| |
อธิบายรูปกลาปทั้ง ๔ สมุฏฐาน   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๖๓๘ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงอธิบายความหมายของรูปกลาปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ ไว้ ดังต่อไปนี้

[กัมมชกลาป]

อวินิพโภครูป หมายถึง กลุ่มรูปที่ไม่สามารถเกิดแยกจากกันได้ ประกอบด้วยรูป ๘ รูป ได้แก่ ปถวี อาโป เตโช วาโย วัณณะ คันธะ รสะ และโอชา ตามนัยแห่งรูปกลาป รูปเหล่านี้จะต้องประกอบเป็นพื้นฐานแห่งองค์กลาปประจำของทุกกลาป จึงเรียกว่า สุทธัฏฐกลาป

กัมมชกลาปทั้ง ๙ ประเภทนั้น เป็นรูปกลาปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน กล่าวคือ กัมมชรูป ๑๗ [เว้นปริจเฉทรูป ๑] นั่นเอง เพราะฉะนั้น กัมมชกลาปทั้ง ๙ เหล่านี้ จึงเกิดได้เฉพาะในสัตว์มีชีวิตเท่านั้น และในบุคคลคนหนึ่งนั้น ย่อมเกิดได้อย่างมากเพียง ๘ กลาป เพราะภาวทสกกลาปทั้ง ๒ จะเกิดพร้อมกันไม่ได้ กล่าวคือ ถ้าเป็นหญิง ก็ต้องเว้น ปุริสภาวทสกกลาปเสีย ถ้าเป็นชาย ก็ต้องเว้นอิตถีภาวทสกกลาปเสีย ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละบุคคลจึงมีกัมมชกลาปได้เพียง ๘ กลาปเท่านั้น ที่กล่าวมานี้มุ่งหมายเอาเฉพาะกัมมชกลาปโดยแท้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายถึงกัมมปัจจยอุตุชกลาป คือ รูปกลาปที่เกิดจากอุตุซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐานด้วยแต่ประการใด

ความหมายของกัมมชรูป กัมมชกลาป กัมมปัจจยอุตุชกลาป

กัมมชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูป] ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ และปริจเฉทรูป ๑

กัมมชกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีรูปที่เป็นองค์ของกลาปจำนวน ๑๗ รูป โดยเว้นปริจเฉทรูป ๑ ออกเสีย เพราะปริจเฉทรูปนั้นไม่นับเป็นองค์ของรูปกลาปทั้งปวง

กัมมปัจจยอุตุชกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เกิดจากอุตุโดยมีอยู่ในกัมมชกลาป เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน เขา งา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุตุชรูปที่เกิดจากกัมมปัจจยอุตุชรูปบ้าง จิตตปัจจยอุตุชรูปบ้าง อุตุปัจจยอุตุชรูปบ้าง อาหารปัจจยอุตุชรูปบ้าง แต่มีกัมมปัจจยอุตุชรูปเป็นประธาน และมีอุตุชรูปอีก ๓ ประเภทเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนในเวลาที่สัตว์นั้น ๆ ตายลง เพราะตามธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อตายลงแล้ว กัมมชรูป จิตตชรูป และอาหารชรูปทั้ง ๓ นี้ ย่อมดับสิ้นไปไม่มีเหลือ คงเหลือแต่อุตุชรูปเท่านั้น อุตุชรูปที่เหลืออยู่นี้แหละ เป็นอุตุชรูป ๔ ประเภท ได้แก่ กัมมปัจจยอุตุชรูป จิตตปัจจยอุตุชรูป อุตุปัจจยอุตุชรูป และอาหารปัจจยอุตุชรูป ย่อมตั้งอยู่ได้ตามสมควร อนึ่ง แม้รูปเหล่านี้จะเกิดขึ้นแก่สัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เป็นกัมมชกลาปโดยแท้ เพราะฉะนั้น กัมมชกลาปที่เกิดอยู่ในบุคคลคนหนึ่งนั้น จึงมีได้อย่างมากเพียง ๘ กลาปดังกล่าวแล้วเท่านั้น

[จิตตชกลาป]

จิตตชกลาปที่แสดงตามนัยแห่งอภิธัมมัตถสังคหะนั้น มีเพียง ๖ กลาป [ดังกล่าวข้างต้น] เท่านั้น ส่วนที่แสดงตามนัยแห่งวิสุทธิมรรคอรรถกถา มี ๘ กลาป โดยเพิ่มอีก ๒ กลาป กล่าวคือ

๑. สัททนวกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และสัททรูป ๑

๒. สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๒ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ วิการรูป ๓

ทั้ง ๒ กลาปนี้ ย่อมเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็ได้

อธิบายความหมายของจิตตชกลาปทั้ง ๘

๑. สุทธัฏฐกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นในขณะที่มิได้มีการเคลื่อนไหวกาย หรือมิได้มีการพูดจาและเปล่งเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ในขณะนั้น บุคคลมีสภาพจิตอ่อนแอ หรือมีอาการป่วยไข้ทางกายอย่างหนัก หรือมีอาการเศร้าโศกเสียใจ เป็นต้น อันทำให้รูปร่างกายและจิตใจไม่เข้มแข็ง ได้แก่ รูปที่เป็นอาการหายใจเข้าออก หรือรูปที่แสดงอาการหน้าซีด หน้าแดง ขนลุกขนพอง ในขณะที่เกิดความกลัว เป็นต้น

๒. สัททนวกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เกิดขึ้นในขณะที่มีเสียงปรากฏขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับการพูด และเกิดขึ้นในขณะที่จิตใจอ่อนแอ ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่เข้มแข็ง เศร้าโศกเสียใจ หรือร่างกายป่วยไข้ไม่เป็นปกติ ได้แก่ เสียงที่เกิดจากการถอนหายใจ เสียงไอ จาม เรอ หาว หรือเสียงคราง เป็นต้น ในขณะที่ไม่สบาย

๓. กายวิญญัตตินวกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เป็นอาการเคลื่อนไหวร่างกาย ในขณะที่ร่างกายและจิตใจไม่เป็นปกติ กล่าวคือ ในขณะที่จิตใจอ่อนแอ หรือร่างกายอ่อนเพลีย ไม่เข้มแข็ง ได้แก่ รูปอิริยาบถต่าง ๆ ในการเดิน ยืน นั่ง นอน คู้ เหยียด เหลียวซ้ายแลขวา เดินหน้า ถอยหลัง เหล่านี้เป็นต้น เป็นไปโดยอาการไม่คล่องแคล่วและไม่มั่นคง

๔. วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เป็นอาการพูด อ่านหนังสือ ร้องเพลง สวดมนต์ เป็นต้น ในขณะที่ร่างกายและจิตใจไม่เป็นปกติ คือ ในเวลานั้น รู้สึกไม่ค่อยสบาย หรือเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย เศร้าโศกเสียใจ ไม่เต็มใจพูด ไม่เต็มใจอ่าน เป็นต้น

๕. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เกิดขึ้นในขณะที่มิได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย มิได้มีการพูดหรือการออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้น จิตใจมีความสบายเป็นปกติ เข้มแข็ง แจ่มใสเบิกบาน หรือมีอาการปีติขนลุกขนพอง เป็นต้น ที่ไม่มีการเปล่งเสียงและไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย

๖. กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เกิดขึ้นโดยมีการเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่จิตใจปลอดโปร่งแจ่มใส เข้มแข็ง จึงทำให้อาการยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น มีความคล่องแคล่วสะดวกสบาย

๗. สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป หมายถึง สัททนวกกลาปนั่นเอง แต่เกิดขึ้นในขณะที่มีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย กล่าวคือ เป็นกลาปรูปที่เกิดขึ้นในเวลาที่จิตใจสบายเข้มแข็ง และร่างกายเป็นปกติแข็งแรง ทำให้เสียงหายใจ เสียงไอ เสียงจาม เสียงหาว เป็นต้นเหล่านี้ เป็นเสียงที่ดังฟังชัดเจน แต่เสียงเหล่านี้ มิใช่เป็นเสียงที่เกี่ยวกับการพูด กล่าวคือ ไม่เกี่ยวกับวจีวิญญัติ

๘. วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เกิดขึ้นในขณะที่พูด อ่านหนังสือ ร้องเพลง สวดมนต์ เป็นต้น ที่เป็นไปตามปกติ ในขณะที่จิตใจปลอดโปร่งแจ่มใส เข้มแข็ง เบิกบาน อาจหาญ ร่าเริง ทำให้การพูด การอ่าน เป็นต้นเหล่านั้น เป็นไปด้วยความคล่องแคล่วสะดวกสบาย

จิตตชรูป กับ จิตตชกลาป

จิตตชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๕ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ และวิการรูป ๓

ส่วน จิตตชกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เกิดจากจิต มีจำนวนเพียง ๑๔ รูป [เว้นปริจเฉทรูป ๑]

จิตตชรูปก็ดี จิตตชกลาปก็ดี ย่อมเกิดได้กับสัตว์มีชีวิตที่มีขันธ์ครบทั้ง ๕ และเกิดได้จากจิต ๗๕ ดวง ตามสมควรแก่จิตตสมุฏฐานิกรูป เช่น จิตตชกลาปที่ชื่อว่า สุทธัฏฐกกลาปนั้น เกิดได้จากจิต ๗๕ ดวง จิตตชกลาปที่ชื่อว่า กายวิญญัตตินวกกลาป สัททนวกกลาป วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป สัททลหุตาทิทวา ทสกกลาป และวจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป ทั้ง ๖ กลาปนี้ย่อมเกิดได้จากจิต ๓๒ ดวงคือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ และอภิญญาจิต ๒ ส่วนจิตตชกลาปที่ชื่อว่า ลหุตาทิเอกาทสกกลาป ย่อมเกิดได้จากจิต ๕๘ ดวงคือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อัปปนาชวนจิต ๒๖ อภิญญาจิต ๒

[อุตุชกลาป]

อุตุชกลาปทั้ง ๔ [ดังกล่าวแล้ว] นั้น ได้แก่ อุตุชรูป ๑๒ [เว้นปริจเฉทรูป ๑] อุตุช กลาปเหล่านี้เกิดได้ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของสัตว์ หมายความว่า เป็นรูปที่เกิดได้ทั้งในร่างกายของสัตว์มีชีวิตและในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย อุตุชกลาปที่เกิดภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตนั้น ย่อมเกิดได้ทั้ง ๔ กลาป ส่วนที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์มีชีวิต คือ เกิดในสิ่งที่ไม่มีชีวิตนั้น ย่อมเกิดได้เพียง ๒ กลาปเท่านั้น

อุตุชกลาป ๔ ที่เกิดภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิต

อุตุชกลาปที่เกิดภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตนั้น ย่อมเกิดได้ทั้ง ๔ กลาป คือ

๑. สุทธัฏฐกกลาป คือ กลุ่มรูปที่มีเฉพาะอวินิพโภครูป ๘ ล้วน ๆ ที่เกิดอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย กล่าวคือ เป็นส่วนประกอบของอวัยวะในร่างกาย ที่นอกจากกัมมชกลาป จิตตชกลาป และอาหารชกลาปนั่นเอง ได้แก่ ส่วนประกอบของผม ขน เล็บ ฟัน อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น และอุณหภูมิของสิ่งเหล่านั้น อุตุชกลาปนี้เป็นกลาปที่เป็นพื้นฐานในการอุปถัมภ์รักษารูปกลาปอื่น ๆ ถ้าไม่มีอุตุชกลาปนี้แล้ว รูปกลาปอื่น ๆ มีกัมมชกลาปเป็นต้น ย่อมไม่สามารถปรากฏขึ้นได้เลย สุทธัฏฐกกลาปนี้ ย่อมเกิดในเวลาที่ร่างกายของสัตว์อ่อนเพลีย ไม่สบาย เป็นต้น

๒. สัททนวกกลาป คือ กลุ่มรูป ๙ รูปที่มีสัททรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และสัททรูป ๑ เกิดขึ้นในขณะที่มีเสียงปรากฏออกมาจากร่างกายโดยไม่เกี่ยวกับการพูด เช่น เสียงท้องลั่น ท้องร้อง เสียงกรน เสียงลมหายใจ เป็นต้น ซึ่งเสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่ไม่ชัดเจนนัก เพราะไม่ได้ประกอบด้วยวิการรูป ๓ อย่างนั่นเอง

๓. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป คือ สุทธัฏฐกกลาปที่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ นั่นเอง จึงมีจำนวน ๑๑ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ ซึ่งเป็นกลุ่มรูปที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตในขณะที่ร่างกายของสัตว์นั้น ๆ มีสภาพแข็งแรงเป็นปกติ ไม่มีความอาพาธเบียดเบียนทางร่างกาย และไม่มีอุปสรรคขัดขวางทางด้านจิตใจ เช่น ความเศร้าโศกเสียใจ ความท้อแท้เบื่อหน่าย ความผิดหวัง เป็นต้น เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ย่อมทำให้ร่างกายสดชื่นเบาสบาย จิตใจเบิกบานเข้มแข็ง ประกอบกิจการงานได้โดยสะดวก

๔. สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป คือ สัททนวกกลาปที่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ นั่นเอง จึงมีจำนวน ๑๒ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ วิการรูป ๓ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่มีเสียงปรากฏออกมาจากร่างกาย เช่น เสียงลั่นของอวัยวะ เสียงกรน เสียงไอ เสียงจาม เสียงผ่ายลม เป็นต้น ที่เป็นไปโดยชัดเจน หรือเป็นไปโดยสะดวก แต่ไม่ใช่เสียงที่เกี่ยวกับการพูด กล่าวคือ ไม่ได้เกิดพร้อมด้วยวจีวิญญัติรูปนั่นเอง

อุตุชกลาป ๒ ที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์มีชีวิต

อุตุชกลาปที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์ กล่าวคือ เกิดในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดได้เพียง ๒ กลาปเท่านั้น คือ

๑. สุทธัฏฐกกลาป คือ กลุ่มรูปที่มีแต่อวินิพโภครูป ๘ ล้วน ๆ ได้แก่ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งมีปรากฏในโลกทั้งปวง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ไฟ ลม อากาศ แสงสว่าง แม้กระทั่งเงาของสัตว์มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย เป็นต้น เหล่านี้ย่อมมีแต่อวินิพโภครูป ๘ เท่านั้น

๒. สัททนวกกลาป คือ กลุ่มรูปที่มี ๙ รูป มีสัททรูปเป็นประธาน ได้แก่ เสียงที่เกิดจากธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เสียงลมพัด เสียงน้ำไหล เสียงไฟไหม้ เสียงรถ เสียงเรือ เสียงเครื่องบิน เสียงกลอง เสียงฆ้อง เสียงระฆัง เป็นต้นเหล่านี้ย่อมมีเพียงอวินิพโภครูป ๘ กับสัททรูป ๑ เป็นส่วนประกอบเท่านั้น

อุตุชรูป กับ อุตุชกลาป

อุตุชรูป คือ รูปที่เกิดจากอุตุ กล่าวคือ อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มีจำนวน ๑๓ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ และวิการรูป ๓

อุตุชกลาป คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน ซึ่งมีรูปที่เป็นองค์ประกอบของกลาปรูปเพียง ๑๒ รูปเท่านั้น เว้นปริจเฉทรูป ๑ เพราะปริจเฉทรูปเป็นรูปที่ไม่นับเป็นองค์ของกลาปรูปทั้งปวง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

[อาหารชกลาป]

อาหารชกลาปทั้ง ๒ [ดังกล่าวแล้ว] นี้ ได้แก่ อาหารชรูป ๑๑ [เว้นปริจเฉทรูป ๑] ซึ่งเกิดได้เฉพาะภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตเท่านั้น ความหมายของอาหารชกลาปทั้ง ๒ นั้น มีดังต่อไปนี้

๑. สุทธัฏฐกกลาป หมายถึง สภาพอาหารที่มีส่วนประกอบเพียงอวินิพโภครูป ๘ ล้วน ๆ เท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่สัตว์กินอาหารหรือยาต่าง ๆ เข้าไปแล้ว ไม่ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า หรือเมื่อกินเข้าไปแล้ว กลับทำให้ร่างกายรู้สึกอึดอัด หรือมีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง หรือมีอาการผิดปกติ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น หมายความว่า อาหารชกลาปประเภทนี้ ยังไม่ได้ประกอบด้วยวิการรูป ๓ นั่นเอง

๒. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป หมายถึง สภาพอาหารที่มีส่วนประกอบด้วยอวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่สัตว์กินอาหารหรือยาต่าง ๆ เข้าไปแล้ว ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีอาการเบาสบาย ร่างกายแข็งแรง การทำกิจการงานเป็นไปโดยสะดวก หรือทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้น เป็นต้น หมายความว่า อาหารช กลาปประเภทนี้ เป็นสุทธัฏฐกกลาปที่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ นั่นเอง จึงทำให้มีกลุ่มรูปเกิดพร้อมกันจำนวน ๑๑ รูป และทำให้สภาพอาหารนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย

อาหารชกลาปทั้ง ๒ นี้ เกิดเฉพาะภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตเท่านั้น เพราะอาหารชกลาปจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยโอชาที่อยู่ในร่างกายของสัตว์มีชีวิต ที่เรียกว่า อัชฌัตตโอชา หรือ กัมมชโอชา เป็นผู้อุดหนุนแก่โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ นอกร่างกายของสัตว์ ที่เรียกว่า พหิทธโอชา หรือ อุตุชโอชา ให้เกิดขึ้น โดยการได้รับการย่อยสลายไปหล่อเลี้ยงร่างกายแล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปอาหารต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้บริโภคเข้าไปนั้น ไม่ใช่เป็นอาหารชกลาป แต่เป็นอุตุชกลาปทั้งสิ้น

บรรดาต้นไม้ทั้งหลายที่เจริญงอกงามเติบโต ผลิดอกออกผลได้นั้น ก็โดยอาศัยดิน น้ำ และปุ๋ยเป็นต้น เราเข้าใจกันว่า ดิน น้ำ และปุ๋ยนั้น ทำให้อาหารชกลาปเกิดขึ้นแก่ต้นไม้นั้น แต่ความจริงแล้ว ดิน น้ำ และปุ๋ยเป็นต้นเหล่านั้น หาได้ทำให้อาหารชกลาปเกิดขึ้นแก่ต้นไม้แต่อย่างใดไม่ เพียงแต่ทำให้อุตุชกลาปเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะต้นไม้กินอาหารเหมือนอย่างสัตว์ทั้งหลายไม่ได้ เพียงแต่ดิน น้ำและปุ๋ยเป็นต้นที่รดลงไปนั้น ซึมซาบเข้าไปในลำต้นโดยทางรากแก้ว รากฝอย และเนื้อเยื่อของต้นไม้เท่านั้น แต่เราก็เรียกกันโดยโวหารว่า “ต้นไม้ดูดกินอาหาร” เหมือนกับโวหารที่พูดกันว่า “รถกินน้ำมัน” ฉันนั้น แต่ความจริงแล้ว หาได้เป็นไปตามสมมุติโวหารนั้นไม่ เพราะรถไม่ได้กินน้ำมัน เพียงแต่อาศัยเครื่องจักรและส่วนประกอบของรถที่มีความสมดุลกันแล้ว ทำให้เกิดการเผาผลาญน้ำมันซึ่งเป็นอุตุชรูปนั้นให้แปรสภาพเป็นอุตุชรูปที่เป็นพลังงานแล้วขับเคลื่อนจักรของรถให้สามารถวิ่งไปได้เท่านั้น

อาหารชรูป กับ อาหารชกลาป

อาหารชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๒ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ และวิการรูป ๓

อาหารชกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เกิดจากอาหาร ซึ่งมีรูปที่เป็นองค์ประกอบของกลาปจำนวน ๑๑ รูป [เว้นปริจเฉทรูป ๑] เพราะปริจเฉทรูปไม่นับเป็นองค์ประกอบของรูปกลาป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่เบื้องต้น

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากความหมายและคำอธิบายในเรื่องรูปกลาปที่ท่านได้แสดงมาแล้วในคัมภีร์ ต่าง ๆ นั้น บัดนี้ข้าพเจ้าจะได้อธิบายสรุปความหมายของกลาปรูปเหล่านั้นโดยสังเขปเพื่อให้เห็นเด่นชัดขึ้น ดังต่อไปนี้

กัมมชกลาป ๙

กัมมชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททะ] ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑

กัมมชกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ซึ่งมีจำนวนรูปที่เป็นองค์ของกลาป ๑๗ รูป [เว้นปริจเฉทรูป]

กัมมปัจจยอุตุชกลาป หมายถึง อุตุชรูปที่มีอยู่ในกัมมชกลาป เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เขา งา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอุตุชรูปที่มีกรรมเป็นปัจจัย ที่เรียกว่า กัมมปัจจยอุตุชรูป บ้าง อุตุชรูปที่มีจิตเป็นปัจจัย ที่เรียกว่า จิตตปัจจยอุตุชรูป บ้าง อุตุชรูปที่มีอุตุเป็นปัจจัย ที่เรียกว่า อุตุปัจจยอุตุชรูป บ้าง และอุตุชรูปที่มีอาหารเป็นปัจจัย ที่เรียกว่า อาหารปัจจยอุตุชรูป บ้าง แต่รูปเหล่านี้ย่อมมีกัมมปัจจยอุตุชรูปเป็นประธาน ส่วนอุตุชรูปที่เหลืออีก ๓ อย่างนอกจากนี้ เป็นแต่เพียงส่วนประกอบเท่านั้น ซึ่งสามารถสังเกตรู้ได้ชัดเจนในเวลาที่สัตว์นั้นตายลง เพราะตามธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเมื่อตายลงแล้ว กัมมชรูป จิตตชรูป และอาหารชรูป ทั้ง ๓ อย่างนี้ ย่อมดับหมดสิ้นไปไม่มีเหลืออยู่อีกแล้ว คงเหลือแต่อุตุชรูปเท่านั้น อุตุชรูปที่เหลืออยู่เป็นซากศพนั้น ได้แก่ อุตุชกลาป ๔ ประเภทดังกล่าวแล้วนั่นแหละ และกลาปรูปเหล่านี้ย่อมตั้งอยู่ได้ตามสมควร

อนึ่ง แม้รูปเหล่านี้จะเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์มีชีวิตอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เป็น กัมมชกลาปแท้อยู่นั่นเอง เพราะกัมมชกลาปแท้นั้น มีเพียง ๙ กลาปเท่านั้น คือ

๑. จักขุทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีจักขุปสาทรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ จักขุปสาทรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดอยู่ในระหว่างกลางตาดำ มีเยื่อตาหุ้มอยู่ ๗ ชั้น มีสัณฐานโตประมาณเท่าหัวเหา ซึ่งนับได้ประมาณ ๑๑,๗๕๗,๓๑๒ กลาป [สิบเอ็ดล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นเจ็ดพันสามร้อยสิบสองกลาป] ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นจักขุทวาร คือ เป็นช่องทางในการรับรู้ รูปารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ มโนธาตุ ๓ จักขุวิญญาณจิต ๒ โวฏฐัพพนจิต ๑ [มโนทวาราวัชชนจิต] กามชวนจิต ๒๙ ตทาลัมพนจิต ๑๑ ตามสมควรแก่ภูมิและบุคคล

๒. โสตทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีโสตปสาทรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ โสตปสาทรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดอยู่ภายในช่องหูส่วนลึก ที่มีสัณฐานคล้ายวงแหวนและมีขนสีแดงเส้นละเอียดปรากฏอยู่โดยรอบ [เกิดรวมกันอยู่มากมายหลายกลาปตามขนาดของโสตปสาทที่มีลักษณะคล้ายวงแหวนนั้นของสัตว์แต่ละประเภท] ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นโสตทวาร คือ เป็นช่องทางในการรับรู้สัททารมณ์ของโสตทวารวิถีจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ มโนธาตุ ๓ โสตวิญญาณจิต ๒ โวฏฐัพพนจิต ๑ [มโนทวาราวัชชนจิต] กามชวนจิต ๒๙ ตทาลัมพนจิต ๑๑ ตามสมควรแก่ภูมิและบุคคล

๓. ฆานทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีฆานปสาทรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ฆานปสาทรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดอยู่ภายในช่องจมูกส่วนลึก ที่มีสัณฐานคล้ายกีบเท้าแพะ [เกิดรวมกันอยู่มากมายหลายกลาปตามขนาดของฆานปสาทที่มีสัณฐานคล้ายกีบเท้าแพะนั้นของสัตว์แต่ละประเภท] ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นฆานทวาร คือ เป็นช่องทางในการรับรู้คันธารมณ์ของฆานทวารวิถีจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ มโนธาตุ ๓ ฆานวิญญาณจิต ๒ โวฏฐัพพนจิต ๑ [มโนทวาราวัชชนจิต] กามชวนจิต ๒๙ ตทาลัมพนจิต ๑๑ ตามสมควรแก่บุคคล

๔. ชิวหาทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีชิวหาปสาทรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ชิวหาปสาทรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดอยู่ในท่ามกลางลิ้นมีสัณฐานคล้ายปลายกลีบดอกอุบล [เกิดรวมกันอยู่มากมายหลายกลาปตามขนาดของชิวหาปสาทรูปที่มีสัณฐานคล้ายปลายกลีบดอกอุบลนั้นของสัตว์แต่ละประเภท] ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นชิวหาทวาร คือ เป็นช่องทางในการรับรู้ รสารมณ์ของชิวหาทวารวิถีจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ มโนธาตุ ๓ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ โวฏฐัพพนจิต ๑ [มโนทวาราวัชชนจิต] กามชวนจิต ๒๙ ตทาลัมพนจิต ๑๑ ตามสมควรแก่บุคคล

๕. กายทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีกายปสาทรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ กายปสาทรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดซึมซาบอยู่ทั่วร่างกายของสัตว์มีชีวิตที่เกิดอยู่ในกามภูมิทุกจำพวก ตรงที่มีร่างกายเป็นปกติ [เกิดรวมกันอยู่มากมายหลายกลาปตามขนาดของร่างกายของสัตว์แต่ละประเภทหรือบุคคลแต่ละคน เฉพาะตรงที่สัมผัสแล้วมีความรู้สึกได้] ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของกายวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นกายทวาร คือ เป็นช่องทางในการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ของกายทวารวิถีจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ มโนธาตุ ๓ กายวิญญาณจิต ๒ โวฏฐัพพนจิต ๑ [มโนทวาราวัชชนจิต] กามชวนจิต ๒๙ ตทาลัมพนจิต ๑๑ ตามสมควรแก่บุคคล

๖. อิตถีภาวทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีอิตถีภาวรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ อิตถีภาวรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดซึมซาบอยู่ทั่วร่างกายของหญิง [เกิดรวมกันอยู่มากมายหลายกลาปตามขนาดของร่างกายแห่งหญิงแต่ละคนหรือของสัตว์เพศเมียแต่ละตัว เฉพาะตรงที่มีความรู้สึกได้] เป็นกัมมชกลาปที่แสดงความเป็นหญิงให้รู้ได้ด้วยใจของหญิงผู้นั้นเอง ซึ่งบุคคลอื่นที่นอกจากบุคคลผู้มีอุตตมญาณ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ยากที่จะรู้ลึกซึ้งถึงความรู้สึกในความเป็นหญิงของหญิงผู้นั้นได้ ที่รู้ได้ก็เฉพาะสี กลิ่น รส และสัมผัส ที่เกิดรวมกันอยู่ในอิตถีภาวทสกกลาปนั้นเท่านั้น รูปที่เหลือนอกจากนั้น เป็นรูปที่รู้ได้ด้วยใจอย่างเดียว เพราะมีสภาพเป็นธัมมารมณ์

๗. ปุริสภาวทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีปุริสภาวรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ปุริสภาวรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดซึมซาบอยู่ทั่วไปในร่างกายของชาย [เกิดรวมกันอยู่มากมายหลายกลาป ตามขนาดของร่างกายของชายแต่ละบุคคลหรือสัตว์เพศผู้แต่ละตัว เฉพาะตรงที่มีความรู้สึกได้เท่านั้น] เป็นกัมมชกลาปที่แสดงความเป็นชายให้รู้ได้ด้วยใจของชายผู้นั้นเอง บุคคลอื่นยากที่จะรู้ลึกซึ้งถึงความรู้สึกในความเป็นชายของชายผู้นั้นได้ ที่รู้ได้ก็เฉพาะสี กลิ่น รส และสัมผัส ที่เกิดรวมอยู่ในปุริสภาวทสกกลาปนั้นเท่านั้น รูปที่เหลือนอกจากนั้น เป็นรูปที่รู้ได้ด้วยใจอย่างเดียว เพราะมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ เหมือนที่กล่าวแล้วในอิตถีภาวทสกกลาปนั่นแล

๘. วัตถุทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีหทยรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ หทยรูป ๑ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ ที่มีลักษณะเหมือนบ่อน้ำ มีโลหิตอันเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ มีสัณฐานโตประมาณเท่าเมล็ดในของดอกบุนนาค [เกิดรวมกันอยู่มากมายหลายกลาป ตามขนาดของหทยรูปของสัตว์แต่ละประเภท] ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุ ๓ และมโนวิญญาณธาตุจิตของแต่ละบุคคลที่จะเกิดมีได้ [มโนวิญญาณธาตุมี ๗๖ ดวง แต่อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวงนั้น ไม่ต้องอาศัยหทยรูปเกิดโดยแน่นอน เพราะเกิดเฉพาะกับอรูปพรหมในอรูปภูมิ ๔ ดวงละ ๑ ภูมิเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก ๗๒ ดวงนั้น ย่อมเกิดได้ตามสมควรแก่บุคคลแต่ละคน จะมีแสดงในบทต่อไป]

๙. ชีวิตนวกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๙ รูป มีชีวิตรูปเป็นประธาน ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และชีวิตรูป ๑ เป็นกลุ่มรูปที่เกิดซึมซาบอยู่ทั่วร่างกายของสัตว์มีชีวิตที่มีรูปขันธ์ ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ และเอกโวการภูมิ ๑ [เกิดรวมกันอยู่มากมายหลายกลาป ตามขนาดแห่งร่างกายของแต่ละบุคคล เฉพาะตรงที่มีความรู้สึกได้] ซึ่งเป็นกัมมชกลาปที่รักษาและอุดหนุนกัมมชรูปที่เกิดร่วมกันในกลาปเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในกัมมชกลาปทุกกลาปจึงมีชีวิตรูปรวมอยู่ด้วยทุกกลาป ชีวิตรูปนั้นเป็นสภาวะที่รู้ได้ด้วยใจของบุคคลผู้นั้นเอง และบุคคลผู้มีอุตตมญาณมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นเท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นยากที่จะรู้ลึกซึ้งถึงความรู้สึกในความมีชีวิตของบุคคลผู้นั้นได้ ที่รู้ได้ก็เฉพาะอาการเป็นไปของร่างกายและปฏิกิริยาที่บุคคลนั้นแสดงออกมาเท่านั้น เพราะชีวิตรูปนี้มีสภาพเป็นธัมมารมณ์ ดังกล่าวแล้วในเรื่องภาวทสกกลาปนั่นแล

กัมมชกลาปทั้ง ๙ ประเภทนี้ ก็ได้แก่ กัมมชรูป ๑๗ [เว้นปริจเฉทรูป] นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ กัมมชกลาปทั้ง ๙ นี้ ย่อมเกิดได้เฉพาะในสัตว์มีชีวิตที่มีรูปร่างกายเท่านั้น และในบุคคลหนึ่ง [หรือสัตว์ตนหนึ่ง] ย่อมมีกัมมชกลาปเกิดได้อย่างมากเพียง ๘ กลาปเท่านั้น เพราะภาวทสกกลาปทั้ง ๒ จะเกิดร่วมกันในบุคคลคนเดียวกันไม่ได้ กล่าวคือ ถ้าเป็นผู้หญิง ก็เว้นปุริสภาวทสกกลาปออกเสีย ถ้าเป็นผู้ชาย ก็เว้นอิตถีภาวทสกกลาปออกเสีย ที่กล่าวมานี้ มุ่งหมายเอากัมมชกลาปโดยแท้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายเอากัมมปัจจยอุตุชกลาป คือ รูปกลาปที่เกิดจากอุตุโดยมีกรรมเป็นปัจจัย จิตตปัจจยอุตุชกลาป คือ รูปกลาปที่เกิดจากอุตุโดยมีจิตเป็นปัจจัย อุตุปัจจยอุตุชกลาป คือ รูปกลาปที่เกิดจากอุตุโดยมีอุตุเป็นปัจจัย และอาหารปัจจยอุตุชกลาป คือ รูปกลาปที่เกิดจากอุตุโดยมีอาหารเป็นปัจจัย ซึ่งได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน เขา งา เป็นต้น แต่อย่างใด เพราะฉะนั้น กัมมชกลาปที่เกิดอยู่ในร่างกายของคนหรือสัตว์ตนหนึ่ง ๆ นั้น จึงมีได้อย่างมาก ๘ ประเภท ดังกล่าวแล้ว อนึ่ง กัมมชกลาป ๙ นี้ หมายเอาเฉพาะสัตว์ที่เกิดในกามภูมิ ๑๑ เท่านั้น

ส่วนรูปพรหมทั้งหลาย ในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] ย่อมมีกัมมชกลาปอยู่องค์ละ ๔ ประเภทเท่านั้น ได้แก่ จักขุทสกกลาป โสตทสกกลาป วัตถุทสกกลาป และชีวิตนวกกลาป สำหรับอสัญญสัตตพรหมนั้น ย่อมมีกัมมชกลาปอยู่เพียง ๑ ประเภทเท่านั้น ได้แก่ ชีวิตนวกกลาป

จิตตชกลาป ๘

จิตตชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๕ รูป [ไม่รวมอุปัจจยรูปและสันตติรูปด้วย]

จิตตชกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มีจำนวนรูปที่เป็นองค์ประกอบเพียง ๑๔ รูป [เว้นปริจเฉทรูป]

จิตตชรูปก็ดี จิตตชกลาปก็ดี ย่อมเกิดได้กับสัตว์ที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้น และเป็นรูปที่เกิดจากจิต ๗๕ ดวง [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ อรูปวิปากจิต ๔] ตามสมควรแก่จิตตสมุฏฐานิกรูปนั้น ๆ กล่าวคือ

จิตตชกลาป ที่ชื่อว่า สุทธัฏฐกกลาป นั้น เกิดได้จากจิต ๗๕ ดวง

จิตตชกลาป ที่ชื่อว่า สัททนวกกลาป กายวิญญัตตินวกกลาป วจีวิญญัตติสัทท ทสกกลาป ลหุตาทิเอกาทสกกลาป กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป วจีวิญญัตติสัทท ลหุตาทิเตรสกกลาป ทั้ง ๖ ประเภทนี้ เกิดได้จากจิต ๓๒ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒

จิตตชกลาป ที่ชื่อว่า ลหุตาทิเอกาทสกกลาป ย่อมเกิดได้จากจิต ๕๘ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒ อัปปนาชวนจิต ๒๖

จะได้อธิบายรายละเอียดของจิตตชกลาปทั้ง ๘ ประเภทดังต่อไปนี้

๑. สุทธัฏฐกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๘ รูป ที่มีเฉพาะอวินิพโภครูป ๘ ล้วน ๆ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ และอาหารรูป ๑ เป็นรูปกลาปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดขึ้นในขณะที่มิได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือมิได้มีการเปล่งเสียงพูดจา อย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ซึ่งในขณะนั้นสภาพจิตใจมีความอ่อนเพลีย หรือไม่เข้มแข็ง หรือถูกบีบบังคับโดยที่ไม่เต็มใจพูด หรือเกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายไม่ปกติ มีความอาพาธป่วยไข้อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ร่างกายไม่อำนวยที่จะให้เปล่งเสียงออกมาได้ และไม่สามารถจะขยับเขยื้อนร่างกายได้ ซึ่งได้แก่ รูปที่เป็นอาการหายใจเข้าออกตามปกติธรรมดา หรือรูปที่แสดงอาการหน้าซีด หน้าแดง ในเวลาโกรธหรือเกิดความเอียงอาย ขนลุกขนพอง ในเวลาโกรธหรือเกลียด กลัว เป็นต้น

๒. สัททนวกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๙ รูป ที่มีอวินิพโภครูป ๘ ซึ่งเกิดพร้อมด้วยสัททรูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ และอาหารรูป ๑ เป็นรูปกลาปที่เกิดขึ้นในเวลาที่มีเสียงปรากฏขึ้นโดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน แต่ไม่เกี่ยวกับการพูดหรือการเปล่งวาจา และเกิดขึ้นในขณะที่จิตใจอ่อนเพลียหรืออ่อนแอเหนื่อยหน่าย ท้อแท้สิ้นหวัง หรือในเวลาที่จิตใจไม่เข้มแข็ง หมดกำลังใจ ได้แก่ เสียงที่เกิดจากการถอนหายใจ เสียงไอ เสียงจาม เสียงเรอ เสียงหาว หรือเสียงคราง ในขณะที่ไม่สบายกายหรือไม่สบายใจ เป็นต้น

๓. กายวิญญัตตินวกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๙ รูปที่มีอวินิพโภครูป ๘ ซึ่งเกิดพร้อมด้วยกายวิญญัติรูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ และกายวิญญัติรูป ๑ เป็นรูปกลาปที่เกิดขึ้นในเวลาที่เคลื่อนไหวกายในขณะที่ร่างกายไม่เป็นปกติ คือ เวลาที่จิตใจอ่อนแอ ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่เข้มแข็ง หมดกำลังใจ หรือร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย เป็นต้น ได้แก่ รูปอิริยาบถต่าง ๆ มีการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การคู้ การเหยียด การเลี้ยวซ้ายแลขวา การเดินหน้าหรือถอยหลัง เป็นต้น ที่ไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระปรี่กระเปร่า ไม่มีความคล่องตัว

๔. วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีอวินิพโภครูป ๘ ที่เกิดพร้อมด้วยสัททรูปและวจีวิญญัติรูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ และ วจีวิญญัติรูป ๑ เป็นรูปกลาปที่เกิดขึ้นในเวลาพูด อ่านหนังสือ ร้องเพลง สวดมนต์ เป็นต้น ที่เกี่ยวกับการเปล่งเสียง ซึ่งไม่เป็นไปโดยปกติ คือ ในขณะนั้นรู้สึกไม่ค่อยสบายกายหรือไม่สบายใจ มีอาการท้อแท้เบื่อหน่าย พูดอย่างไม่เต็มใจ อ่านอย่างไม่เต็มใจ หรือสวดมนต์ ร้องเพลง เป็นต้น อย่างไม่เต็มใจ หรือร่างกายไม่อำนวยให้ ทำให้เสียงที่เปล่งออกมานั้น ไม่นุ่มนวลสละสลวย หรือไม่หนักแน่นเข้มแข็ง ไม่มีพลัง หรือทำให้เสียงที่ออกมานั้นไม่ค่อยชัดเจน เป็นต้น

๕. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๑ รูป คือ สุทธัฏฐกกลาปที่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓ เป็นรูปกลาปที่เกิดขึ้นในขณะที่มิได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ได้พูดหรือไม่ได้เปล่งเสียงออกมา อย่างใดอย่างหนึ่งแต่ประการใด เป็นการอยู่ในอิริยาบถนั่ง ยืน หรือนอนแบบสบาย ๆ หรืออาการหายใจเข้า-ออกคล่องตัวเป็นปกติ มีอาการโล่งอกโล่งใจ จิตใจเข้มแข็ง ปลอดโปร่ง หรือเกิดอาการดีใจ มีหน้าตาแจ่มใสเบิกบาน หรืออาการปีติยินดี ขนลุกขนพอง เป็นต้น

๖. สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๒ รูป คือ สัททนวกกลาปนั่นเอง แต่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ และวิการรูป ๓ เป็นรูปกลาปที่เกิดขึ้นในเวลาที่จิตใจสบายปลอดโปร่ง หรือมีความผ่องใสเบิกบาน มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ ไม่มีอาการป่วยไข้ ไม่มีปัญหาอุปสรรคทางด้านร่างกายและจิตใจมาบั่นทอนหรือขัดขวางแต่อยางใด แต่ในขณะนั้น ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจอยู่ในอิริยาบถนั่ง นอน หรือยืนนิ่งอยู่แบบสบาย ๆ โดยไม่มีอาการไหวกาย มีแต่เสียงออกมา เช่น เสียงหายใจเข้าออก เสียงไอ เสียงจาม เสียงหาว เป็นต้น โดยเป็นเสียงที่ดังฟังชัด บ่งบอกถึงสภาพจิตใจในขณะนั้นว่า มีความสบายใจ แต่เสียงเหล่านี้ มิใช่เป็นเสียงที่เกี่ยวกับการพูดหรือการเปล่งวาจาอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาแต่อย่างใด

๗. กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๒ รูป คือ กายวิญญัตตินวกกลาปนั่นเอง แต่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ กายวิญญัติรูป ๑ และวิการรูป ๓ เป็นรูปกลาปที่เกิดขึ้นในขณะที่เคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่าง ๆ ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานหรือเข้มแข็ง และร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ ไม่มีความป่วยไข้มารบกวน เช่น การเดิน การคู้ การเหยียด การโบกมือ กวักมือ เป็นต้น ที่เป็นไปโดยอาการคล่องแคล่วสะดวกสบาย โดยไม่เกี่ยวกับการพูดจาหรือการเปล่งเสียงแต่อย่างใด

๘. วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๓ รูป คือ วจีวิญญัตติสัทททสกกลาปนั่นเอง แต่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ และวิการรูป ๓ เป็นรูปกลาปที่เกิดขึ้นในเวลาพูด อ่านหนังสือ ร้องเพลง สวดมนต์ เป็นต้น ที่เป็นไปตามปกติ ในเวลาที่จิตใจเข้มแข็ง ปลอดโปร่ง แจ่มใสเบิกบาน และร่างกายเป็นปกติไม่อาพาธป่วยไข้ ทำให้เสียงที่เปล่งออกมานั้น มีความคล่องแคล่ว ดังฟังชัด กลมกล่อม ละมุนละไม หรือมีพลังอำนาจ และเป็นไปโดยสะดวกสบาย

จิตตชกลาปทั้ง ๘ นี้แบ่งเป็น ๒ จำพวกคือ

๑. มูลกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เป็นต้นเดิม หรือกลุ่มรูปที่เกิดจากสภาพจิตที่ไม่ค่อยเข้มแข็งหรือร่างกายไม่ค่อยอำนวยให้ มี ๔ กลาป คือ

๑] สุทธัฏฐกกลาป

๒] สัททนวกกลาป

๓] กายวิญญัตตินวกกลาป

๔] วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป

๒. มูลีกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่ขยายเพิ่มเติมจากมูลกลาป หรือกลุ่มรูปที่เกิดจากสภาพจิตที่เข้มแข็งหรือร่างกายอำนวยให้ โดยมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมอยู่ด้วย มี ๔ กลาป คือ

๑] ลหุตาทิเอกาทสกกลาป

๒] สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป

๓] กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป

๔] วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป

จิตตชกลาปเหล่านี้ย่อมเกิดได้เฉพาะในสัตว์มีชีวิตเท่านั้น [เว้นอสัญญสัตตพรหม]

แสดงความเป็นไปของจิตตชกลาป ๘ จัดเป็น ๔ คู่

จิตตชกลาปทั้ง ๘ นี้เมื่อจับเป็นคู่แล้ว ได้ ๔ คู่ คือ

คู่ที่ ๑ สุทธัฏฐกกลาป กับ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป หมายความว่า ถ้าเป็นกลุ่มรูปที่มีแต่อวินิพโภครูป ๘ ก็เรียกว่า สุทธัฏฐกกลาป แต่ถ้าสุทธัฏฐกกลาปนั้นมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย ก็เรียกว่า ลหุตาทิเอกาทสกกลาป

คู่ที่ ๒ สัททนวกกลาป กับ สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป หมายความว่า ถ้าเป็นกลุ่มรูปที่มีเพียง ๙ รูป มีสัททรูปเป็นประธาน ก็เรียกว่า สัททนวกกลาป แต่ถ้าสัททนวกกลาปนั้นมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย ก็เรียกว่า สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป

คู่ที่ ๓ กายวิญญัตตินวกกลาป กับ กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป หมายความว่า ถ้าเป็นกลุ่มรูปที่มีเพียง ๙ รูป มีกายวิญญัติรูปเป็นประธาน ก็เรียกว่า กายวิญญัตตินวกกลาป แต่ถ้ากายวิญญัตตินวกกลาปนั้นมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย ก็เรียกว่า กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป

คู่ที่ ๔ วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป กับ วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป หมายความว่า ถ้าเป็นกลุ่มรูปที่มี ๑๐ รูป มีสัททรูปและวจีวิญญัติรูปเป็นประธาน ก็เรียกว่า วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป แต่ถ้าวจีวิญญัตติสัทททสกกลาปนั้นมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย ก็เรียกว่า วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป

อุตุชกลาป ๔

อุตุชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอุณหภูมิ คือ ความร้อนหรือความเย็น ที่เรียกว่า อุณหเตโช และ สีตเตโช

อุตุชกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน มีจำนวนรูปเพียง ๑๒ รูป โดยเว้นปริจเฉทรูป เพราะปริจเฉทรูปไม่ได้เป็นส่วนประกอบของรูปกลาปหรือไม่ได้เป็นองค์ของกลาป เป็นแต่เพียงอากาศธาตุที่คั่นระหว่างรูปกลาปหนึ่งกับอีกรูปกลาปหนึ่งเท่านั้น อุตุชกลาป มี ๔ กลาป คือ

๑. สุทธัฏฐกกลาป กลุ่มรูป ๘ รูป ที่มีเฉพาะอวินิพโภครูป ๘ ล้วน ๆ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑

๒. สัททนวกกลาป กลุ่มรูป ๙ รูป ที่มีอวินิพโภครูป ๘ เกิดพร้อมด้วยสัททรูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ สัททรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑

๓. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป กลุ่มรูป ๑๑ รูป คือ สุทธัฏฐกกลาปที่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ วิการรูป ๓

๔. สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป กลุ่มรูป ๑๒ รูป คือ สัททนวกกลาป ที่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ สัททรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ วิการรูป ๓

อุตุชกลาปทั้ง ๔ นี้แบ่งเป็น ๒ จำพวกคือ

๑. มูลกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เป็นต้นเดิม หรือกลุ่มรูปที่เกิดจากอุตุแบบธรรมดา มี ๒ กลาป คือ

๑] สุทธัฏฐกกลาป ๒] สัททนวกกลาป

๒. มูลีกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่ขยายเพิ่มเติมจากมูลกลาป หรือกลุ่มรูปที่เกิดจากอุตุที่มีวิการรูป ๓ เกิดร่วมอยู่ด้วย มี ๒ กลาป คือ

๑] ลหุตาทิเอกาทสกกลาป ๒] สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป

อุตุชกลาปเหล่านี้ ได้แก่ อุตุชรูป ๑๒ [เว้นปริจเฉทรูป] อุตุชกลาปเหล่านี้ เกิดได้ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย คือ เกิดได้ทั้งในสัตว์ที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย อุตุชกลาปที่เกิดอยู่ภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดได้ทั้ง ๔ ประเภท ส่วนที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์ คือ เกิดในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย ย่อมเกิดได้เพียง ๒ กลาป คือ มูลกลาป ๒ กลาปเท่านั้น

ในอุตุชกลาปเหล่านั้น สุทธัฏฐกกลาป เมื่อมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมอยู่ด้วย ก็เรียกว่า ลหุตาทิเอกาทสกกลาป เกิดในขณะที่ร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย เป็นปกติดี ดำเนินชีวิตไปได้โดยปกติ

ส่วนสัททนวกกลาปนั้น เมื่อมีวิการรูป ๓ เกิดร่วมอยู่ด้วย ก็เรียกว่า สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป กล่าวคือ เสียงต่าง ๆ นั้นปรากฏชัดเจน ซึ่งไม่ใช่เป็นเสียงที่เกิดจากการพูดจา แต่เป็นเสียงที่ออกมาจากร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือจากอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เสียงไอ เสียงจาม เสียงหายใจ เสียงผ่ายลม เป็นต้น

อุตุชกลาป ๔ ที่เกิดภายในร่างกายของสัตว์

อุตุชกลาปที่เกิดภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตนั้น มีได้ทั้งหมด ๔ กลาป คือ

๑. สุทธัฏฐกกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่มีเพียงอวินิพโภครูป ๘ เท่านั้น ที่เกิดอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ ร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง เพราะอุตุชกลาปนี้ เป็นรูปกลาปที่เป็นพื้นฐานรองรับรูปกลาปอื่น ๆ ถ้าไม่มีอุตุชกลาปนี้แล้ว รูปกลาปอื่น ๆ มีกัมมชกลาปเป็นต้น ย่อมไม่สามารถปรากฏขึ้นได้ และสุทธัฏฐกกลาปนี้ ย่อมเกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายของสัตว์นั้น ๆ ไม่เป็นปกติ เช่น อ่อนเพลียไม่สบาย เป็นต้น ซึ่งได้แก่ สภาพร่างกายที่ไม่ได้ประกอบด้วยวิการรูป ๓ อย่างนั่นเอง

๒. สัททนวกกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่มีอวินิพโภครูป ๘ และสัททรูป ๑ เกิดร่วมกัน ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่มีเสียงปรากฏออกมาจากร่างกายบางส่วน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเปล่งวาจาหรือการพูด เช่น เสียงท้องร้อง เสียงท้องลั่น เสียงกรน เสียงลมหายใจเข้าออก หรือเสียงที่เกิดจากการตบมือ ดีดมือ และเสียงที่เกิดจากการตีลง ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่เสียงเหล่านั้นไม่ค่อยจะดังหรือชัดเจนนัก ซึ่งได้แก่ เสียงที่ไม่ได้ประกอบด้วยวิการรูป ๓ นั่นเอง

๓. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๑ รูป ซึ่งมีอวินิพโภครูป ๘ ที่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ เป็นกลาปรูปที่เกิดอยู่ภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายที่มีขันธ์ ๕ ในขณะที่ร่างกายของสัตว์นั้นแข็งแรงเป็นปกติ แต่เกิดขึ้นในขณะที่ไม่ได้เคลื่อนไหวอิริยาบถและไม่ได้พูดจาเปล่งเสียงออกมา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สุทธัฏฐกกลาป นั่นเอง ในขณะที่มีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วย จึงรวมเป็น ๑๑ รูป เรียกว่า ลหุตาทิเอกาทสกกลาป

๔. สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๒ รูป ได้แก่ สัททนวกกลาปนั่นเอง ที่มีวิการรูป ๓ เกิดร่วมอยู่ด้วย เป็นกลาปรูปที่เกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายที่มีขันธ์ ๕ ในขณะที่มีเสียงปรากฏออกมาจากร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเปล่งวาจาหรือการพูด เช่น เสียงท้องร้อง เสียงท้องลั่น เสียงกรน เสียงลมหายใจเข้าออก หรือเสียงที่เกิดจากการตบมือ ดีดมือ และเสียงที่เกิดจากการตีลง ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งเสียงเหล่านั้นมีความดังและชัดเจน

อุตุชกลาป ๒ ที่เกิดในภายนอกร่างกายของสัตว์

อุตุชกลาปที่เกิดขึ้นภายนอกร่างกายของสัตว์มีชีวิต กล่าวคือ เกิดในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น มีได้เพียง ๒ กลาป คือ

๑. สุทธัฏฐกกลาป ได้แก่ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ มีก้อนดิน ก้อนหิน ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ ไฟ ลม พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว แสงสว่าง เงา เป็นต้นเหล่านี้ ย่อมมีเพียงอวินิพโภครูป ๘ ล้วน ๆ เท่านั้น ไม่มีรูปอย่างอื่นเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะเป็นรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมและไม่ได้เกิดจากจิตนั่นเอง

๒. สัททนวกกลาป ได้แก่ เสียงต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเสียงของมนุษย์และสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เช่น เสียงลมพัด เสียงฟ้าร้อง เสียงน้ำไหล เสียงไฟไหม้ เสียงรถ เสียงเรือ เสียงเครื่องบิน เสียงกลอง เสียงฆ้อง เสียงระฆัง เป็นต้นเหล่านี้ ย่อมมีสัททรูปเกิดร่วมกับอวินิพโภครูป ๘ จึงรวมเป็นกลุ่มรูปที่มี ๙ รูป

อาหารชกลาป ๒

อาหารชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน มี ๑๒ รูป [ไม่รวมอุปัจจยรูปและสันตติรูปด้วย] ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ และวิการรูป ๓

อาหารชกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๑ รูป โดยเว้นปริจเฉทรูป เพราะปริจเฉทรูปไม่ได้เป็นองค์ของกลาป ดังกล่าวแล้ว อาหารชกลาปมี ๒ ประเภท คือ

๑. สุทธัฏฐกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๘ รูปที่มีเฉพาะอวินิพโภครูป ๘ ล้วน ๆ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ สุทธัฏฐกกลาปนี้เป็นอาหารแบบธรรมดา หรืออาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อร่างกายนัก ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง หรือเมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว กลับทำให้ร่างกายรู้สึกอึดอัดไม่สบาย หรือไม่มีสารกระตุ้นให้เกิดความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า หรือเป็นประเภทสารพิษ ยาพิษ ที่บั่นทอนสุขภาพร่างกาย เป็นต้น ซึ่งหมายถึง สุทธัฏฐกกลาปที่เกิดจากอาหาร ซึ่งไม่มีวิการรูป ๓ เกิดร่วมด้วยนั่นเอง

๒. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป หมายถึง กลุ่มรูป ๑๑ รูป ซึ่งได้แก่ สุทธัฏฐกกลาป นั่นเอง ที่เกิดพร้อมด้วยวิการรูป ๓ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ และวิการรูป ๓ ลหุตาทิเอกาทสกกลาปนี้เป็นอาหารแบบพิเศษ หรืออาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรืออาหารที่มีสารกระตุ้นให้เกิดความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า บริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีสุขภาพอนามัยดี ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปโดยปกติสุข

อาหารชกลาปทั้ง ๒ นี้แบ่งเป็น ๒ จำพวกคือ

๑. มูลกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่เป็นต้นเดิม หรือกลุ่มรูปที่เกิดจากอาหารแบบธรรมดา มี ๑ กลาป คือ สุทธัฏฐกกลาป

๒. มูลีกลาป หมายถึง กลุ่มรูปที่ขยายเพิ่มเติมจากมูลกลาป หรือกลุ่มรูปที่มีวิการรูป ๓ เกิดร่วมอยู่ด้วย มี ๑ กลาป คือ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป

อาหารชกลาปทั้ง ๒ นี้ ย่อมเกิดได้เฉพาะภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตเท่านั้น

ความเป็นไปของอาหารชกลาป

ความเป็นไปของอาหารชกลาปทั้ง ๒ นี้ มีดังต่อไปนี้

๑. สุทธัฏฐกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เกิดขึ้นในขณะที่อาหารหรือยาต่าง ๆ จะดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ที่บริโภคเข้าไปแล้วไม่ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า หรือเมื่อบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายรู้สึกไม่สบาย แน่น อึดอัด เป็นต้น หมายความว่า อาหารชกลาปที่เกิดจากยาหรืออาหารเหล่านี้ ไม่ได้เกิดร่วมกับวิการรูปทั้ง ๓ คือ ลหุตา มุทุตา และกัมมัญญตา นั่นเอง

๒. ลหุตาทิเอกาทสกกลาป หมายถึง รูปกลาปที่เกิดขึ้นในขณะที่อาหารหรือยาต่าง ๆ เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า เบาสบาย หมายความว่า อาหารชกลาปที่เกิดจากยาหรืออาหารเหล่านี้ มีวิการรูปทั้ง ๓ เกิดร่วมด้วยนั่นเอง

อาหารชกลาปทั้ง ๒ นี้ เกิดเฉพาะภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิตเท่านั้น เกิดในสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายไม่ได้ เพราะอาหารชกลาปจะเกิดได้นั้น ต้องอาศัยกัมมชโอชาที่เกิดอยู่ภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้อุปการะแก่พหิทธโอชา คือ โอชาที่อยู่ในอาหาร ต่าง ๆ นั้นอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น รูปกลาปที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ ที่สัตว์ยังไม่ได้บริโภคเข้าไปนั้น ไม่ใช่เป็นอาหารชกลาป แต่เป็นอุตุชกลาปทั้งสิ้น

บรรดาต้นไม้และพืชพันธุ์นานาชนิด ที่เจริญเติบโต ออกดอก ออกผลได้ โดยอาศัยดิน น้ำ และปุ๋ย เป็นต้นเหล่านี้ โดยมากคนเราเข้าใจกันว่า ดิน น้ำ และปุ๋ยนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้อาหารชกลาปเกิดขึ้นแก่ต้นไม้ทั้งหลาย แต่ความจริงแล้ว ดิน น้ำ และปุ๋ยเป็นต้นเหล่านั้นไม่ได้ทำให้อาหารชกลาปเกิดแก่ต้นไม้แต่ประการใด เพียงแต่ทำให้อุตุชกลาป คือ ส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้นั่นเองเกิดขึ้นต่างหาก อนึ่ง ต้นไม้และพืชพันธุ์ทั้งหลายไม่สามารถบริโภคอาหารเหมือนอย่างสัตว์มีชีวิตได้ ดิน น้ำ และปุ๋ย เป็นต้น ที่ราดรดให้ต้นไม้นั้น ย่อมซึมซาบเข้าไปตามลำต้นกิ่งก้านและใบ โดยทางรากแก้ว รากฝอย และเนื้อเยื่อของต้นไม้ ซึ่งเป็นตัวอุตุชรูปเช่นกัน และก็เป็นไปตามธรรมชาติของพืชเท่านั้น ถ้าจะเรียกว่า “ต้นไม้กินอาหาร” ก็เรียกได้ แต่เป็นการเรียกตามโวหารหรือตามสมมุติของชาวโลกที่เรียกว่า “สมมุติโวหาร”เท่านั้น หาใช่เป็นไปตามสภาวปรมัตถ์ ที่เรียกว่า “ปรมัตถสัจจะ” ไม่ ทำนองเดียวกันกับที่เราพูดกันว่า “รถคันนี้กินน้ำมันมาก รถคันนี้กินน้ำมันน้อย” ซึ่งความจริงแล้ว รถหาได้กินน้ำมันเข้าไปไม่ แต่เป็นไปตามกระบวนการการกระทบกันเองของอุตุชรูปที่เป็นตัวรถและเครื่องจักรของรถกับน้ำมันเท่านั้น แล้วทำให้เกิดการเผาผลาญเป็นพลังงาน ทำให้รถสามารถแล่นไปได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |