| |
ลักขณาทิจตุกะของวิจารเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของวิจารเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อารัมมะณานุมัชชะนะลักขะโณ มีการเคล้าคลึงในอารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า เมื่อวิตกเจตสิกยกสัมปยุตตธรมที่เกิดพร้อมกับตนขึ้นสู่อารมณ์แล้ว วิจารเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับวิตกเจตสิกย่อมนำสัมปยุตตธรรมนั้นให้เคล้าเคลียประคับประคองอยู่ในอารมณ์นั้นไม่ให้หลุดไปจากอารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อวิจารเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้นมีการคลอเคลียอยู่ในอารมณ์โดยไม่ปล่อยไป อุปมาเหมือนนกที่กระพือปีกทะยานบินขึ้นไปในอากาศ เมื่อทะยานบินขึ้นไปได้สูงเท่าที่ต้องการแล้ว กางปีกร่อนเล่นลมไปในอากาศ อาการกระพือปีกทะยานบินขึ้นไปสู่ท้องฟ้า จนถึงกลางอากาศที่สูงตามต้องการของนกนั้น เปรียบได้กับวิตกเจตสิกที่ทำการยกสัมปยุตตธรรมขึ้นสู่อารมณ์ ส่วนอาการที่นกนั้นกางปีกร่อนเล่นลมไปในอากาศนั้น เปรียบได้กับวิจารเจตสิก หรือ อุปมาเหมือนเสียงของระฆังที่ถูกตี เสียงระฆังที่ดังปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น เปรียบได้กับวิตกเจตสิก ส่วนเสียงระฆังที่ดังครวญกังวานอยู่ ยังไม่หายไปนั้น เปรียบได้กับวิจารเจตสิก แสดงให้เห็นว่า วิจารเจตสิกเป็นธรรมชาติที่รับอารมณ์ได้สุขุมกว่าวิตกเจตสิกและทำหน้าที่ตามหลังวิตกเจตสิก คือ ต้องมีวิตกเจตสิกทำหน้าที่นำหน้าก่อน แล้ววิจารเจตสิกจึงจะปรากฏเกิดขึ้นตาม เมื่อกล่าวโดยทั่วไป สภาพของวิตกและวิจารนี้ ย่อมปรากฏเกิดขึ้นและทำหน้าที่เคียงคู่กันไปโดยไม่มีการเหลื่อมล้ำกัน เพราะต้องมีความเป็นไปพร้อมกันด้วยอาการ ๔ อย่าง คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกัน และมีที่อาศัยเกิดอย่างเดียวกัน แต่เมื่อกล่าวถึงความละเอียดลึกซึ้งของสัมปยุตตธรรมแล้ว ในความเป็นไปพร้อมกันโดยอาการ ๔ อย่างนั้น วิตกเจตสิกย่อมมีความเหลื่อมล้ำนำหน้าวิจารเจตสิกบ้าง แม้เพียงเศษเสี้ยวระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นความรวดเร็วจนไม่สามารถกำหนดประมาณเวลาได้ ในชั่ว ๓ อนุขณะ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนั้น เปรียบเหมือนผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ซึ่งกำลังเดินไปสู่สถานที่ปฏิบัติกิจด้วยกัน ถึงแม้จะกล่าวว่าเดินไปด้วยกันก็จริง แต่ว่าผู้บังคับบัญชาเป็นผู้เดินนำหน้าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แม้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะเดินตามไปติด ๆ ก็ตาม แต่ก็มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่หน่อยหนึ่ง ข้อนี้ฉันใด วิตกเจตสิกและวิจารเจตสิก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในการเกิดขึ้นครั้งหนึ่งนั้น วิตกเจตสิกย่อมมีความเหลื่อมล้ำวิจารเจตสิกโดยหน้าที่อยู่หน่อยหนึ่ง ข้อนี้เป็นพระปรีชาสามารถในการทรงหยั่งรู้ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า พุทธวิสัย คือ ความสามารถพิเศษเฉพาะพระพุทธเจ้า ซึ่งเกินวิสัยของบุคคลอื่นที่สามารถจะกำหนดรู้ได้

๒. สะหะชาตานุโยชะนะระโส มีการทำให้สัมปยุตตธรรมประกอบกับอารมณ์อยู่เนือง ๆ เป็นกิจ หมายความว่า วิจารเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีหน้าที่ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้น ๆ โดยไม่ยอมปล่อย เปรียบเหมือนแมลงผึ้งที่บินร่อนหาเกสรดอกไม้ เมื่อได้พบดอกไม้อันเต็มไปด้วยกลิ่นเกสรและน้ำหวานแล้ว ย่อมตรงเข้าไปคลอเคลียและเคล้าคลึงสูดดมกลิ่น ลิ้มชิมรสของเกสรดอกไม้ โดยไม่หันเหรวนเรใส่ใจไปทางอื่น และพยายามดูดเอาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เพื่อนำไปทำน้ำผึ้งต่อไป ข้อนี้ฉันใด วิจารเจตสิกก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้รับอารมณ์ใดแล้ว ย่อมเข้าไปคลอเคลียเคล้าคลึงอยู่กับอารมณ์นั้น โดยไม่ยอมแหนงหน่ายทิ้งห่างจากไป จนกว่าจะถึงกำหนดดับไป

๓. อนุปะพันธะปัจจุปปัฏฐาโน มีการผูกสัมปยุตตธรรมไว้ในอารมณ์ที่รับอยู่นั้น ให้ติดต่อกัน เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อจิตและเจตสิกรับอารมณ์ใดอยู่ก็ตาม ย่อมรับอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นขณะหนึ่ง ๆ จึงมีอารมณ์ได้เพียงอารมณ์เดียว ไม่สามารถรับได้มากกว่าหนึ่งอารมณ์ในขณะเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสภาวะของวิจารเจตสิก เป็นผู้นำสัมปยุตตธรรมให้ไปผูกพันอยู่กับอารมณ์อย่างเหนียวแน่น ไม่ให้หลุดไปจากอารมณ์นั้น จนกว่าจิตเจตสิกดวงนั้นจะดับไป จิตและเจตสิกดวงใหม่จึงจะเกิดขึ้นรับอารมณ์ใหม่ได้อีก และการที่สัตว์ทั้งหลายสามารถรับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ติดต่อกันเป็นเวลานานนั้น เพราะสภาวะของวิจารเจตสิกนี้เอง เป็นผู้ผูกพันสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้มีความต่อเนื่องกันในอารมณ์ คือ เมื่อจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นครั้งแรกดับไปแล้ว จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นครั้งหลัง ย่อมรับอารมณ์ที่จิตและเจตสิกดวงก่อน ๆ รับไว้ครั้งแรกนั้น สืบเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสาย เช่น จิตเจตสิกที่เกิดครั้งแรกรับอารมณ์ที่เป็นสีขาวไว้ จิตเจตสิกที่เกิดครั้งหลัง ๆ ต่อมา ย่อมรับอารมณ์ที่เป็นสีขาวนั้นต่อไป จนกว่าอารมณ์นั้นจะหมดอายุลง หรือสัมปยุตตธรรมนั้น หันเหไปสนใจอารมณ์อื่นต่อไป ดังนี้เป็นต้น

๔. อารัมมะณะปะทัฏฐาโน วา เสสะขันธัตต๎ยะปะทัฏฐาโน มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หรือ มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า วิจารเจตสิกย่อมเป็นไปในทำนองเดียวกับวิตกเจตสิกนั่นเอง คือ การที่จะปรากฏเกิดขึ้นได้ ต้องมีอารมณ์ปรากฏขึ้นก่อน จึงจะสามารถนำสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้คลอเคลียเคล้าคลึงอยู่ในอารมณ์นั้นได้ ถ้าไม่มีอารมณ์ปรากฏขึ้นแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะนำสัมปยุตตธรรมให้เคล้าคลึงอยู่ในอะไรได้ หรือ ต้องมีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ปรากฏขึ้นด้วย หมายความว่า วิจารเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่นับเนื่องอยู่ในสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นนามขันธ์เช่นเดียวกันกับเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ อนึ่ง การเกิดขึ้นของนามขันธ์ทั้ง ๔ นั้น ต้องเป็นไปพร้อมกันโดยลักษณะ ๔ ประการ คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกัน และมีที่อาศัยเกิดอย่างเดียวกัน ดังกล่าวแล้วในเรื่องวิตกเจตสิก เพราะฉะนั้น วิจารเจตสิกนี้จะเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือเกิดขึ้นมาพร้อมด้วยเสมอ จะขาดเสียซึ่งนามขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |