| |
ความหมายของอาหารรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๑๒ ท่านได้แสดงความหมายของอาหารรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า กพฬะ หมายถึง สิ่งที่ทำให้เป็นคำ ๆ

คำว่า อาหาร หมายถึง สิ่งที่ถูกกลืนกิน

คำว่า กพฬีการาหาร หมายถึง อาหารที่ทำให้เป็นคำ ๆ และกลืนกินได้ คือ อาหารที่พร้อมจะกลืนกินได้

อีกนัยหนึ่ง

คำว่า อาหาร หมายถึง สารอาหารที่รักษาอัตภาพ กล่าวคือ ทำให้อัตภาพของเหล่าสัตว์ผู้บริโภคอาหารที่ทำเป็นคำ ๆ เข้าไปแล้วสามารถมีชีวิตอยู่ได้

คำว่า กพฬีการาหาร หมายถึง สารอาหารในคำข้าวมีของหวานและของคาวเป็นต้น โดยอาศัยเกิดและนับเนื่องในคำข้าว เมื่อมีความหมายดังนี้ จึงหมายถึงสารอาหารที่แยกจากคำข้าว [ซึ่งผ่านการย่อยสลายแล้ว]

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว กพฬีการาหารจึงมีความหมาย ๒ ประการคือ

๑. อาหารที่ทำให้เป็นคำ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “กพฬีกาโร จ โส อาหาโร จาติ กพฬีการาหาโร” แปลความว่า อาหารที่ทำให้เป็นคำด้วย เป็นสิ่งที่กลืนกินได้ด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า กพฬีการาหาร หมายถึง อาหารที่ทำให้เป็นคำและสามารถกลืนกินได้

๒. สารอาหารในคำข้าว ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “กพฬีกาเร อาหาโร กพฬีการาหาโร” แปลความว่า อาหารที่กลืนกินได้ ซึ่งมีอยู่ในคำข้าว ชื่อว่า กพฬีการาหาร หมายถึง สารอาหารที่อยู่ในคำข้าวซึ่งสามารถกลืนกินได้

ส่วนองค์รวมนั้น อาหารรูปในที่นี้ หมายถึง สารอาหารที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เป็นส่วนสำคัญที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ก่อให้เกิดแรงอุปถัมภ์

ในประโยคที่ว่า “สารอาหารที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่” นั้นหมายความว่า อาหารที่กลืนกินเข้าไปแล้วตั้งอยู่ในกระเพาะ และถูกไฟธาตุย่อยอาหารแบ่งออกเป็น ๕ ส่วนรุ.๓๑๓ โดยความเป็นสารอาหารเป็นต้น

ส่วนที่ละเอียดอ่อนและประณีต ชื่อว่า สารอาหาร มีชื่อเรียกทางคัมภีร์สันสกฤตว่า รสธาตุ สารอาหารนั้นได้แผ่ขึ้นมาจากกระเพาะอาหารด้วยแรงไฟธาตุที่ย่อยอาหาร แล้วแผ่ซ่านไปตลอดอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายทุกส่วนทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างตามเส้นเอ็นที่นำสารอาหารไป ข้าพเจ้า [พระฎีกาจารย์] จึงกล่าวว่า “แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่

คำว่า “ก่อให้เกิดแรงอุปถัมภ์” หมายถึง สารอาหารที่เป็นส่วนสำคัญซึ่งก่อให้เกิดแรงอุปถัมภ์ ความจริงแล้ว สารอาหารเมื่อดำรงอยู่ในกระเพาะอาหารแล้ว ย่อมก่อให้เกิดแรงอุปถัมภ์แก่มหาภูตรูปภายในร่างกายทั้งหมด

ในคัมภีร์วิภาวินี มีคำแสดงว่า “องฺคมงฺคานุสาริรสหรสงฺขาตา” แปลความว่า “กล่าวคือการแผ่ซ่านไปแห่งรสที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่” คำนั้นดูไม่ถูกต้องนักรุ.๓๑๔

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๑๕ ท่านได้แสดงความหมายของอาหารรูปไว้ดังต่อไปนี้

สภาพที่ชื่อว่า กวฬิงการาหาร เพราะอรรถว่า อันบุคคลทำให้เป็นคำแล้วจึงกลืนกิน ก็คำว่า กวฬิงการาหาร นี้ท่านอาจารย์กล่าวไว้ เพื่อจะแสดงอาหารที่ทำให้เป็นไปกับด้วยของอันเป็นที่อยู่แห่งโอชะ แต่โอชะอันเป็นยางแห่งอาหารที่จะพึงกลืนกิน กล่าวคือ ความแล่นไปแห่งรสที่แล่นไปทั่วอวัยวะทั้งสิ้น เป็นเหตุอุดหนุนร่างกายทั้งอินทรีย์ ชื่อว่า อาหารรูป ในอธิการแห่งอาหารรูปนี้ จริงอย่างนั้น อาหารรูปนี้ มีความเป็นเหตุอุดหนุนร่างกายทั้งอินทรีย์เป็นลักษณะบ้าง มีการนำรูปมีโอชะเป็นที่ ๘ มา เป็นลักษณะบ้าง

บทสรุปของผู้เขียน :

อาหารรูป หมายถึง กพฬีการาหาร คือ อาหารที่พึงกลืนกินเข้าไปเป็นคำ ๆ มีข้าว น้ำ นม ผลไม้ พืช ผัก เป็นต้น ตัวอาหารรูป ก็คือ โอชา ได้แก่ สารอาหารที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ เหล่านั้นนั้นเอง

โอชารูปนี้ เมื่อเข้าไปสู่ร่างกายของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ย่อมทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อบุคคลบริโภคอาหารเข้าไปแล้ว ปาจกเตโชธาตุ ย่อมทำการย่อยอาหาร คั้นเอาแต่โอชาไปบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกาย ทำให้ร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย มีกำลังและเจริญเติบโตขึ้นได้ ทำให้ร่างกายสมบูรณ์ มีชีวิตอยู่ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |