| |
รูปสมุทเทสนัย   |  

รูปสมุทเทสนัย เป็นนัยที่แสดงสภาวะของรูปธรรมโดยสังเขป เพื่อให้รู้ถึงคุณลักษณะและประเภทของรูปธรรมแต่ละอย่าง ว่ามีคุณลักษณะอย่างไรบ้าง ในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงจะแสดงการจำแนกรูปโดยพิสดารในนัยต่อไป

ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องรูปสมุทเทสนัยนี้ เบื้องต้นเป็นการแสดงถึงสภาพของรูปที่เป็นปรมัตถ์แท้และปรมัตถ์เทียม ตามนัยที่พระอนุรุทธาจารย์แสดงไว้ในคาถาสังคหะที่ ๓ และที่ ๔ ในปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๑๙ เป็นต้น ก็ได้แสดงอารัมภบทเรื่องรูปสมุทเทสนัยไว้ดังนี้

การแสดงภาวะของรูปธรรม เพื่อให้รู้ถึงคุณสมบัติพิเศษของรูปแต่ละรูป ซึ่งไม่เหมือนกัน ตามคาถาสังคหะที่แสดงไว้ในคาถาที่ ๓ และที่ ๔ ดังนี้

คาถาสังคหะที่ ๓

[คาถาแสดงนิปผันนรูป ๑๘]

ภูตปฺปสาทวิสยา    ภาโว หทยมิจฺจปิ
ชีวิตาหารรูเป หิ    อฏฺารสวิธํ ตถา ฯ

แปลความว่า

มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๔ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ รวม ๑๘ รูปนี้ เป็นรูปปรมัตถ์แท้ เรียกว่า นิปผันนรูป

คาถาสังคหะที่ ๔

[คาถาแสดงอนิปผันนรูป ๑๐]

ปริจฺเฉโท จ วิญฺตฺติ    วิกาโร ลกฺขณนฺติ จ
อนิปฺผนฺนา ทสา เจติ    อฏฺวีสวิธมฺภเว ฯ

แปลความว่า

ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ และลักขณรูป ๔ เป็นรูปที่ไม่ใช่รูปปรมัตถ์แท้ เรียกว่า อนิปผันนรูป ๑๐ จึงรวมจำนวนรูปทั้งหมด [นิปผันนรูป ๑๘ และอนิปผันนรูป ๑๐] ได้ ๒๘ รูป

อธิบายความหมาย

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๒๐ ได้แสดงคำอธิบายขยายเนื้อความในรูปสมุทเทสนัยไว้ดังต่ไปนี้

รูป ๒ อย่างนี้ คือ มหาภูตรูป ๔ กับอุปาทายรูป [รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด] ๒๔ ย่อมถึงการรวมเข้าได้ ๑๑ อย่าง คือ

รูป ๑๘ อย่าง ได้แก่ ปถวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ชื่อว่า มหาภูตรูป ๑ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ ชื่อว่า ปสาทรูป ๑ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ กล่าวคือ มหาภูตรูปทั้ง ๓ [เว้นอาโปธาตุ] ชื่อว่า โคจรรูป ๑ ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ชื่อว่า ภาวรูป ๑ หทยวัตถุ ชื่อว่า หทยรูป ๑ ชีวิตินทรีย์ ชื่อว่า ชีวิตรูป ๑ อาหารที่ทำให้เป็นคำ ๆ ชื่อว่า อาหารรูป ๑ [รูปทั้ง ๑๘ รูปเหล่านี้] ย่อมถึงการนับว่า สภาวรูป สลักขณรูป นิปผันนรูป รูปรูป และสัมมสนรูป ฯ อากาสธาตุ ชื่อว่า ปริจเฉทรูป ๑ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ ชื่อว่า วิญญัติรูป ๑ ความเบาแห่งรูป ความอ่อนแห่งรูป ความควรแก่การงานแห่งรูป และวิญญัติรูปทั้ง ๒ ชื่อว่า วิการรูป ๑ ความเติบโตแห่งรูป ความสืบต่อแห่งรูป ความทรุดโทรมแห่งรูป ความไม่เที่ยงแห่งรูป ชื่อว่า ลักขณรูป ๑ [รวมเป็น ๑๑ อย่างนี้] เฉพาะชาติรูป ท่านเรียกโดยชื่อว่า อุปจยะและสันตติ ในรูปสังคหะนี้ ฉะนี้แล ฯ

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นต้นรุ.๒๑ ได้แสดงความหมายของรูปสมุทเทสนัยนั้นไว้ดังต่อไปนี้

เนื้อความตามคาถาสังคหะทั้ง ๒ นั้น แสดงถึงจำนวนรูปธรรมทั้งหมด ซึ่งจำแนกได้เป็น ๒๘ รูป แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ ได้แก่

นิปผันนรูป ๑๘ คือ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ หรือวิสยรูป ๗ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ รวมเป็นนิปผันนรูป ๑๘

อนิปผันนรูป ๑๐ คือ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔ รวมเป็นอนิปผันนรูป ๑๐

รูป ๒๘ นั้น จำแนกเป็นประเภทเล็ก ได้ ๑๑ ประเภท คือ

มหาภูตรูป ๔ คือ ปถวี อาโป เตโช วาโย

ปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท

วิสยรูป ๗ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ ปถวีโผฏฐัพพารมณ์ เตโชโผฏฐัพพารมณ์ วาโยโผฏฐัพพารมณ์

[โคจรรูป ๔ คือ วัณณะ สัททะ คันธะ รสะ]

ภาวรูป ๒ คือ อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ

หทยรูป ๑ คือ หทยวัตถุ

ชีวิตรูป ๑ คือ ชีวิตินทรีย์

อาหารรูป ๑ คือ กพฬีการาหาร

ปริจเฉทรูป ๑ คือ อากาศธาตุ

วิญญัติรูป ๒ คือ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ

วิการรูป ๓ [หรือ ๕] คือ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา [และกายวิญญัติ วจีวิญญัติ]

ลักขณรูป ๔ คือ อุปจยะ สันตติ ชรตา อนิจจตา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |