| |
ความสำคัญของทวาร ๖   |  

ทวารทั้ง ๖ ย่อมเป็นบ่อเกิดของการรับรู้อารมณ์ของจิตและเจตสิกทั้งหลาย ฉะนั้น ทวารทั้ง ๖ จึงมีบทบาทสำคัญ เป็นเหมือนชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าสัตว์ทั้งหลาย ขาดทวารใดทวารหนึ่งไปแล้ว ก็ทำให้การรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ขาดหายไป คือ จิตและเจตสิกไม่สามารถรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้นไป ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ขาดองค์ประกอบไปส่วนหนึ่ง และถ้าบุคคลนั้น ขาดทวารไปหลายทวาร ชีวิตของบุคคลนั้น ก็ขาดองค์ประกอบไปหลายส่วน และถ้าขาดไปทั้ง ๖ ทวาร บุคคลนั้น ก็เป็นเหมือนไม่มีชีวิตเลย เช่น อสัญญสัตตพรหม ซึ่งมีแต่รูปเกิดอย่างเดียว ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดเลย เมื่อไม่มีจิตและเจตสิกเกิดแล้ว วัตถุรูปซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกก็ไม่จำเป็นต้องมีตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ อสัญญสัตตพรหมทั้งหลาย ถึงแม้จะมีชีวิต เพราะมีชีวิตรูปหล่อเลี้ยงกัมมชรูปด้วยกันอยู่ก็ตาม แต่ก็เป็นเหมือนไม่มีชีวิตนั่นเอง เพราะไม่มีการรับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ เลย และไม่สามารถรับรู้หรือสื่อสารกับบุคคลใดได้ ไม่มีบุญและบาปเกิดขึ้นแก่อสัญญสัตตพรหมทั้งหลายเลย ทำให้ชีวิตหยุดชะงักไปชั่วอายุขัยในอสัญญพรหมภูมินั้น ตลอด ๕๐๐ มหากัปป์ โดยไม่สามารถตายก่อนอายุขัยได้ แต่สำหรับบุคคลผู้มีทวารเกิดทั้งหลาย ย่อมมีวิถีชีวิตเป็นไปต่างจากอสัญญสัตตพรหมโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้มีชีวิตชีวาโดยอาศัยทวาร ๖ เป็นช่องทางเข้าออกในการรับรู้อารมณ์ทางทวาร ๖ ตามสมควรแก่บุคคลและภพภูมินั้นที่สามารถจะมีได้ หมายความว่า บุคคลที่เกิดในกามภูมิ ๑๑ นั้น ถ้ามีร่างกายสมบูรณ์ มีอวัยวะไม่บกพร่องเลย ย่อมสามารถมีทวารได้ครบทั้ง ๖ ทวาร คือ ทวารตา ทวารหู ทวารจมูก ทวารลิ้น ทวารกาย และทวารใจ ส่วนบุคคลที่เกิดในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] นั้น มีทวารเกิดได้เพียง ๓ ทวาร คือ ทวารตา ทวารหู และทวารใจเท่านั้น และบุคคลที่เกิดในอรูปภูมิ ๔ นั้น มีทวารเกิดได้เพียง ๑ ทวาร คือ ทวารใจ หรือมโนทวาร เท่านั้น สำหรับในกามภูมิ ๑๑ นั้น บุคคลใดมีทวารเกิดได้มาก บุคคลนั้น ก็เป็นเหมือนมีรสชาติ มีชีวิตชีวามากกว่าบุคคลที่มีทวารเกิดได้น้อยกว่า เนื่องจากกามภูมิเป็นภูมิที่รองรับกามอารมณ์โดยมาก วิถีชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีความเกี่ยวเนื่องอยู่กับกามอารมณ์โดยมาก อันได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ และรูป ๒๘ อันมีสภาพเป็นอารมณ์ ๖ กล่าวคือ วัณณรูปเป็นรูปารมณ์ สัททรูปเป็นสัททารมณ์ คันธรูปเป็นคันธารมณ์ รสรูปเป็นรสารมณ์ ปถวี เตโช วาโย รวมมหาภูตรูป ๓ นี้เป็นโผฏฐัพพารมณ์ ส่วนที่เหลือ คือ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕ และสุขุมรูป ๑๖ นั้น เป็นธัมมารมณ์ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ มักเป็นอารมณ์ของกิเลสกาม กล่าวคือ อกุศลเจตสิกนั้นมักมีสภาพยินดีพอใจในกามอารมณ์เหล่านี้ มักยึดหน่วงกามอารมณ์เหล่านี้มาเป็นอารมณ์ และเกิดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านี้ ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา แล้วสร้างบุญหรือสร้างบาป เพราะอาศัยความยินดีติดใจในกามอารมณ์เหล่านี้อยู่เป็นนิตย์ ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกามภูมิทั้งหลายโดยมาก

ส่วนบุคคลที่เกิดในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] นั้น เฉพาะพรหมที่เป็นปุถุชนและพระโสดาบัน พระสกทาคามี ในรูปภูมิ ๑๐ [เว้นสุทธาวาสภูมิ ๕] นั้น ท่านเป็นผู้ข่มกิเลสกามได้ด้วยกำลังของฌานสมาบัติโดยวิกขัมภนปหาน ส่วนพระอนาคามีและพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ท่านละกามราคะได้โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว ฉะนั้น ทวารทั้งหลายจึงไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อรองรับกามอารมณ์อันเป็นบ่อเกิดของกิเลสกามอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการรับรู้อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับคุณธรรม ฉะนั้น รูปพรหมทั้งหลาย จึงไม่มีทวารที่เป็นบ่อเกิดของกิเลสอย่างเดียว อันได้แก่ ฆานทวาร ชิวหาทวาร และกายทวาร เนื่องจากทวารเหล่านี้ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับคุณธรรมได้ รับได้เฉพาะกามอารมณ์อันเป็นบ่อเกิดของกิเลสกามเท่านั้น ด้วยอำนาจแห่งฌานสมาบัติที่ข่มทับกามฉันทนิวรณ์ได้โดยวิกขัมภนปหานนั้น จึงปรุงแต่งรูปให้เกิดขึ้นโดยไม่มีทวารทั้ง ๓ นี้ ด้วยเหตุนี้ พวกรูปพรหมทั้งหลาย [นอกจากอสัญญสัตตพรหม] จึงมีทวารเพียง ๓ ทวาร เพื่อรับรู้อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับคุณธรรม ได้แก่ ทวารตาสำหรับดูพระอริยเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อย่างหนึ่ง ทวารหูสำหรับฟังธรรม อย่างหนึ่ง และทวารใจสำหรับรับรู้ธัมมารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับคุณธรรม อย่างหนึ่ง

ส่วนอรูปพรหมทั้งหลายนั้น เป็นผู้เจริญอรูปกรรมฐานอันมีรูปวิราคภาวนาเป็นบาทเบื้องต้น หมายความว่า เป็นผู้มีความเบื่อหน่ายในสภาพของรูปธรรมทั้งหลายว่า เป็นของหยาบ เป็นของหนัก ต้องประคับประคอง ต้องบริหารดูแลอยู่เป็นนิตย์ เป็นรังของโรค มีอาพาธต่าง ๆ เป็นมูล เป็นบ่อเกิดของกิเลสตัณหาทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น แล้วทำลายความยินดีในรูปทั้งหลายเสีย แล้วเจริญอรูปกรรมฐานเพื่อให้พ้นจากสภาพที่ไม่มีรูป จึงเรียกว่า รูปวิราคภาวนา คือ ภาวนาที่ทำลายความยินดีในรูป ด้วยเหตุนี้ อรูปพรหมทั้งหลาย จึงไม่มีรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดเลย ตลอดอายุขัยที่เกิดอยู่ในอรูปภูมินั้น ฉะนั้น อรูปพรหมจึงไม่มีทวาร ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดเลย มีแต่ภวังคจิตที่ทำหน้าที่เป็นมโนทวารเท่านั้น ฉะนั้น อรูปพรหมทั้งหลาย จึงไม่มีการรับรู้อารมณ์ทางปัญจทวารเลย รับรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่สามารถสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ จึงเป็นผู้ที่มีโลกเป็นส่วนตัวคนเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ๆ ตลอดอายุขัยของการเกิดเป็นอรูปพรหมนั้น

ด้วยเหตุนี้ ทวาร ๖ จึงมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ดังกล่าวมาแล้ว บุญ บาป กุศล อกุศล และบารมีธรรมทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยอาศัยทวารนั้น ๆ เป็นแดนเกิด ขึ้นอยู่กับว่า บุคคลนั้น มีโยนิโสมนสิการ หรือ มีอโยนิโสมนสิการ ในการรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ถ้าบุคคลใดมีโยนิโสมนสิการในการรับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ แล้ว บุญ กุศล และบารมีธรรมทั้งหลาย ย่อมอาศัยเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าบุคคลใดมีอโยนิโสมนสิการในการรับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ แล้ว บาป อกุศลทั้งหลาย ย่อมอาศัยเกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง ทวารถึงแม้จะมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของสัตว์ทั้งหลายดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ทวารก็เป็นแต่เพียงช่องทางให้จิตและเจตสิกเข้าออกรับรู้อารมณ์เท่านั้น แต่ทวารนั้น ย่อมไม่ได้ทำการขวนขวายไปจัดแจงหรือปรุงแต่งให้จิตเป็นกุศลหรืออกุศลแต่ประการใด แต่ผู้ที่ขวนขวายจัดแจงและปรุงแต่งให้จิตเป็นกุศลหรืออกุศลนั้น ได้แก่ เจตนาที่เกิดพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการนั่นเอง ฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญาพิจารณาโดยรอบคอบไม่พึงโทษทวารหรือยกย่องทวาร แต่ควรโทษความมีอโยนิ โสมนสิการ หรือยกย่องความมีโยนิโสมนสิการของบุคคลนั้น ๆ เท่านั้น เพราะทวารเป็นเพียงกัมมชรูปและภวังคจิต ซึ่งล้วนแต่เป็นผลของกุศลหรืออกุศลที่ปรุงแต่งให้สำเร็จมาแล้วเท่านั้นไม่ได้ไปปรุงแต่งจัดแจงใครให้ทำกุศลหรืออกุศลได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |