| |
สภาวะของเวทนา ๕ ๑. สุขเวทนา   |  

๑. สุขเวทนา

สุขเวทนา เกิดขึ้นในขณะที่ทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งสัมผัสที่เป็นสุขทางกาย โดยการประกอบกับสุขสหคตกายวิญญาณจิต เรียกว่า สุขกาย อันเป็นผลของกุศลกรรม ทำให้ได้รับอารมณ์ที่ดี เรียกว่า อิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ การกระทบสัมผัสที่

ลักขณาทิจตุกะของสุขเวทนา

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของสุขเวทนา อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในเวทนาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อิฏฐะโผฏฐัพพานุภะวะนะลักขะณัง มีการเสวยโผฏฐัพพารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ หมายความว่า คุณสมบัติประจำตัวที่แสดงให้รู้ว่า นี้เป็นสภาพของสุขเวทนานั้น ก็คือ การได้รับอารมณ์ที่ดีซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกาย เช่น การได้สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่อ่อนนุ่มสบาย ทำให้เกิดความอบอุ่น หรือสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง การได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้า การได้อาบน้ำเย็นสบายในยามเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า การได้รับอากาศเย็น ๆในยามร้อน เป็นต้น ทำให้เกิดความสุขทางกาย ในขณะนั้น เวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมด้วยสุขสหคตกายวิญญาณจิต ย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งอิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ การกระทบสัมผัสที่ดี น่าปรารถนา น่าชอบใจ

๒. สัมปะยุตตานัง อุปะพ๎รูหะนะระสัง มีการทำให้สัมปยุตตธรรมเจริญขึ้น เป็นกิจรสเจ.๕ และสัมปัตติรสเจ.๖ หมายความว่า รสคือหน้าที่ของสุขเวทนานี้ เป็นกิจรสก็ได้ เป็นสัมปัตติรสก็ได้ กิจรส หมายถึง หน้าที่ที่จะต้องกระทำของสุขเวทนา สัมปัตติรส หมายถึง คุณสมบัติอันเกี่ยวเนื่องกับหน้าที่ สัมปัตติรสของสุขเวทนานี้ ได้แก่ การทำให้สัมปยุตตธรรมเจริญขึ้น คือ ทำให้จิตเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับตน ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่รับรู้นั้น และสามารถเกิดสืบเนื่องกันไปได้เป็นเวลานาน เมื่อจิตเจตสิก ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์และเกิดสืบเนื่องกันไปได้เป็นเวลานาน เช่น ได้ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดอ่อนนุ่ม แล้วเกิดความสบายกาย จิตใจก็พลอยมีความปลอดโปร่งเบาสบาย และมีความมั่นใจพร้อมที่จะทำกิจการงานต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ดังนี้เป็นต้น จึงเป็นอันรู้ได้ว่า บุคคลที่กำลังได้รับการกระทบสัมผัสทางกายที่ดีอยู่นี้ มีความสุขกาย นี่แหละคือ คุณสมบัติของสุขเวทนา ที่เรียกว่า สัมปัตติรส

๓. กายิกะอัสสาทะปัจจุปปัฏฐานัง มีความยินดีในความสุขกาย เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อบุคคลใดได้รับความสุขกายแล้ว จิตใจของบุคคลนั้น ก็พลอยรู้สึกมีความชื่นชมยินดีตามไปด้วย [ยกเว้นบุคคลที่มีปัญหาความทุกข์ ความคับแค้นใจในเรื่องต่าง ๆ อยู่ภายในใจ ซึ่งยังคลายออกไม่ได้] นี้เป็นผลปัจจุปปัฏฐานของสุขเวทนา ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการเสวยความสุขทางกาย เมื่อพระโยคีบุคคลได้พิจารณาสภาวะของสุขเวทนานี้แล้ว ย่อมรู้ได้ว่า ในขณะที่กำลังเสวยความสุขกายอยู่ จิตใจของผู้นั้นย่อมมีความชื่นชมยินดี เป็นอาการปรากฏออกมาให้พิจารณารู้ได้

๔. กายินท๎ริยะปะทัฏฐานัง มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่ความสุขกายจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีกายปสาท คือ กายปสาทรูปที่เกิดจากกรรม มีความสมบูรณ์พร้อม ไม่มีความบกพร่องหรือป่วยอาพาธใด ๆ เช่น ไม่เป็นอัมพฤกอัมพาต เป็นต้น คือ ความรู้สึกทางกายไม่เสียไป แต่ถ้าบุคคลใดไม่มีความรู้สึกทางกายแล้ว แม้จะได้รับโผฏฐัพพารมณ์ที่ดีก็ตาม ความสุขกายย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ความสุขทางกายนี้ จึงไม่มีแก่พวกรูปพรหมทั้งหลาย เพราะพวกรูปพรหมไม่มีกายปสาทรูป ส่วนพวกอรูปพรหมนั้นไม่มีรูปใดๆ เกิดอยู่แล้ว จึงไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกทางกายได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |