| |
ลักขณาทิจตุกะของมิทธเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของมิทธเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะกัมมัญญะตาลักขะณัง มีความไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ หมาย ความว่า มิทธเจตสิกนี้ย่อมมีสภาพที่ไม่ควรต่อกิจการงานอันเป็นกุศลทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการงานทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี หรือทางใจก็ดี มิทธเจตสิกย่อมมีสภาพตรงกันข้ามกับกัมมัญญตาเจตสิกโดยสิ้นเชิง เพราะกัมมัญญตาเจตสิกนั้นมีสภาพที่เหมาะควรต่อการงานที่เป็นกุศล ทำให้สามารถกระทำกุศลกรรมได้โดยสะดวก ส่วนมิทธเจตสิกนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้เจตสิกที่ประกอบกับจิตดวงเดียวกันนั้นเกิดอาการเหนื่อยหน่ายไม่เหมาะควรที่จะทำคุณงามความดี หรือทำให้เจตสิกท้อถอยจากคุณงามความดีที่ทำอยู่แล้วหันเหไปกระทำสิ่งที่เป็นอกุศลกรรมแทน

๒.โอทะหะนะระสัง มีการปิดกั้นกุศลเป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่สำคัญของมิทธเจตสิก ก็คือ ทำให้เจตสิกที่เกิดพร้อมในจิตดวงเดียวกันนั้นหน่ายแหนงต่อการกระทำคุณงามความดีที่กำลังจะลงมือทำ และเมินเฉยต่อคุณงามความดีที่เคยกระทำมาแล้ว โดยไม่ใส่ใจถึงกุศลกรรมเหล่านั้น เมื่อบุคคลใดถูกมิทธเจตสิกครอบงำแล้ว จิตใจของบุคคลนั้นย่อมมืดมิดต่อความคิดที่ดีงาม เพราะถูกมิทธเจตสิกปิดกั้นความคิดที่จะทำกุศลไว้เสียนั่นเอง แม้กุศลกรรมที่เคยทำมาแล้วย่อมไม่คำนึงถึง หรือเกิดอาการหน่ายแหนงต่อกุศลกรรมนั้น

๓. ลีนะตาปัจจุปปัฏฐานัง วา จาปัล๎ยิกะมิททาปัจจุปปัฏฐานัง มีความหดหู่ เป็นอาการปรากฏ หรือ มีความโงกง่วงและความหลับ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า มิทธเจตสิกนี้มีสภาพปรากฏให้สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยปัญญา คือ อาการหดหู่ท้อแท้เบื่อหน่ายและหน่ายแหนงจากคุณงามความดี เมื่อบุคคลใดถูกมิทธะเข้าครอบงำแล้ว ย่อมแสดงอาการให้รู้ว่ากำลังถูกมิทธะครอบงำ ได้แก่ อาการท้อถอย อาการเบื่อหน่าย อาการหดหู่ อาการสิ้นหวัง อาการท้อแท้ อาการเหนื่อยหน่าย อาการง่วงเหงาหาวนอนและเผลอหลับอยู่บ่อย ๆ เป็นต้น

๔. อะโยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐานัง มีการทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมิทธะคือความหดหู่ท้อแท้ใจนั้น เนื่องมาจากบุคคลนั้นขาดโยนิโสมนสิการ คือ การไม่ได้ใช้ปัญญาในการดำเนินที่ถูกต้อง ไม่ได้พิจารณาสรรพสิ่งทั้งปวงให้รอบคอบถี่ถ้วน จึงเกิดความผิดพลาด หรือถูกความไม่รู้และความประมาทครอบงำจิตอยู่เสมอ ทำให้อกุศลธรรมเข้าครอบงำจิตอยู่เสมอ ไม่สามารถยั้งคิดพิจารณาเหตุผลของสิ่งทั้งปวงได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้บุคคลนั้นไม่มีโยนิโสมนสิการ คือ ไม่มีปัญญาที่จะคิดพิจาณาโดยแยบคาย เมื่อประสบกับสภาพแวดล้อม สภาพสังคม หรือสภาพอารมณ์ต่าง ๆ แล้วหาทางออกที่ดีที่ถูกต้องโดยอุบายอันแยบคายไมได้ บุคคลนั้นย่อมเกิดอาการหดหู่และท้อแท้เบื่อหน่ายจิตใจ ขาดกำลังใจที่จะทำคุณงามความดีให้เกิดขึ้นต่อไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |