| |
โอชา มี ๒ อย่าง   |  

อาหารรูปย่อมมีอยู่ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลายที่มีรูปร่างกาย เช่นเดียวกันกับอุตุชรูป เพราะฉะนั้น จึงแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ อาหารภายใน เรียกว่า อัชฌัตตโอชา และอาหารภายนอก เรียกว่า พหิทธโอชา

๑. อัชฌัตตโอชา คือ โอชาที่มีอยู่ภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย หรือมีอยู่ในตัวของสัตว์ทั้งหลาย เป็นโอชาที่เกิดจากกรรมที่ทำให้รูปร่างกายของสัตว์นั้นเกิดขึ้นมา จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กัมมชโอชา ซึ่งได้แก่ อาหารธาตุที่เกิดมีประจำอยู่ภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายติดตัวมาแต่กำเนิด อันสามารถจะรองรับสารอาหารจากภายนอกเข้าไปได้ อนึ่ง แม้พหิทธโอชา คือ อาหารจากภายนอก ที่สัตว์บริโภคเข้าไปแล้ว และได้ผ่านการย่อยสลายด้วยปาจกเตโชธาตุเสร็จเรียบร้อย แล้วซึมซาบไปหล่อเลี้ยงร่างกายของสัตว์อยู่ ย่อมแปรสภาพเป็นอัชฌัตตโอชาด้วยเหมือนกัน ปาจกเตโช คือ ไฟธาตุที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฟธาตุที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น อาหารรูปภายใน ที่ชื่อว่า อัชฌัตตโอชา จึงได้แก่ กัมมชโอชา คือ โอชารูปที่อยู่ในกลุ่มกัมมชรูปนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ สัตว์แต่ละประเภทจึงมีชนิดของอาหารในการบริโภคที่แตกต่างกันออกไป หรือสามารถบริโภคอาหารเข้าไปได้แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละบุคคลที่อยู่ในแต่ละสังคม แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ แต่ละเขตซีกโลก ตลอดถึงแต่ละทวีป แม้สัตว์ทั้งหลายแต่ละชนิดก็มีอาหารที่บริโภคแตกต่างกันออกไปด้วย กล่าวคือ สัตว์บางประเภทกินพืชเป็นอาหาร สัตว์บางประเภทกินเนื้อเป็นอาหาร สัตว์บางประเภทก็กินได้ทั้งพืชและเนื้อสัตว์เป็นอาหาร เป็นต้น

๒. พหิทธโอชา คือ โอชาที่อยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย กล่าวคือ อยู่ในสิ่งต่าง ๆ ทั้งพืชและอวัยวะน้อยใหญ่ของสัตว์ทั้งหลาย [อวัยวะของสัตว์ทั้งหลายแม้จะเกิดจากสมุฏฐานต่าง ๆ มีกัมมสมุฏฐานเป็นต้นก็ตาม แต่เมื่อสัตว์อื่นกลืนกินเข้าไปแล้วหรือสัตว์นั้นตายลงแล้ว ย่อมมีสภาพเป็นอุตุชรูปเท่านั้น] ตลอดทั้งในดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ขนม เครื่องดื่ม และในยาชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ที่เกิดอยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย หรือในสรรพสิ่งที่มีอยู่ในสิ่งไม่มีชีวิตทั้งปวง ซึ่งสัตว์แต่ละประเภทสามารถดื่มกินเข้าไปหรือฉีดเข้าไปสู่ร่างกายได้ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นโอชาที่เกิดจากอุณหภูมิต่าง ๆ ทั้งสิ้น อันได้แก่ ความร้อน ความเย็น และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เพราะฉะนั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุตุชโอชา อันเป็นโอชารูปที่อยู่ในอวินิพโภครูป ๘ ที่อยู่ในอาหารประเภทต่าง ๆ ก่อนที่จะได้รับการย่อยสลายจากปาจกเตโชธาตุภายในร่างกายของสัตว์นั้น ๆ นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |