| |
ลักขณาทิจตุกะของสัทธาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของศรัทธาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนซึ่งไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. สัททะหะนะลักขะณา วา โอกัปปะนะลักขะณา มีความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ เป็นลักษณะ หรือ มีความเชื่อดิ่งลง เป็นลักษณะ หมายความว่า ความเชื่อที่เป็นศรัทธาเจตสิกนี้ จะต้องเป็นความเชื่อที่มีเหตุผลตามความเป็นจริง ส่วนความเชื่อโดยไม่มีเหตุผลนั้น โดยมากมักเป็นไปด้วยอำนาจแห่งอธิโมกข์ซึ่งประกอบด้วยโมหะ เรียกว่า การปลงใจ

๒. ปสาทะนะระสา วา ปักขันทะนะระสา มีความผ่องใส เป็นกิจ หรือ มีความแล่นไป เป็นกิจ เปรียบเหมือนแก้วมณีที่ทำให้น้ำใสสะอาด หมายความว่า ศรัทธาเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นย่อมข่มกิเลสนิวรณ์ มีกามฉันทนิวรณ์ เป็นต้นไว้ได้ ทำจิตให้ปราศจากนิวรณ์ มีความผ่องใสไม่ขุ่นมัว ทำให้บุคคลผู้มีศรัทธาเกิดความริเริ่มที่จะทำคุณงามความดีโดยไม่ย่อท้อและมุ่งกระทำกุศลกรรมอยู่เสมอ

๓. อะกาลุสสิยะปัจจุปปัฏฐานา วา อะธิมุตติปัจจุปปัฏฐานา มีความไม่ขุ่นมัว เป็นอาการปรากฏ หรือ มีอัธยาศัยน้อมไปเป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อศรัทธามีกำลังมากแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกันมีอาการชื่นบาน ในขณะกระทำกุศลกรรมต่าง ๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น

๔. สัทเธยยะวัตถุปะทัฏฐานา วา สัทธัมมัสสะวะนาทิโสตาปัตติยังคะปะทัฏฐานา มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เป็นเหตุใกล้ใด้เกิด หรือ มีโสตาปัตติยังคะเจ.๒๒ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความวว่า ศรัทธาเจตสิกจะเกิดกับบุคคลใดได้ บุคคลนั้นต้องปรารภถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เช่น พุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ กฎแห่งกรรม เป็นต้น หรือปรารภถึงเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเพียรพยายามโดยไม่ท้อแท้เบื่อหน่าย บัณฑิตพึงเห็นเหมือนทรัพย์สมบัติและพืช เป็นต้น ฉันนั้น หมายความว่า ศรัทธาเจตสิกนี้เป็นทรัพย์อันประเสริฐ เรียกว่า อริยธนะ ได้แก่ สัทธาธนะ อริยทรัพย์คือศรัทธา เมื่อบังเกิดขึ้นกับบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นได้ประสบกับทรัพย์อันประเสริฐ คือ บุญ วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธานั้นขึ้นอยู่กับอัธยาศัย ของแต่ละบุคคล ซึ่งได้แก่ รูป เสียง การแต่งตัว การพูดจาที่มีหลักการ หรือข้อธรรมที่แสดงออกมา เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |