| |
กายวิญญัติรูป   |  

ความหมายของกายวิญญัติรูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๕๗ ท่านได้แสดงความหมายของกายวิญญัติรูปไว้ ดังต่อไปนี้

กายวิญญัติรูป หมายถึง รูปที่ทำให้คนอื่นผู้ดำรงอยู่ต่อหน้ารับรู้ตนและความมุ่งหมายของผู้มีรูปร่างได้ กล่าวคือ แสดงให้ปรากฏทางร่างกายที่เคลื่อนไหว ทั้งยังถูกคนอื่นรับรู้ได้ทางร่างกายดังกล่าวแล้ว

อีกนัยหนึ่ง กายวิญญัติ หมายถึง วิญญัติที่เป็นไปทางร่างกายอันเป็นอวัยวะน้อยใหญ่มีรูปร่างสัณฐาน

อีกนัยหนึ่ง กายวิญญัติ หมายถึง วิญญัติที่เป็นร่างกาย กล่าวคือ ร่างกายที่เคลื่อนไหว

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว กายวิญญัติจึงมีความหมาย ๓ ประการคือ

๑. รูปที่ทำให้คนอื่นรับรู้ทางร่างกาย ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วิญฺาเปตีติ วิญฺตฺติ” หรือ “วิญฺายตีติ วิญฺตฺติ, กายงฺเคน วิญฺตฺติ กายวิญฺตฺติ” แปลความว่า รูปใดย่อมยังรูปอื่นให้เคลื่อนไหว เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า วิญญัติรูป หรือรูปใดย่อมเคลื่อนไหว เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า วิญญัติรูป, การเคลื่อนไหวด้วยอวัยวะทางกาย ชื่อว่า กายวิญญัติรูป

๒. วิญญัติที่เป็นไปทางร่างกาย ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “กาเย ปวตฺตา วิญฺตฺติ กายวิญฺตฺติ” แปลความว่า การเคลื่อนไหวที่เป็นไปทางกาย ชื่อว่า กายวิญญัติ

๓. วิญญัติที่เป็นร่างกาย ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “กาโย เอว วิญฺตฺติ กายวิญฺตฺติ” แปลความว่า กายนั่นแหละ เป็นวิญญัติ จึงชื่อว่า กายวิญญัติ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๕๘ ท่านได้แสดงความหมายของกายวิญญัติรูปไว้สั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ธรรมชาติที่ชื่อว่า กายวิญญัติ เพราะอรรถว่า ยังบุคคลอื่นให้รู้ความประสงค์ด้วยกายที่เคลื่อนไหวอยู่ และตนเองก็รู้ด้วยกายที่เคลื่อนไหวอยู่นั้นด้วย

บทสรุปของผู้เขียน :

กายวิญญัติรูป เป็นรูปที่แสดงอาการพิเศษที่ทำให้รู้ความประสงค์ทางกาย คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย หมายความว่า การที่บุคคลจะสามารถรู้ถึงความประสงค์หรือความมุ่งหมายภายในจิตใจของบุคคลนั้น ๆ ได้ ทางหนึ่งก็ด้วยการสังเกตปฏิกิริยาทางร่างกายที่แสดงออกมา เช่น การกวักมือ เป็นการแสดงให้รู้ว่า เรียกให้เข้าไปหา หรือโบกมือไปข้างหน้า เป็นการแสดงให้รู้ว่า เป็นการไล่ให้ออกไป โบกมือไปมา เป็นการแสดงให้รู้ว่าเป็นการจากลา ดังนี้เป็นต้น ซึ่งกิริยาที่บุคคลแสดงออกมาให้รู้ถึงความประสงค์โดยเฉพาะของตน ๆ นี้ เป็นกิริยาที่พิเศษออกไปจากอาการปกติโดยทั่วไป เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้โดยมากเป็นไปตามปกติของคนหรือของสัตว์ที่มีขันธ์ ๕ ย่อมแสดงกันอยู่ตามปกติ โดยไม่ต้องการให้บุคคลอื่นรู้ความประสงค์พิเศษของตน

วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของกายวิญญัติรูป

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๕๙. ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของกายวิญญัติรูปไว้ ดังต่อไปนี้

กายวิญญัติรูป หมายถึง อาการพิเศษที่ทำให้รู้ความประสงค์ได้ด้วยการเคลื่อนไหวกาย ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “กาเยน วิญฺตฺติ = กายวิญฺตฺติ” แปลความว่า อาการพิเศษที่ทำให้รู้ความประสงค์ได้ด้วยการเคลื่อนไหวกาย เพราะเหตุนั้น อาการพิเศษ คือ การเคลื่อนไหวกายนั้น ชื่อว่า กายวิญญัติ

คุณสมบัติพิเศษของกายวิญญัติรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๓๖๐ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของกายวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

๑. วิญฺาปนลกฺขณา มีการแสดงให้รู้ซึ่งเครื่องหมายด้วยการไหวกาย เป็นลักษณะ

๒. อธิปฺปายปกาสนรสา มีการประกาศเครื่องหมายให้รู้ความประสงค์ เป็นกิจ

๓. กายวิปฺผนฺทนเหตุภาวปจฺจุปฏฺานา มีความเป็นเหตุแห่งการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นผลปรากฏ

๔. จิตฺตสมุฏฺานวาโยธาตุปทฏฺานา มีวาโยธาตุอันเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากลักษณะพิเศษทั้ง ๔ ประการของกายวิญญัติรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนจักอธิบายขยายความหมายเพิ่มเติ่มเพื่อความเข้าใจรายละเอียดของคุณสมบัติแต่ละอย่างเหล่านั้นให้ยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

๑. วิญฺาปนลกฺขณา มีการแสดงให้รู้ซึ่งเครื่องหมายด้วยการไหวกาย เป็นลักษณะ หมายความว่า กายวิญญัติรูปนี้ เป็นรูปที่แสดงให้รู้ถึงเครื่องหมายของตนด้วยการเคลื่อนไหวกายเป็นลักษณะอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตน นี้เป็นการแสดงโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อมเท่านั้น เพราะสภาพแห่งกายวิญญัติรูปนี้ เป็นรูปธรรมที่ไม่มีสภาวะเป็นของตนเองอยู่โดยเฉพาะ เป็นเพียงอาการไหวของนิปผันนรูปเท่านั้น หรือจะพูดให้เข้าใจง่าย ก็คือ เป็นอาการไหวหรืออาการเคลื่อนไหวของร่างกายสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจจิตที่มีความประสงค์จะไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดนั่นเอง และกายวิญญัติรูปนี้เป็นรูปธรรมซึ่งมีสภาพเป็นอัพยากตธรรมคือไม่มีความขวนขวายเพื่อจะแสดงความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง และเป็นอจิตตกะ คือ ไม่มีเจตนาที่จะจงใจหรือกระตุ้นเตือนให้เกิดการแสดงปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาด้วยตนเองได้ อาการไหวหรืออาการเคลื่อนไหวของกายนี้ ย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยอำนาจของจิตที่เป็นผู้มีความประสงค์จะไหวหรือเคลื่อนไหวร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการไหวตัวของร่างกายนั้นออกมาเท่านั้น กายวิญญัติรูปนี้ จึงเป็นรูปที่เกิดด้วยอำนาจของจิตอย่างเดียว เรียกว่า จิตตชรูป เพราะฉะนั้น บุคคลที่ไม่มีจิต ย่อมไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ได้แก่ อสัญญสัตตพรหม คือ พรหมที่ไม่มีจิตเกิด มีแต่รูปเกิดอย่างเดียว จึงไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้ และไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปสู่สถานที่ใด ๆ ได้เลย เกิดอยู่ในที่ใดและในอิริยาบถใด ย่อมดำรงอยู่ในสถานที่นั้นและอิริยาบถนั้นตลอดไป จนกว่าจะสิ้นอายุขัยตายไปเกิดในภพภูมิอื่น [กามสุคติภูมิ ๗] ต่อไป ส่วนบุคคลผู้ไม่มีรูปร่างกาย ได้แก่ อรูปพรหมทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถไหวหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า บุคคลที่จะสามารถไหวกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้และเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดไปสู่สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งได้ด้วยตนเอง ต้องมีทั้งรูปธรรมและนามธรรมอย่างสมดุลกัน ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ๒๖ คือ อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ และรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑] เท่านั้นนั่นเอง

๒. อธิปฺปายปกาสนรสา มีการประกาศเครื่องหมายให้รู้ความประสงค์ เป็นกิจ หมายความว่า กายวิญญัติรูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำหน้าที่ในการประกาศเครื่องหมายให้รู้ความประสงค์ของตนว่า บุคคลนั้นมีความประสงค์อย่างไร ด้วยการทำให้กายส่วนใดส่วนหนึ่งไหวหรือทำให้ร่างกายทั้งหมดเคลื่อนไหวไปจากสถานที่นั้น ๆ ไปสู่สถานที่อื่นได้ นี้เป็นการแสดงโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม เพราะกายวิญญัติรูปนี้มีสภาพเป็นอัพยากตธรรมและเป็นอจิตตกะดังกล่าวแล้ว และเป็นเพียงอาการไหวหรืออาการเคลื่อนไหวของร่างกายเท่านั้น ไม่มีสภาวะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น กายวิญญัติรูปนี้ย่อมไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาใด ๆ ด้วยตนเองได้ ต้องอาศัยจิตอันเป็นสมุฏฐานเป็นตัวกระตุ้นร่างกายอันเป็นนิปผันนรูปที่มีความสมดุลกันให้เกิดการไหวตัวหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ ถ้าไม่มีจิตและไม่มีรูปร่างกายที่เป็นนิปผันนรูปที่มีความสมดุลกันแล้ว กายวิญญัติรูปนี้ย่อมไม่สามารถไหวหรือเคลื่อนไหวได้เลย ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของกายวิญญัติรูปดังกล่าวนี้ เป็นหน้าที่อันสำเร็จมาแต่คุณสมบัติ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส เท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ที่มีความขวนขวายที่จะกระทำ ที่เรียกว่า กิจจรส แต่ประการใด

๓. กายวิปฺผนฺทนเหตุภาวปจฺจุปฏฺานา มีความเป็นเหตุแห่งการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นผลปรากฏ หมายความว่า ผลปรากฏอันสำเร็จมาจากหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส ของกายวิญญัติรูปนี้ ก็คือ อาการไหวตัวของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งหรืออาการเคลื่อนไหวจากสถานที่หนึ่งไปสู่สถานที่อีกแห่งหนึ่งของร่างกายทั้งหมดได้นั่นเอง อันมีจิตเป็นตัวกระตุ้นและมีรูปร่างกายที่เป็นนิปผันนรูปเป็นฐานให้ปรากฏ ดังกล่าวแล้ว

๔. จิตฺตสมุฏฺานวาโยธาตุปทฏฺานา มีวาโยธาตุอันเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า กายวิญญัติรูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นได้ จะต้องมีวาโยธาตุ คือ ธาตุลมที่รวมอยู่เป็นองค์ประกอบในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีจิตเป็นตัวกระตุ้นให้วาโยธาตุนั้นเกิดการไหวตัว และมีนิปผันนรูปอันเป็นรูปร่างกายที่มีความสมดุลพร้อมที่จะเคลื่อนไหวได้เป็นฐานในการแสดงอาการของกายวิญญัติรูปนี้ ถ้าขาดปัจจัยเหล่านี้แล้ว กายวิญญัติรูปนี้ย่อมไม่สามารถปรากฏเกิดขึ้นได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |