| |
บัญญัติธรรม ๒ ประการ   |  

บัญญัติ คือ สิ่งที่สมมติกันขึ้น เพื่อใช้สื่อความหมายเป็นเครื่องรับรู้ร่วมกันในหมู่คณะหนึ่ง ๆ ในสังคมนั้น ๆ หรือในลัทธิศาสนานั้น ๆ แบ่งเป็น ๒ ประการ คือ

๑. สัททบัญญัติ หมายถึง เสียง หรือ สำเนียง ที่ใช้กล่าวขานให้รู้และเข้าใจความหมายในสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น คำว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มนุษย์ เทวดา มาร พรหม ชาย หญิง พ่อ แม่ พี่ น้อง ครู อาจารย์ ก ไก่ ข ไข เอ บี ซี ดี เป็นต้น ที่เปล่งออกมาแล้ว สามารถบ่งบอกให้รู้ความหมายของบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของนั้น ๆ ซึ่งเป็นเครื่องสื่อสารทางเสียงให้รับรู้ร่วมกันในสังคมนั้น ๆ หรือประเทศนั้น ๆ

๒. อัตถบัญญัติ หมายถึง ตัวหนังสือ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ บ่งบอกให้รู้ความหมายร่วมกัน เช่น อักษรต่าง ๆ เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสถาบัน ตราประทับ ยี่ห้อ โลโก้ หรือตัวบุคคล เช่น คำว่า พ่อ คือ ผู้ชายที่ให้กำเนิด คำว่า แม่ คือ ผู้หญิงผู้ให้กำเนิด ครู คือ ผู้ให้ความรู้ เป็นต้น

ทั้งสัททบัญญัติก็ดีและอัตถบัญญัติก็ดี ต่างก็มีประโยชน์ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีสัททบัญญัติและอัตถบัญญัติแล้ว การสื่อสารและการประกาศพระศาสนา ย่อมจะเป็นไปโดยลำบาก เพราะบุคคลทั้งหลาย ไม่สามารถที่จะรับรู้สภาวะของปรมัตถธรรมโดยตรงได้อย่างทั่วถึง ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปโดยลำบากและได้ผลน้อยตามไปด้วย แต่เพราะได้อาศัยบัญญัติทั้ง ๒ ประการนี้ จึงทำให้การประกาศพระศาสนานั้นเป็นไปได้โดยสะดวกและมีความแพร่หลายอย่างที่ปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |