| |
บทสรุปเรื่องหทยวัตถุรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๙๔ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องหทยวัตถุรูปไว้ดังต่อไปนี้

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสหทยวัตถุไว้ในคัมภีร์ธัมมสังคณี ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะต้องการจะทรงรักษาไว้มิให้พระธรรมเทศนาเสียลำดับ แต่ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์ปัฏฐานรุ.๒๙๕ ดังพระพุทธภาษิตเป็นต้นว่า

[๑] วตฺถุ กุสลานํ ขนฺธานํ นิสฺสยปจฺจเยน ปจฺจโย

[๒] วตฺถุ อกุสลานํ ขนฺธานํ นิสฺสยปจฺจเยน ปจฺจโย

แปลความว่า

[๑] หทยวัตถุรูปเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นกุศล โดยความเป็นนิสสยปัจจัย

[๒] หทยวัตถุรูปเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอกุศล โดยความเป็นนิสสัยปัจจัย

ในข้อนี้ วัตถุรูปอย่างอื่นนอกจากวัตถุรูปที่ ๖ ย่อมไม่มี ทั้งวัตถุรูป ๕ อย่างแรกก็มิได้เป็นที่อาศัยเกิดของกุศลและอกุศล เป็นต้น วัตถุที่ตรัสไว้ในคัมภีร์ปัฏฐานโดยความเป็นนิสสยปัจจัย จึงหมายถึง วัตถุรูปเพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะคือหทยวัตถุรูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีกล่าวถึงความเหมาะสมไว้เพื่อชี้แจงความสงสัยในรูปทั่วไป โดยดำริว่า “ความสงสัยในรูปทั่วไปอาจจะมีได้ เพราะสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส [โดยไม่ระบุไว้] ว่า อาศัยรูปใดแล้ว”รุ.๒๙๖ เป็นต้น แต่ความสงสัยเช่นนั้นไม่ควรมี เพราะในคัมภีร์ปัฏฐานตรัสโดยชื่อว่า วัตถุในฐานะมากมาย ที่ไม่เกี่ยวกับรูปอย่างอื่น

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๒๙๗ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องหทยวัตถุรูปไว้ดังต่อไปนี้

บัณฑิตพึงทราบว่า หทัยวัตถุนั้น แม้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ในรูปกัณฑ์ก็ตาม ก็ชื่อว่า มีอยู่โดยปกรณ์ [อาคม] และโดยยุกติ ในปกรณ์และยุกติทั้ง ๒ นั้น คำในปัฏฐานซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า รูปที่มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุอาศัยเป็นไปนั้น เป็นปัจจัยโดยความเป็นนิสสยปัจจัยแก่มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ และธรรมอันสัมปยุตด้วยธาตุทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่า ปกรณ์ [อาคม] ส่วนยุกติพึงทราบอย่างนี้

ธาตุทั้ง ๒ [คือมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ] ของเหล่ากามาวจรสัตว์ และรูปาวจรสัตว์ มีนิปผันนรูปและหทัยวัตถุรูป อาศัยภูตรูปเป็นที่รองรับ เพราะความที่ธาตุเหล่านั้นมีความเป็นไปเนื่องด้วยรูป ประดุจจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้น ธาตุเหล่านั้นไม่อาศัยประสาทรูป มีจักขุประสาทเป็นต้น เพราะจักขุประสาทเป็นต้นนั้น เป็นที่รองรับธาตุอื่น [มีจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้น] ไม่อาศัยโคจรมีรูปเป็นต้น เพราะโคจรรูปเหล่านั้นเป็นไปภายนอก และก็ไม่อาศัยชีวิต เพราะชีวิตนั้นประกอบในกิจอื่นและไม่อาศัยภาวรูปทั้ง ๒ เพราะแม้เมื่อภาวรูปทั้ง ๒ นั้นไม่มี [มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ] ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น หทัยวัตถุนั้น เป็นวัตถุอื่นจากประสาทรูปเป็นต้นนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นอุปาทายรูป อาศัยมหาภูตรูป ก็หทัยวัตถุนี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มิได้ตรัสไว้ในพระบาลีพระธัมมสังคณีปกรณ์ โดยความต่างแห่งการแสดงวัตถุทุกะ และอารัมมณทุกะ ฯ

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๙๘ ได้แสดงสรุปความเรื่องหทยรูปไว้ดังต่อไปนี้

หทยรูป เป็นรูปที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ หรือกุศลกรรมและอกุศลกรรม หมายความว่า การงานของสัตว์ทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนั้น ถ้าทำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็เรียกว่า กุศลกรรม ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่เป็นประโยชน์ ก็เรียกว่า อกุศลกรรม กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตาม จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิด สำหรับในปัญจโวการภูมินั้น ถ้าไม่มีหทยวัตถุรูปแล้ว ผู้นั้นย่อมกระทำการงาน ตลอดจนการรู้สึกนึกคิดเรื่องต่าง ๆ ไม่ได้เลย ย่อมมีสภาพคล้ายกับเป็นรูปหุ่นไป เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นเหตุให้สำเร็จการงาน ตลอดถึงความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงได้ชื่อว่า หทยรูป

หทยรูปนี้ มี ๒ ประเภท คือ

๑. มังสหทยรูป ได้แก่ รูปหัวใจที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม

๒. วัตถุหทยรูป ได้แก่ กัมมชรูปชนิดหนึ่งที่เกิดอยู่ภายในมังสหทยรูป

เพราะฉะนั้น คำว่า หทยรูป ในที่นี้ มุ่งหมายเอาวัตถุหทยรูป หรือที่เรียกว่า หทยวัตถุรูป แปลว่า รูปที่เป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก ตั้งอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจที่มีลักษณะเหมือนบ่อ โตประมาณเท่าเมล็ดบุนนาค ตั้งอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ มีโลหิตหล่อเลี้ยงอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ เป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ

บทสรุปของผู้เขียน :

ตามที่ได้แสดงเรื่องหทยรูปไปแล้วทั้งหมดนั้น จึงสามารถสรุปความได้ดังต่อไปนี้

หทยวัตถุรูปนั้น เป็นรูปที่เกิดจากกรรมอย่างเดียว ไม่สามารถเกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่นได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมเก่าสร้างหทยวัตถุรูปมาอย่างไรแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่สามารถเปลี่ยนหทยวัตถุรูปใหม่ได้เลยตลอดทั้งชาตินั้น ส่วนสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายย่อมไม่สามารถมีหทยวัตถุรูปได้เลย เพราะสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้นไม่ได้เกิดจากกรรม แต่เกิดจากอุตุและอาหาร กล่าวคือ อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญ และมีอาหารรูปที่เรียกว่า พหิทธโอชา ช่วยเป็นปัจจัยสนับสนุนหล่อเลี้ยงให้สิ่งนั้น ๆ เกิดขึ้นและมีความเป็นไปได้ ตามสภาพแวดล้อมและอาหารนั้น ๆ

ส่วนมังสหทยรูปนั้น เป็นก้อนเนื้อหัวใจที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูมคว่ำ นี้หมายเอารูปหัวใจของมนุษย์ ส่วนรูปหัวใจของสัตว์อื่น ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามประเภทของสัตว์ แต่ที่เหมือนกัน ก็คือ เป็นสถานที่อาศัยเกิดของหทยวัตถุ ซึ่งมีสภาพเป็นสสารและพลังงานที่ซึมซาบแทรกซ้อนอยู่ในมังสหทยะอีกทีหนึ่ง โดยมีบ่อน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |