |