| |
วิจิกิจฉา ๘ ประการ   |  

วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่เด็ดขาดในเมื่อปรารภถึงสิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร อันเป็นทางดำเนินไปสู่ความดีงาม หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แต่เพราะบุคคลนั้นขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดความลังเลสงสัยในวัตถุ ๘ ประการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง กล่าวคือ

๑. พุทเธ กังขติ ความสงสัยในคุณของพระพุทธเจ้า หมายความว่า เป็นผู้ที่ยังไม่มั่นใจในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์จะมีจริงหรือไม่ พระองค์จะได้ตรัสรู้ธรรมทั้งปวงจริงหรือเปล่า หรือสงสัยในพระพุทธคุณทั้งหลาย ได้แก่ พุทธคุณ ๙ ประการ คือ

๑] อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งปวง เพราะหักกำแห่งกิเลส ตัดวงล้อแห่งสังสารวัฏฏ์ได้แล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีกิเลสไหน ๆ มาพัวพันในพระทัยของพระองค์อีกต่อไป

๒] สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง คือ ตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวง ด้วยอำนาจพระสัพพัญญุตญาณ ทำให้พระองค์ทรงรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก มารโลก อบายภูมิทั้งปวง ตลอดอนันตจักรวาลไม่มีสิ้นสุด

๓] วิชชาจะระณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ๘ และจรณะ ๑๕ ทำให้พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระปัญญาอันรู้ยิ่ง และพระจริยาวัตรอันงดงาม หาบุคคลเปรียบปานมิได้ ทำให้ทรงอาจหาญด้วยเวสารัชชญาณ ๔ ที่ทำให้พระองค์ทรงมีความแกล้วกล้า อันใคร ๆ ไม่สามารถมาทักท้วงว่า พระองค์ไม่ใช่สัพพัญญุตญาณ อย่างแท้จริง คือ

[๑] สัมมาสัมพุทธปฏิญญา บุคคลที่จะกล่าวคัดค้านพระองค์ว่า ท่านปฏิญญาว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่รู้เลย ดังนี้ไม่มี

[๒] ขีณาสวปฏิญญา บุคคลที่จะกล่าวคัดค้านพระองค์ว่า ท่านปฏิญญาว่า เป็นพระขีณาสพ แต่ว่า อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้นไป ดังนี้ ไม่มี

[๓] อันตรายิกธัมมวาทะ บุคคลที่จะกล่าวคัดค้านพระองค์ว่า ท่านกล่าวธรรมใดว่าเป็นเครื่องทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพ แต่ธรรมเหล่านั้น ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้อย่างแท้จริง ดังนี้ ไม่มี

[๔] นิยยานิกธัมมเทสนา บุคคลที่จะกล่าวคัดค้านพระองค์ว่า ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด แต่ธรรมนั้นไม่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ดังนี้ ไม่มี

เวสารัชชญาณ ๔ นี้ เป็นพระปรีชาญาณอันเป็นคุณสมบัติพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พระองค์ทรงแกล้วกล้าในการประกาศตนท่ามกลางประชุมชนและสังคมโลกว่า พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูอย่างแท้จริง เพราะไม่ทรงเล็งเห็นใครคนใดคนหนึ่งที่จะคัดค้านพระองค์โดยเหตุผลที่เป็นจริงได้ว่า พระองค์ไม่ทรงเป็นสัพพัญญูอย่างแท้จริงเลย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยเวสารัชชกรณธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงได้บรรลุถึงเวสารัชชญาณ มี ๕ ประการ คือ

[๑] สัทธาสัมปทา พระองค์ทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธาในหนทางแห่งสัมมาสัมโพธิญาณอย่างไม่หวั่นไหว มุ่งมั่นในการบำเพ็ญบารมีจนได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

[๒] สีลสัมปทา พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยอธิศีล อันยิ่งยวด ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้

[๓] พาหุสัจจสัมปทา พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพาหุสัจจะ คือ ความรอบรู้ในสรรพสิ่งอย่างทั่วถึงและถูกต้อง ไม่มีสิ่งใดขวางกั้น จนได้นามว่า พระสัพพัญญู

[๔] วิริยารัมภสัมปทา พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นในการชำระสันดานของพระองค์ให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสและวาสนาทั้งปวง แล้วจาริกแสดงธรรมโปรดสัตว์ให้ได้ตรัสรู้ตาม โดยไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก

[๕] ปัญญาสัมปทา พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระอธิปัญญาอันยิ่งใหญ่ ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ จนได้รับพระสมญานามว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้า

๔] สุคะโต เป็นผู้เสด็จไปแล้วด้วยดี คือ เสด็จไปสู่ความประเสริฐ อันได้แก่ พระอมตมหานิพพาน อันไม่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ไม่มีกิเลสและกองทุกข์ใด ๆ เจือปน เป็นความสุขอันประณีตเยือกเย็น เป็นสันติภาพอย่างแท้จริง อนึ่ง พระองค์เสด็จไป ณ สถานที่ใด ก็เป็นสิริมงคลแก่สถานที่นั้น ทำให้มนุษย์และเทวดา ตลอดถึงเหล่าสัตว์ทั้งปวง ได้รับประโยชน์จากการเสด็จไปของพระองค์แต่ละครั้ง เหมือนกับการนำขุมทรัพย์ไปประทานให้

๕] โลกะวิทู ทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ

[๑] สังขารโลก โลกคือสังขาร อันเป็นสรรพสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง

[๒] โอกาสโลก โลกคือแผ่นดินอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์โลก มารโลก เทวโลก พรหมโลก และภพภูมิต่าง ๆ ใน ๓๑ ภูมิ

[๓] สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ทั้งปวงที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์

พระองค์ทรงทราบโลกทั้งปวงว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร มีความเป็นไปอย่างไร และจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

๖] อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ ทรงเป็นสารถีผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีศาสดาใดเสมอเหมือน ด้วยเครื่องฝึกคือธรรมอาชญา ทำให้บุคคลผู้ได้รับการฝึกฝนนั้น เข้าถึงความประเสริฐ เจริญรอยตามพระองค์ เป็นพระอริยสาวก ๔ คู่ ๘ บุคคล

๗] สัตถา เทวะมะนุสสานัง ทรงเป็นศาสดาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์มิใช่จะทรงสั่งสอนแต่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่เทวดา มาร และพรหมทั้งหลาย ตลอดถึงเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ก็ได้รับประโยชน์จากพระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ด้วย ตามสมควรแก่อุปนิสัยของตน พระองค์จึงทรงเป็นครูผู้วิเศษ ที่สามารถสั่งสอนให้สำเร็จประโยชน์ได้ทั้ง ๓ ประการ กล่าวคือ

[๑] ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในโลกปัจจุบัน

[๒] สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ในโลกหน้า หรือ ภายภาคหน้า

[๓] ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ซึ่งไม่มีศาสดาใดเสมอเหมือนได้

๘] พุทโธ ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม พระองค์ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ทรงรู้ทุกสิ่งตามความเป็นจริง ทรงดำเนินชีวิตด้วยพระปัญญานั้น โดยไม่หลับใหลด้วยอำนาจกิเลสเหมือนดังสัตว์ทั้งหลาย ทรงปลอดโปร่งโล่งพระทัยและเป็นอิสระแก่ตนเอง เพราะไม่มีอวิชชามาปิดกั้นไว้ให้มืดมิดอีกต่อไป

๙] ภะคะวา ทรงเป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ได้อย่างถูกต้องตามอุปนิสัยที่สั่งสมมา ดุจหมอผู้วิเศษ สามารถวางยาให้เหมาะกับโรคได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีผลเสียข้างเคียงเกิดขึ้นในภายหลัง ฉะนั้น บุคคลที่พระองค์แสดงธรรมโปรด จึงสามารถหายขาดจากโรค คือ กิเลสทั้งปวง ที่เสียดแทงมาหลายภพชาติ กลายเป็นบุคคลผู้ไม่มีโรคคือกิเลสเสียดแทงอีกต่อไป อนึ่ง พระองค์ทรงได้พระนามว่า ภควา แปลว่า ทรงเป็นผู้มีโชคลาภ กล่าวคือ

[๑] โชคลาภในชาติกำเนิด ทรงเกิดเป็นพระโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาผู้มีบุญญาธิการได้สั่งสมมาดีแล้ว เป็นองค์รัชทายาทแห่งนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระรูปสมบัติอันงดงาม สมบูรณ์ด้วยความสุขนานัปปการ ยากที่จะหาบุคคลเสมอเหมือน ทรงเพียบพร้อมด้วยศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ในโลกถึง ๑๘ ศาสตร์สาขา

[๒] โชคลาภในทางธรรม ทรงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ไม่มีสมบัติใด ๆ ที่จะเทียมเท่าได้

[๓] โชคลาภในทางบริวาร ทรงมีพระสาวกที่สมบูรณ์ด้วยศีลาทิคุณห้อมล้อมช่วยเหลือในกิจการพระศาสนาให้แผ่ไพศาลทั่วชมพูทวีป

พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการดังกล่าวมานี้เมื่อสรุปย่อลงแล้ว มี ๓ ประการคือ

๑] พระบริสุทธิคุณ หมายความว่า พระองค์ทรงชำระสะสางพระอุปนิสัยสันดานของพระองค์เองให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสและเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง

๒] พระปัญญาคุณ หมายความว่า พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันไม่มีใครสามารถจะรู้เทียมเท่าได้

๓] พระมหากรุณาธิคุณ หมายความว่า พระองค์ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระกรุณาอันยิ่งในสรรพสัตว์ ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ออกจากสังสารทุกข์ทั้งปวง ทรงหวังประโยชน์ ๓ ประการแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยไม่เลือกชาติชั้นวรรณะแต่อย่างใด

ในพระพุทธคุณทั้งปวงที่กล่าวมาโดยย่อนี้ ถ้าบุคคลที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ก็ทำให้ไม่มั่นใจในพระองค์ท่านได้ จึงเกิดความลังเลใจสงสัยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงมีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงคนอุปโลกน์ขึ้น เพื่อหลอกให้คนเกิดความศรัทธาเชื่อถือเท่านั้น โดยไร้ความจริง

๒. ธัมเม กังขติ ความสงสัยในคุณของพระธรรม หมายความว่า บุคคลที่ยังไม่เชื่อมั่นในพระสัทธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นสวากขาตธรรม ๑๐ได้แก่ พระปริยัติธรรมคือพระไตรปิฏก ๑ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ หรือย่อลงเป็น ๓ คือ พระปริยัติสัทธรรม ๑ พระปฏิบัติสัทธรรม ๑ พระปฏิเวธสัทธรรม ๑ ว่าธรรมเหล่านี้จะเป็นตามที่ปรากฏอยู่ทั่วไปจริงหรือไม่ หรือว่ามีคนหัวโจก อุปโลกน์แต่งขึ้นเพื่อหลอกให้คนเชื่อถือศรัทธา แล้วประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสงสัยว่า พระปริยัติสัทธรรมจะสามารถเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องได้หรือไม่ พระปฏิบัติสัทธรรม จะเป็นหนทางให้ถึงความดับทุกข์ได้จริงหรือไม่ หรือพระปฏิเวธสัทธรรม คือ การบรรลุมรรค ผล จะมีจริงหรือไม่

๓. สังเฆ กังขติ ความสงสัยในคุณของพระสงฆ์ หมายความว่า บุคคลที่ยังไม่เชื่อมั่นในพระสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเกิดความสงสัยว่า พระสงฆ์สาวกจะเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมแล้ว เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ดังที่สวดพรรณนากันนั้นจะมีจริงเป็นจริงหรือไม่ เพราะสัตว์โลกทั้งปวงเต็มไปด้วยกองกิเลสกลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ เต็มไปด้วยมายา ความหลอกลวง จะมีผู้ฝึกหัดปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากกิเลสเหล่านี้ได้จริงหรือ หรือว่าเป็นแต่เพียงอุปโลกน์ตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกให้คนเคารพเชื่อถือ เพื่อหวังผลประโยชน์บางประการเท่านั้น

๔. สิกขาย กังขติ ความสงสัยในเรื่องไตรสิกขา หมายความว่า บุคคลที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในหลักของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ย่อมเกิดความสงสัยว่า ไตรสิกขาที่กล่าวถึงหรือที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ จะเป็นแนวทางให้ถึงความดับทุกข์ บรรลุถึงพระนิพพาน บริสุทธิ์หมดจดจากกองกิเลสได้จริงหรือไม่ หรือว่า ยังมีแนวทางอื่นอยู่อีก ดังนี้เป็นต้น

๕. ปุพพันเต กังขติ ความสงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่ล่วงไปแล้ว หมาย ความว่า บุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอดีตชาติของตนเองและของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเคยเกิดมาแล้วนับภพนับชาติไม่ถ้วน มีอัตภาพที่แตกต่างออกไปมากมาย เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานบ้าง เพราะอำนาจแห่งอกุศลกรรม หรือมีอัตภาพ เป็นมนุษย์ เทวดา หรือพรหมบ้าง เพราะอำนาจแห่งกุศลกรรมแต่ละอย่าง แต่เพราะมีความเห็นว่า มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเกิดมาจากพ่อแม่ มีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่ทำให้เกิด ไม่เห็นมีใครรู้ว่าตนเองเกิดมาจากไหน จากภพภูมิใด จึงทำให้เกิดความสงสัยในความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ในอดีตที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากระลึกชาติไม่ได้ หรือขาดสติปัญญาในการพิจารณาเหตุผลในความวนเวียนแห่งวัฏฏจักร จึงทำให้เกิดความสงสัยในอัตภาพที่เกิดแล้วในอดีต

๖. อปรันเต กังขติ ความสงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุที่เป็นอนาคต หมาย ความว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีความรู้ในความเป็นไปของอนาคตชาติข้างหน้าทั้งของตนเองและของสัตว์ทั้งหลายว่าจะต้องเกิดอีก เพราะยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปได้ อัตภาพที่จะปรากฏเกิดขึ้นในภพชาติหน้าเมื่อตายไปแล้ว ย่อมมีอีกแน่นอน แต่เพราะมีความคิดความเห็นว่า อัตภาพร่างกายเกิดจากพ่อแม่ พ่อแม่ทำให้เกิดขึ้นมา เมื่อตายแล้ว ก็เอาไปเผาไฟ หรือฝังดินสูญสลายไปกลายเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟไม่เห็นมีใครกลับมาบอกว่าไปเกิดที่ไหนเลย ดังนี้เป็นต้น เพราะไม่มีอนาคตังสญาณ คือ ความรู้เหตุในอนาคต หรือขาดสติปัญญาในการพิจารณาเหตุผลในความวนเวียนแห่งวัฏฏจักร ทำให้ไม่มีความมั่นใจในเรื่องภพภูมิข้างหน้าว่าจะมีอีกหรือไม่ จึงเกิดความรวนเรลังเลสงสัยในอัตภาพที่จะปรากฏเกิดขึ้นในภพหน้าว่าจะมีอีกหรือเปล่า

๗. ปุพพันตาปรันเต กังขติ ความสงสัยในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเป็นไปของอัตภาพร่างกายที่เป็นอดีต อนาคต และที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างถูกต้อง คือ ไม่รู้ว่าอดีตก็เคยเกิดมาแล้ว และอนาคตข้างหน้าย่อมจะต้องเกิดอีก เนื่องจากยังมีกิเลสอยู่ แม้อัตภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็สืบเนื่องมาจากผลกรรมในอดีตส่งผลมาให้เช่นเดียวกัน ดังนี้เป็นต้น จึงทำให้เกิดความสงสัยไม่มั่นใจในความรู้หรือความเชื่อนั้น

๘. อิทัปปัจจะยะตา ปะฏิจจะสะมุปปันเนสุ ธัมเมสุ กังขะติ ความสงสัยในธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปแห่งสังขารทั้งปวง ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท อย่างแท้จริงว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงได้เกิดมีขึ้น หรือเพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับไปด้วย ดังนี้เป็นต้น เนื่องจากขาดการศึกษาธรรมะที่ถูกต้องและละเอียดลึกซึ้งดีพอ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่

ความสงสัยทั้ง ๘ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้วิจิกิจฉา คือความสงสัยที่จัดเป็นนิวรณ์เกิดขึ้น ขวางกั้นไม่ให้ตัดสินใจเชื่อถือและปฏิบัติตามในหนทางแห่งสุคติและพระนิพพานอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความรวนเรลังเลไม่ตัดสินใจที่จะทำสิ่งนั้น ๆ ลงไปอย่างเด็ดขาด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |