| |
นครูปมกาย ๘ ประการ   |  

ในกิงสุโกปมสูตร สฬายตนสังยุต ได้แสดงถึงรูปร่างกายของพระโยคาวจรที่อุปมาด้วยนคร ๘ ประการรุ.๔๖ คือ

๑. ร่างกายที่เกิดจากมหาภูตรูป ๔ เปรียบเหมือน ตัวนคร

๒. อายตนะภายใน ๖ เปรียบเหมือน ประตู ๖ ด้าน

๓. สติ [ความระลึกได้] เปรียบเหมือน นายประตู

๔. สมถะและวิปัสสนา เปรียบเหมือน ราชทูตคู่หนึ่งมาเยี่ยมเยียน

๕. วิญญาณ [จิต] เปรียบเหมือน เจ้าเมือง

๖. มหาภูตรูป ๔ เปรียบเหมือน ทางสี่แยกกลางเมือง

๗. พระนิพพาน เปรียบเหมือน ถ้อยคำตามความเป็นจริง

๘. อริยมรรคมีองค์ ๘ เปรียบเหมือน ทางที่เดินมาแล้ว

ดังมีเนื้อความที่แสดงไว้ในพระสุตตันตปิฎก อรรถกถา เล่มที่ ๑๐ ว่า

สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภกิงสุโกปมสูตร จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สพฺเพหิ กึสุโก ทิฏฺโ ดังนี้

ได้ยินว่า ภิกษุ ๔ รูปเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลขอกรรมฐาน สมเด็จพระบรมศาสดาทรงบอกกรรมฐานแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นเรียนกรรมฐานแล้วได้เข้าไปสู่ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน

ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งกำหนดผัสสายตนะ ๖ รูปหนึ่งกำหนดขันธ์ ๕ รูปหนึ่งกำหนดมหาภูต ๔ รูปหนึ่งกำหนดธาตุ ๑๘ แล้วต่างก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระตถาคตเจ้าแล้วกราบทูลคุณวิเศษที่ตนได้บรรลุแล้ว ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น รูปหนึ่งได้เกิดความปริวิตกว่า กรรมฐานเหล่านั้นมีข้อแตกต่างกัน แต่นิพพานเป็นอย่างเดียวกัน ภิกษุทั้งหมดบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร จึงกราบทูลถามสมเด็จพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ เธอก็ไม่ต่างกันกับพี่น้อง ๔ คนที่เห็นต้นทองกวาว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงแสดงเหตุนี้แก่ข้าพระองค์เถิด จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์มีพระโอรส ๔ พระองค์ วันหนึ่ง พระโอรสทั้ง ๔ พระองค์ ตรัสเรียกสารถีมาตรัสว่า ดูกรสหาย พวกเราอยากเห็นต้นทองกวาว ท่านจงแสดงต้นทองกวาวมาให้พวกเราดูเถิด

สารถีรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักแสดง แต่ไม่แสดงแก่ราชบุตรทั้ง ๔ พร้อมกัน ให้ราชบุตรองค์หนึ่งประทับนั่งบนรถไปก่อน พาไปในป่าแล้วชี้ให้ดูต้นทองกวาวในเวลาสลัดใบว่า นี้คือต้นทองกวาว อีกองค์หนึ่งให้ดูในเวลาออกใบอ่อน อีกองค์หนึ่งให้ดูในเวลาออกดอก อีกองค์หนึ่งให้ดูในเวลาออกผล

ต่อมา พระราชบุตรทั้ง ๔ พี่น้องประทับนั่งพร้อมหน้ากัน จึงไต่ถามกันขึ้นว่า ชื่อว่าต้นทองกวาวเป็นเช่นไร องค์ที่หนึ่งตรัสว่า เหมือนตอไม้ที่ถูกไหม้ไฟ องค์ที่สองตรัสว่า เหมือนต้นไทร องค์ที่สามตรัสว่า เหมือนชิ้นเนื้อ องค์ที่สี่ตรัสว่า เหมือนต้นซึก ทั้ง ๔ พระองค์ไม่ตกลงตามคำของกันและกัน จึงไปเฝ้าพระบิดา ทูลถามว่า ข้าแต่พระบิดา ชื่อว่าต้นทองกวาวเป็นอย่างไร ? เมื่อพระราชาตรัสว่า พวกเจ้าว่ากันอย่างไรเล่า จึงกราบทูลพระราชบิดาตามที่ถกเถียงกัน พระราชาตรัสว่า พวกเจ้าแม้ทั้ง ๔ ได้เห็นต้นทองกวาวแล้ว เป็นแต่สารถีผู้แสดงต้นทองกวาว พวกเจ้ามิได้ไต่ถามจาระไนออกไปว่า ในกาลนี้ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร ด้วยเหตุนั้น ความสงสัยจึงเกิดขึ้นแก่พวกเจ้า ดังนี้แล้ว จึงตรัสคาถาแรกว่า

เจ้าทุกคนเห็นต้นทองกวาวแล้ว ยังจะสงสัยในต้นทองกวาวนั้น เพราะเหตุไรหนอ เจ้าทั้งหลายหาได้ถามสารถีให้ถี่ถ้วนในที่ทั้งปวงไม่

สมเด็จพระบรมศาสดาครั้นทรงแสดงเหตุนี้แล้วจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุ เหมือนอย่างพระราชบุตรพี่น้องทั้ง ๔ พระองค์เกิดความสงสัยในต้นทองกวาว เพราะมิได้ไต่ถามให้ถ้วนถี่ฉันใด แม้เธอสงสัยเกิดขึ้นในธรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระองค์ตรัสดังนั้นแล้ว ได้ตรัสคาถาที่ ๒ ว่า

บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งปวง เหมือนพระราชบุตร ๔ พระองค์ทรงสงสัยในต้นทองกวาวฉะนั้น

เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า เหมือนอย่างพี่น้องเหล่านั้นสงสัยแล้ว เพราะไม่เห็นต้นทองกวาวทุกฐานะ ฉันใด ธรรมทั้งปวงแยกประเภทเป็นผัสสะ ๖ อายตนะ ขันธ์ ภูต และธาตุ ชนเหล่าใดไม่ได้ให้เกิดด้วยวิปัสสนาญาณทั้งปวง คือ มิได้แทงตลอด เพราะยังไม่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค ชนเหล่านั้นย่อมสงสัยในธรรมมีผัสสะ ๖ และอายตนะ เป็นต้น เหมือนพี่น้องทั้ง ๔ สงสัยในต้นทองกวาวต้นเดียวกันฉันนั้น

สมเด็จพระบรมศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีในครั้งนั้น คือ เราตถาคต นี่เอง ดังนี้แล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |