| |
สรุปความเรื่องมุทิตาเจตสิก   |  

สภาพของมุทิตาเจตสิกนี้ ย่อมทำให้จิตใจเข้าถึงความสงบระงับความไม่ยินดีทั้งปวงเป็นสมบัติ และทำลายการเกิดความเอิบอิ่มร่าเริงเป็นวิบัติ หมายความว่า ในขณะที่มุทิตาเจตสิกเกิดขึ้นนั้น ย่อมสามารถกำจัดอรติ คือ ความไม่ยินดีในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่นให้สงบระงับไปได้ แต่ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็อาจทำให้เกิดความร่าเริงด้วยอำนาจรติ คือ ความยินดีด้วยอำนาจโลภะได้ เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลแสดงความยินดีต่อบุคคลอื่นจนเกินขอบเขตของมุทิตาแล้ว ย่อมเกิดความร่าเริงด้วยอำนาจโลภะได้ ซึ่งจัดเป็นวิบัติของมุทิตา คือ เสียความเป็นมุทิตาไปนั่นเอง

มุทิตาเจตสิก อยู่ในกลุ่ม โสภณราสี คือ หมวดโสภณเจตสิก ๒๕ เป็น อัปปมัญญาเจตสิก คือ สภาวธรรมที่มีสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ ด้วยการยึดเอาสุขิตสัตว์ คือ สัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความสุข หรือจะได้รับความสุขในการข้างหน้าเนื่องจากได้พิจารณาเห็นเหตุแห่งความสุขนั้นแล้วมาเป็นอารมณ์

มุทิตาเจตสิกนี้ เป็น อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ไม่แน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุไว้ว่า ประกอบกับจิตดวงใดแล้ว แต่เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น อาจมีมุทิตาเจตสิกประกอบร่วมด้วยก็มี ไม่ประกอบร่วมด้วยก็มี และเป็นเจตสิกจำพวก นานากทาจิเจตสิก คือ ซึ่งเป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราวและเวลาประกอบก็ประกอบไม่พร้อมกัน ได้แก่ ในขณะที่ประกอบมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] ถ้าจิตเหล่านี้มีอารมณ์เป็นสุขิตสัตว์คือสัตว์หรือบุคคลที่กำลังมีความสุขหรือจะได้รับความสุขในกาลข้างหน้า มุทิตาเจตสิกนี้จึงจะประกอบกับจิตเหล่านี้ แต่ถ้าจิตเหล่านี้มีอารมณ์เป็นอย่างอื่น มุทิตาเจตสิกย่อมไม่ประกอบร่วมด้วย

มุทิตาเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๒๘ ดวง คือ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘และรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] ซึ่งเป็นการประกอบเป็นบางครั้งบางคราวและประกอบไม่พร้อมกัน เรียกว่า นานากทาจิเจตสิก ในรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] นั้น หมายเอาการประกอบในกรณีที่พระโยคีบุคคลใช้สุขิตสัตว์เป็นอารมณ์ในการเจริญสมถะจนฌานจิตเกิดขึ้น แต่ถ้าพระโยคีบุคคลใช้อารมณ์อื่นในการเจริญสมถะ มุทิตาเจตสิกย่อมไม่ประกอบกับฌานจิตนั้น ด้วยเหตุนี้ มุทิตาเจตสิกที่ประกอบในรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] จึงได้ชื่อว่า อนิยตโยคี ประเภทนานากทาจิกด้วย

มุทิตาเจตสิก ย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิกได้ ๓๓ ดวง คือ

ในขณะที่ประกอบกับมหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ และรูปาวจรจิต ๑๒ [เว้นปัญจมฌานจิต ๓] นั้น ย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิกได้ ๓๓ ดวง ได้แก่ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ และปัญญินทรียเจตสิก ๑


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |