| |
บทบาทของสติ   |  

๑. พหุปปการธรรม สติ ชื่อว่า เป็นพหุปปการธรรม คือ ธรรมมีอุปการะมาก เพราะว่า กิจการงานทุกอย่าง ทั้งการงานทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ทั้งการงานที่เป็นทางโลกหรือการงานที่เป็นทางธรรม ล้วนต้องอาศัยสติเป็นเครื่องควบคุม เป็นเครื่องกำกับดูแล เพื่อมิให้ทำ พูด คิด ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และความถูกต้อง ถ้าขาดสติเสียแล้ว การงานต่าง ๆ ย่อมผิดพลาดคลาดเคลื่อนทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่เมื่อบุคคลมีสติเป็นเครื่องกำกับควบคุมดูแลเป็นอย่างดีแล้ว การงานทุกอย่างก็จะดำเนินไปโดยเรียบร้อย ถูกต้องดีงาม ทำให้ได้รับประโยชน์จากการงานนั้น ๆ ตามสมควรแก่เหตุและปัจจัยที่ตนกระทำ เพราะฉะนั้น สตินี้ จึงได้ชื่อว่า พหุปปการธรรม คือ ธรรมมีอุปการะมาก

๒. สติปัฏฐาน สติได้ ชื่อว่า เป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะการงานทางจิต ที่เกิดขึ้นเพื่อทำการกำหนดรู้อาการของรูปนามตามความเป็นจริง โดยความเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ทนได้ยาก และอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของผู้ใด ย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และดับไปเพราะเหตุปัจจัยดับ ด้วยการใช้สติกำหนดรู้ให้เท่าทันอาการของธรรม ๔ อย่างหรือฐานทั้ง ๔ คือ

๑] กาย ความเป็นไปของร่างกาย เช่น อิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน การคู้ การเหยียด เป็นต้น หรือ อาการของกาย เช่น กายสดชื่นแข็งแรง กายอ่อนแอ กายเศร้าหมอง กายที่ควรแก่การงาน หรือกายที่ไม่ควรแก่การงาน เป็นต้น

๒] เวทนา อาการที่เสวยอารมณ์ ให้เกิดความรู้สึกทั้งทางกาย และทางใจ เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ปานกลางบ้าง

๓] จิต อาการเป็นไปของจิต เช่น จิตมีโลภะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ หรือ จิตมีศรัทธา จิตมีปัญญา เป็นต้น

๔] สภาวธรรม สภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นในจิต เช่น ความโลภ ความโกรธความขุ่นมัว ความเศร้าหมอง ความหลง หรือ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ความรัก ความศรัทธา เป็นต้น

ฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นที่ตั้งให้สติเข้าไปกำหนดรู้อาการของสิ่งเหล่านี้ เพื่อพิจารณาให้เกิดปัญญา รู้แจ้งสภาวธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริง ว่าเป็นแต่เพียงรูปกับนามเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของ ๆ เรา เป็นต้น ทำให้เกิดปัญญา ที่เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา หรือวิปัสสนาญาณ รู้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้

๓. สตินทรีย์ สติได้ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะว่า เป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในหน้าที่การงานของตน ทำให้สำเร็จความประสงค์ได้ คือ การระลึกนึกถึงอยู่เสมอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญงอกงามยิ่งขึ้น เป็นแรงกระตุ้นและเป็นอุปการะให้สภาวธรรมเหล่าอื่น ได้กระทำกิจของตน ๆ ในกิจการงานต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ยิ่งหรือหย่อนกว่ากัน จนถึงการงานอันสำคัญในการประหารอนุสัยกิเลส และบรรลุถึงพระนิพพาน ตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคลชั้นต่าง ๆ ก็ด้วยอาศัยสติ ที่เรียกว่า สตินทรีย์ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง

๔. สติพละ สติ ได้ชื่อว่า พลธรรม เพราะว่า เป็นธรรมที่เป็นกำลังในการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง กำลังแห่งสติ คือ การตามระลึกรู้เท่าทันทั่วถึงอารมณ์ คือ รูปนามขันธ์ ๕ ไม่ให้อกุศลธรรมเข้าไปอาศัย หรือเข้าไปประทุษร้ายจิตใจ ได้แก่ การระลึกไปในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั่นเอง ถ้าขาดกำลังแห่งสติเสียแล้ว ย่อมทำให้เกิดความประมาทเลินเล่อ หรือเผลอเรอได้ ทำให้รู้ไม่เท่าทันความเป็นไปของอารมณ์ ความเป็นไปของจิต และความเป็นไปของกระแสกิเลสที่ไหลเวียนเข้ามาประทุษร้ายจิตใจ เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “สติเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งกิเลสตัณหาทั้งปวง” แต่สติที่มีกำลัง ซึ่งเรียกว่า สติพละ ได้นั้น ต้องเป็นสติที่บุคคลได้ทำการฝึกฝนเป็นประจำ ฝึกฝนบ่อย ๆ ทำให้เกิดกำลังขึ้น สามารถระลึกรู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยไม่ให้เกิดความหลงลืม หรือผิดพลาดได้

๕. สติสัมโพชฌังค์ สติ ได้ชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะสติเป็นองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ที่เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์ คือ การหมั่นนึกคิด ตริตรอง ระลึกรู้สภาวะของรูปนามขันธ์ ๕ ให้รู้เท่าทันความเป็นจริง ได้แก่ สติที่มีกำลังมาก เป็นสตินทรีย์ และสติพละนั่นเอง

๖. สัมมาสติมรรค สติ ได้ชื่อว่า มรรค เพราะสติเป็นองค์ของมรรค ๘ ที่เรียกว่า สัมมาสติ ความระลึกชอบ เป็นหนทางแห่งการตรัสรู้ ได้แก่ การระลึกตามสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง ดังกล่าวแล้วว่า สติเป็นเครื่องระลึกรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง และคอยกระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมต่าง ๆ ที่เกิดพร้อมกับตนให้กระทำหน้าที่ของตน ๆ และมุ่งตรงสู่หนทางแห่งพระนิพพาน ด้วยการระลึกรู้เท่าทันสภาวะรูปนามของสตินี้ ย่อมเป็นเหตุให้สัมปยุตตธรรม [องค์มรรค] อื่น ๆ ได้ทำการประหารอนุสัยกิเลสโดยสมุจเฉทปหาน [ตัดราก ถอนโคน] ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |