| |
กำเนิดมนุษย์ในมดลูก [ชลาพุชะกำเนิด]   |  

มนุษย์ยุคปัจจุบันส่วนมากเป็นมนุษย์ที่มีพ่อแม่ เกิดมาแบบชลาพุชะกำเนิด คือ เกิดในมดลูกที่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ บิดามารดาร่วมสังวาสกัน ๑ มารดากำลังมีระดู ๑ และมีสัตว์มาปฏิสนธิ ๑ เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว การปฏิสนธิย่อมบังเกิดขึ้นเป็นทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเริ่มเกิดขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เรียกว่า กลละ [เป็นหยาดน้ำใส ๆ เหมือนน้ำมันงา] แล้วค่อย ๆ วิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ [ดังกล่าวแล้วในเรื่องรูปวัตติกกมนัย] โดยแตกแขนงเป็นแขนขาและศีรษะ จนมีอวัยวะครบบริบูรณ์ อยู่ในครรภ์มารดานานถึง ๗ เดือนบ้าง ๘ เดือนบ้าง ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง เป็นต้น เมื่อได้กำหนดแล้วก็คลอดออกจากครรภ์มารดา โดยส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ ๙ เดือน ยกเว้นพระบรมโพธิสัตว์ในปัจฉิมชาติที่จะอยู่ในครรภ์มารดาครบ ๑๐ เดือน

แต่มีมนุษย์คนหนึ่ง ที่ต้องอยู่ในครรภ์มารดานานถึง ๗ ปี ๗ วัน ได้แก่ พระสีวลีเถระ ซึ่งท่านเป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ราชธิดาของเจ้าโกลิยะแห่งกุณฑิยานคร ในอดีตชาติหนึ่ง พระสีวลีเถระเกิดเป็นกษัตริย์ได้ยกทัพไปตีเมือง ๆ หนึ่งเพื่อให้ตกเป็นเมืองประเทศราชของตน เป็นการแผ่อาณาจักร ทรงรับสั่งให้จาตุรงคเสนาล้อมเมืองนั้นไว้อยู่นานถึง ๗ ปี แต่ก็ไม่สามารถตีเมืองได้สำเร็จ เพราะชาวเมืองมีประตูลับออกไปหาเสบียงมาเลี้ยงกองทัพได้ พระนางสุปปวาสาซึ่งเกิดเป็นพระราชมารดาของกษัตริย์พระองค์นั้น ได้เสด็จไปสำรวจดูรอบเมือง ก็ทรงได้พบประตูลับนั้น จึงตรัสบอกให้พระโอรสปิดประตูเมืองเพื่อขังชาวเมืองฝ่ายปรปักษ์นั้นให้อดอาหารอยู่ถึง ๗ วัน ชาวเมืองนั้นจึงต้องยอมพ่ายแพ้เป็นเมืองประเทศราช ด้วยบุรพกรรมนั้น พระนางจึงต้องทรงอุ้มพระครรภ์อยู่นานถึง ๗ ปี แล้วเจ็บพระครรภ์เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสอยู่อีก ๗ วัน ทรงหมดหวังในพระชนม์ชีพ จึงให้พระสวามีเสด็จไปกราบทูลลาและขอขมาโทษพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เพื่อมิให้มีอกุศลกรรมชั่วหยาบที่อาจเคยล่วงละเมิดพระรัตนตรัยโดยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดีนั้น ติดตามไปสู่ภพชาติหน้า เพราะพระนางทรงดำริว่า พระนางคงจะต้องเสด็จทิวงคตเพราะอาการเจ็บปวดนั้นแน่แล้ว แต่เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสประทานพรให้พระนางและพระโอรสในครรภ์จงมีความสุข ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน มีพระชนม์ชีพยืนยาวนาน เพียงเท่านั้น พระนางผู้ประทับอยู่ในนิเวศน์ของพระองค์ก็ประสูติพระโอรสออกมาได้โดยสวัสดิภาพอย่างง่ายดาย ทำให้พระนางและพระสวามีทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธานุภาพเป็นยิ่งนัก ทรงขนานพระนามพระโอรสว่า สีวลี เมื่อประสูติได้ ๗ วัน พระโอรสสีวลีก็กราบทูลขอพระอนุญาตพระบิดาและพระมารดาบรรพชาเป็นสามเณร เป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ ต่อมาไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็เป็นผู้มีลาภสักการะมาก จึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นพระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะ คือ ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่มีลาภมาก ด้วยอานิสงส์ผลบุญบารมีที่ท่านได้ทำบุญและตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระรุ.๗๐๙

การเกิดเป็นมนุษย์ในครรภ์มารดาตามปกตินั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบ ๓ ประการดังกล่าวแล้ว แต่มนุษย์บางคนก็สามารถเกิดได้โดยที่มีองค์ประกอบไม่ครบ ตัวอย่างเช่น สมเด็จพระบรมศาสดาของเราสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติที่เกิดเป็นสุวรรณสาม ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนา เพราะพุทธกาลของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าอันตรธานไปแล้ว ในครั้งนั้น ทุกูลกุมารกับปาริกากุมารีถูกผู้ใหญ่จับให้แต่งงานกัน แต่ทั้ง ๒ เป็นผู้จุติมาจากพรหมโลก จึงมีอุปนิสัยดังพระพรหม ไม่ปรารถนาที่จะเกี่ยวข้องกันด้วยเมถุนธรรมเลย ต่อมาเมื่อบิดามารดาทั้ง ๒ ฝ่ายทำกาละกิริยาไปหมดแล้ว จึงออกบวชเป็นดาบสและดาบสินี บำเพ็ญพรตอยู่ในป่า วันหนึ่ง ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์เห็นว่าดาบสทั้ง ๒ ท่านนี้จะต้องตาบอดด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรมเก่า เพราะชาติหนึ่งเป็นหมอ ได้แกล้งทำให้ผู้ป่วยตาบอด ท้าวสักกเทวราชทรงเกรงว่า ดาบสทั้ง ๒ นี้จะดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยความลำบาก จึงเสด็จไปบอกให้ทั้ง ๒ มีบุตรด้วยกัน แต่ดาบสทั้ง ๒ ไม่อาจจะทำกรรมอันลามกด้วยกันได้ ท้าวเธอจึงตรัสบอกวิธีให้ทุกูลดาบสเอาฝ่ามือลูบท้องของปาริกาดาบสินีในขณะที่นางมีระดู ทำให้ดาบสทั้ง ๒ มีบุตรคนหนึ่ง ชื่อว่า สุวรรณสาม เพราะมีผิวพรรณดั่งทองคำ เพราะฉะนั้น สุวรรณสามจึงเป็นมนุษย์พิเศษที่เกิดจากครรภ์โดยบิดามารดามิได้ร่วมสังวาสกันเลยรุ.๗๑๐

นอกจากนี้ยังมีมนุษย์ที่เกิดจากครรภ์ แต่เมื่อแรกคลอดออกมาใหม่ ๆ นั้นเป็นเพียงชิ้นเนื้อ ยังไม่มีรูปร่างอย่างมนุษย์ทั่วไป ภายหลังต่อมาจึงค่อย ๆ เจริญเติบโตแตกแขนงเป็นรูปร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นปฐมวงศ์ของเจ้าลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชี มีประวัติความเป็นมาดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล พระเจ้ากรุงพาราณสีมีพระมเหสีหลายองค์ พระมเหสีแต่ละองค์ก็ประสูติพระโอรสรูปงาม แต่พระอัครมเหสีกลับประสูติออกมาเป็นชิ้นเนื้อสีแดง พระนางเกรงว่าจะถูกประณามหยามเหยียด จึงให้เอาชิ้นเนื้อไปลอยน้ำ โดยมีจารึกอักขระบอกไปด้วยว่าเป็นโอรสธิดาของพระอัครมเหสีแห่งกรุงพาราณสี ชิ้นเนื้อนั้นลอยไปตามแม่น้ำคงคา ดาบสตนหนึ่งกำลังอาบน้ำอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ได้เห็นชิ้นเนื้อนั้นจึงนำไปยังอาศรม ครึ่งเดือนต่อมา ชิ้นเนื้อนั้นก็แยกออกเป็น ๒ ชิ้น อีกครึ่งเดือนต่อมา ชิ้นเนื้อแต่ละชิ้นเริ่มแตกปุ่มออกเป็น ๕ ปุ่ม คือ เป็นมือ ๒ เท้า ๒ และศีรษะ ๑ ครึ่งเดือนต่อมากลายเป็นทารกชายและหญิง ดาบสจึงเลี้ยงดูทารกทั้ง ๒ นั้นโดยเนรมิตน้ำนมจากหัวแม่มือของตนให้ทารกดื่มกิน ทารกทั้ง ๒ มีผิวพรรณบอบบางจนดูใส่แจ๋ว เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า ลิจฉวี

ดาบสต้องรับภาระเลี้ยงดูทารกทั้ง ๒ จนไม่มีเวลาบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ พวกคนเลี้ยงวัวได้พบเห็นและทราบความเป็นมาแล้ว จึงขอรับทารกทั้ง ๒ ไปเลี้ยงดูให้ ดาบสก็ยอมให้ไป และได้บอกแก่คนเหล่านั้นว่า เด็ก ๒ คนนี้เป็นโอรสและธิดาของพระราชา เมื่อทารกทั้ง ๒ โตขึ้น ขอให้ช่วยกันสร้างเมืองให้เขาทั้งคู่เป็นพระราชาด้วย ครั้นทารกทั้ง ๒ เจริญเติบโตขึ้นจนมีอายุได้ ๑๖ ปี พวกคนเลี้ยงวัวจึงให้ทั้ง ๒ แต่งงานกัน และสร้างเมืองให้ทั้ง ๒ ปกครอง เรียกว่า เจ้าลิจฉวี ในเขตแคว้นวัชชี

ต่อมาเจ้าลิจฉวีก็มีโอรสและธิดาด้วยกันถึง ๑๖ คู่ เมื่อโอรสและธิดาเจริญวัยขึ้น พระบิดาพระมารดาก็ให้โอรสและธิดาจับคู่แต่งงานกัน และมีพระโอรสธิดาสืบเชื้อสายเรื่อยมาเป็นจำนวนมาก จนต้องขยายเขตกำแพงเมืองใหม่ถึง ๓ ครั้ง เพราะฉะนั้น เมืองนี้จึงมีกำแพงเมืองถึง ๓ ชั้น และได้ชื่อเมืองว่า กรุงเวสาลี หรือ ไพศาลี แปลว่า เมืองที่กว้างใหญ่ไพศาล

จนถึงสมัยพุทธกาล เจ้าลิจฉวีได้มีทายาทสืบเชื้อสายมากมายรวมได้ ๗,๗๐๗ พระองค์ มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม [สวนสนุก] ๗,๗๐๗ อาราม มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นร่วมกันปกครองบ้านเมืองด้วยระบอบสามัคคีธรรม คือ เจ้าลิจฉวีทุกองค์มีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองโดยหมุนเวียนเปลี่ยนวาระกันเป็นประมุข จะทำอะไรก็ต้องปรึกษาหารือกัน ลงมติร่วมกัน นับได้ว่า “เป็นต้นแบบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” ความเจริญรุ่งเรืองจึงบังเกิดขึ้นมาโดยลำดับ ผู้คนต่างบ้านต่างเมืองก็อพยพโย้กย้ายถิ่นฐานเข้ามาขออยู่อาศัยในเมืองเวสาลีพึ่งบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ลิจฉวีเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมืองเวสาลีในสมัยนั้นจึงเป็นเมืองที่กว้างใหญ่ไพศาลและเจริญรุ่งเรืองมากรุ.๗๑๑

ความทุกข์ของสัตว์ที่เกิดในครรภ์มารดา

สัตว์ทั้งหลายที่เกิดเป็นชลาพุชะกำเนิด คือ ถือปฏิสนธิในคัพโภทรประเทศแห่งมารดานั้น โดยมากย่อมได้เสวยชาติทุกข์อย่างสาหัส ยกเว้นสัตว์ผู้มีบุญญาธิการสูงส่งดังเช่นพระบรมโพธิสัตว์เป็นต้นเท่านั้นที่ไม่ต้องเสวยความทุกข์เช่นนั้น เพราะสัตว์โดยทั่วไปนั้น ตั้งแต่แรกถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา ปมํ กลลํ โหติ เดิมทีนั้นบังเกิดเป็นกลละ คือ หยาดน้ำใส ๆ ประหนึ่งว่า น้ำมันงาที่ติดอยู่ที่ปลายขนจามรี มีสีใสปานประหนึ่งว่า สัปปิ คือ น้ำมันเนยใส กลลา โหติ อุพฺพุทํ เมื่อล่วง ๗ วันไปแล้ว หยาดน้ำใส ๆ นั้นก็แปรสภาพเป็นสีขุ่นข้น เหมือนสีน้ำล้างเนื้อ อพฺพุทา ชายเต เปสิ เมื่อล่วงไป ๗ วัน ก็แปรสภาพเป็นชิ้นเนื้อเหลว ๆ เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน เมื่อล่วงไปอีก ๗ วัน ชิ้นเนื้อเหลว ๆ นั้นก็ค่อยแปรสภาพเป็นก้อนเนื้อแข็ง ๆ ปญฺจสาขา ชายเต ฆนา เมื่อล่วงไปอีก ๗ วัน ก้อนเนื้อนั้นก็ค่อย ๆ แตกออกเป็น ๕ ปุ่ม คือ ศีรษะ ๑ มือ ๒ เท้า ๒ อยู่ถ้วน ๗ วันแล้วจึงเริ่มบังเกิดมีผม ขน เป็นต้น

ในขณะที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดานั้น ก็ต้องเสวยทุกขเวทนานานัปประการ โดยนั่งทับอาหารเก่าที่เต็มไปด้วยกลิ่นอันปฏิกูลยิ่งนัก ต้องทูนอาหารใหม่ของมารดาไว้เหนือศีรษะ กำมือทั้ง ๒ สอดไว้ใต้คาง ผินหลังออกมาทางพื้นท้องของมารดา หันหน้าซุกเข้ากระดูกสันหลังของมารดา นั่งกระโหย่งขดกายอยู่ ดูลำบากปานประหนึ่งว่า วานรที่หลบฝนหนีความหนาวเข้าไปซ่อนตัวขดกายอยู่ในโพรงไม้ ฉันนั้น พังผืดคือสายรัดห่อนั้นก็รัดกระหวัดไว้รอบตน ไม่สามารถจะเหยียดมือเหยียดเท้าออกได้ เหมือนบุคคลที่ตกอยู่ในหลุมคูถที่คับแคบ ฉันนั้น ติพฺพนฺธนากาเร และมีสภาพมืดมนอนธการยิ่งนัก กลิ่นมูตรและคูถอันมีอยู่ในอุทรประเทศของมารดานั้นก็เหม็นฟุ้งตลบไปอย่างร้ายกาจ เหมือนกับตัวหนอนที่ขึ้นในเนื้อเน่าและปลาเน่า เป็นต้นฉันนั้น และมีความทุกข์ที่ต้องประสบดังต่อไปนี้

๑. คัพโภกกันติมูลกทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดเพราะการก้าวลงสู่ครรภ์มารดา กล่าวคือ ไฟธาตุในอุทรประเทศของมารดานั้นย่อมเผาผลาญให้ร้อนรุ่ม ดุจห่อเนื้อที่บุคคลต้มไว้ในภาชนะอันร้อนจัด หรือมิฉะนั้น ก็เปรียบเหมือนแป้งที่บุคคลปิ้งบนถ่านเพลิง ย่อมได้รับความทุกข์แสนสาหัส นี้จัดเป็นชาติทุกข์ประการที่หนึ่ง

๒. คัพภปริหรณมูลกทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการบริหารครรภ์แห่งมารดากล่าวคือ เมื่อมารดาพลาดพลั้งสะดุดล้มลง หรือเดินเหินลุกนั่งพลิกกายซ้ายขวา หรือกระทำกิจการงานหนัก มีตักน้ำ ตำข้าว เป็นต้น ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดานั้น ย่อมเสวยทุกขเวทนาเจ็บปวดทั่วสรรพางค์กาย เอฬกโปตกา วิย ดุจลูกทรายอ่อนที่ตกอยู่ในเงื้อมมือแห่งนักเลงสุรา ซึ่งทำการฉุดคร่ายื้อแย่งอย่างไม่ปราณี หรือมิฉะนั้นก็เปรียบเหมือนลูกงูน้อยที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของหมองู เป็นต้นฉันนั้น เมื่อมารดารับประทานอาหารเย็น ๆ เข้าไป ทารกย่อมลำบากดุจดังว่าตกอยู่ในโลกันตนรกอันเยือกเย็นยิ่งนัก เมื่อมารดาบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อน มีข้าวยาคูและผักต้ม เป็นต้นเข้าไป ทารกย่อมลำบากดุจดังว่าถูกห่าฝนถ่านเพลิงพุ่งเข้ามาทิ่มแทงทั่วร่างกายให้ได้รับความเจ็บแสบปวดร้าวแสนสาหัส ดุจดังว่าถูกประหารด้วยศัสตราอันคมกล้าแล้วทาด้วยน้ำเกลือ ฉันนั้น ย่อมเสวยทุกขเวทนายิ่งนัก นี้จัดเป็นชาติทุกข์ประการที่ ๒

๓. คัพภวิปัตติมูลกทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดจากครรภ์วิปริต อันเนื่องมาจากลมที่เกิดจากอกุศลธรรมวิปริตในครรภ์มารดา ทำให้คลอดออกมาไม่สะดวก เกิดการขัดขวางอยู่ในอุทรประเทศแห่งมารดา ออกมามิได้ หมู่ญาติมิตรแห่งมารดาหรือหมอย่อมพากันตัดทอนมือเท้าของทารกนั้นให้เป็นท่อนเป็นชิ้นแล้วกระชากออกมา ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส นี้จัดเป็นชาติทุกข์ประการที่ ๓

๔. วิชายนมูลกทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการคลอดออกจากครรภ์มารดา เมื่อลมกัมมชวาตรัญจวนปั่นป่วนในอุทรประเทศแห่งมารดาพัดกลับเท้าขึ้นข้างบน พัดศีรษะกลับลงเบื้องล่าง สตโปริสปฺปาเต ปติโต วิย ทารกนั้นย่อมสะดุ้งตกใจประหวั่นหวาดกลัวขวัญหนีดีฝ่อ ประหนึ่งว่าตกลงไปในเหวอันลึกประมาณชั่ว ๑๐๐ บุรุษ เมื่อออกมาโดยช่องคลอดของมารดาซึ่งคับแคบนั้น ย่อมได้รับความทุกข์เจ็บแสบเหลือกำลัง ประหนึ่งว่า บุคคลชักกระชากพญาคชสารซึ่งมีร่างกายใหญ่โตให้ออกโดยช่องดาลอันเล็กฉันนั้น หรือประหนึ่งว่า สัตว์ในสังฆาตนรกที่ถูกภูเขายนต์อันลุกแดงเป็นแสงไฟโชติช่วงกลิ้งมาบดขยี้ให้แหลกละเอียดเป็นจุณวิจุณไปฉันนั้น นี้จัดเป็นชาติทุกข์ประการที่ ๔

๕. กุจฉิโตพหินิกขมนมูลกทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากคลอดออกจากครรภ์มารดาแล้ว เมื่อทารกนั้นแรกออกจากครรภ์มารดา เมื่อถูกจับให้อาบน้ำเพื่อล้างมลทินครรภ์ แล้วเช็ดผ้าเป็นต้น ย่อมได้รับความเจ็บปวดเหลือกำลัง ปานประหนึ่งว่า ถูกแทงด้วยเข็มและเฉือนตัดด้วยศัสตราอันคมกล้า ฉันนั้น เพราะมีร่างกายยังละเอียดอ่อนอยู่เหมือนกับแผลใหม่ ๆ นี้จัดเป็นชาติทุกข์ประการที่ ๕

๖. อัตตูปักกมมูลกทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง เมื่อทารกนั้นเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ แล้วกระทำอกุศลกรรมมีกายทุจริตเป็นต้น และกลัวจะต้องรับโทษทัณฑ์อันจะมาถึงตน จึงฆ่าตัวเสียด้วยศัสตราวุธก็ดี ผูกคอตายก็ดี กินยาพิษเป็นต้นก็ดี อนึ่ง บางคนกลัวต่อภัยในสังสารวัฏฏ์ แล้วไปประพฤติวัตรปฏิบัติแห่งเดียรถีย์ มีการนอนบนหนามหรือบนเหล็กแหลมเป็นต้น เพื่อย่างกิเลสตามลัทธิซึ่งมีประการต่าง ๆ ทรมานตนให้ลำบากเสียเปล่า ที่เรียกว่า อาตาปนปริตาปนานุโยค ก็ดี ประพฤติตนเป็นชีเปลือย ที่เรียกว่า อเจลกวัตร ก็ดี บางพวกก็ลุอำนาจแก่โทสะ กริ้วโกรธอย่างร้ายกาจถึงกับแขวนคอตาย ยิงตัวตาย อดข้าวตาย เป็นต้นเสียก็มี นี้จัดเป็นชาติทุกข์ประการที่ ๖

๗. ปรุปักกมมูลกทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น เมื่อมีบุคคลอื่นมาประหัตประหาร ด้วยการโบยตี ทิ่มแทง สับฟัน ด้วยเครื่องศัสตราวธุ มีไม้ค้อน ก้อนดิน ท่อนไม้ เป็นต้น หรือถูกสัตว์ร้ายที่เป็นคู่เวรกันขบกัดเอา ทำให้ได้รับความทุกข์เจ็บปวดแสนสาหัสถึงแก่ความตายบ้าง ถึงอาการปางตายบ้าง ทุพพลภาพเป็นต้นบ้าง นี้จัดเป็นชาติทุกข์ประการที่ ๗

ทุกข์เหล่านี้แหละ ย่อมบังเกิดมีแก่ชายหญิงทั้งปวงได้ ด้วยสามารถแห่งกำเนิดที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์นี้เองเป็นปัจจัยรุ.๗๑๒


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |