| |
เหตุปัจจัยของเจตสิก ๔ ประการ   |  

เจตสิกธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิต เป็นไปเคียงคู่กับจิตได้นั้น ย่อมมีต้นเหตุทำให้เกิดได้ ๔ ประการ คล้ายกับจิตนั่นเอง คือ

๑. อดีตกรรม ๒. อารมณ์

๓. จิต ๔. วัตถุ

อธิบาย

๑. อดีตกรรม หมายถึง กรรมที่บุคคลได้เคยทำมาแล้วในอดีต เมื่อบุคคลทำกรรมใดไว้ วิบากกรรมย่อมส่งผลหรือเป็นปัจจัยให้ได้รับรู้ หรือแสดงปฏิกิริยาอย่างนั้นออกมาเสมอ ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตประเภทนั้น ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ดังที่เรียกว่า นิสัย หรือ สันดาน เช่น คนที่สั่งสมโลภะมามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับความโลภออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมโทสะมามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับโทสะออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมโมหะมามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับโมหะออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมเรื่องความศรัทธามามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับความศรัทธาออกมาเสมอ ๆ คนที่สั่งสมปัญญามามาก ย่อมแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับปัญญาออกมาเสมอ ๆ ดังนี้เป็นต้น อดีตกรรมนี้แหละเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรม หรือได้รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ไปตามอำนาจของตน เพราะอดีตกรรมเป็นสมบัติของบุคคลนั้นโดยตรง

๒. อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตเข้าไปรับรู้ ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ เมื่อมีอารมณ์มาปรากฏทางทวารต่าง ๆ อยู่เสมอ ย่อมทำให้จิตสามารถเกิดทางทวารนั้นได้บ่อย ๆ เพราะจิตแต่ละดวงที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องรองรับและมีทวารเป็นช่องทางออก จิตที่จะเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์เป็นเครื่องรับรู้นั้นไม่ได้ และอารมณ์ก็เป็นผลของอดีตกรรมเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลจึงรับรู้อารมณ์ได้ไม่เหมือนกัน หรือรับรู้อารมณ์ได้ไม่เท่ากัน เช่น อารมณ์อย่างเดียวกันแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์นั้นแตกต่างกัน หรืออยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ได้รับอารมณ์ไม่เหมือนกัน คนหนึ่งได้รับอารมณ์อย่างหนึ่ง แต่อีกคนหนึ่ง ได้รับอารมณ์อีกอย่างหนึ่งก็มี ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะได้กระทำกรรมมาไม่เหมือนกัน หรือเจตนาในการกระทำกรรมไม่เหมือนกันนั่นเอง

๓. จิต หมายถึง อาการเกิดขึ้นของจิตจึงเป็นปัจจัยให้เจตสิกธรรมทั้งหลายได้เกิดขึ้นมา ถึงแม้เจตสิกทั้งหลายจะมีอำนาจในการปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์และทำให้จิตมีสภาพแตกต่างกันออกไปถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงก็ตาม แต่ว่าการที่เจตสิกจะเกิดขึ้นได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการแรก ก็คือ อาการเกิดขึ้นของจิต หรือมีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ ปรากฏขึ้นก่อน ถ้าไม่มีอาการเกิดขึ้นของจิต หรือไม่มีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ ปรากฏขึ้นก่อนแล้ว เจตสิกทั้งหลายย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น พระอรหันต์ไม่มีเหตุปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้น อกุศลเจตสิกทั้งหมดจึงไม่สามารถเกิดกับพระอรหันต์ได้อีก หรือบรรดาอสัญญสัตตพรหมทั้งหลาย ไม่มีเหตุปัจจัยใด ๆ ให้จิตเกิดขึ้นเลย ด้วยเหตุนี้ เจตสิกทั้งหลายจึงไม่สามารถเกิดแก่พวกอสัญญสัตตพรหมได้ ตลอดอายุขัยที่เป็นอสัญญสัตตพรหม ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น การที่เจตสิกทั้งหลาย จะเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีจิตแสดงอาการจะเกิดขึ้นหรือมีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้น ๆ ปรากฏขึ้นก่อนแล้ว เจตสิกที่ประกอบกับจิตดวงนั้น ๆ จึงจะเกิดขึ้นได้

๔. วัตถุ หมายถึง กัมมชรูปที่จิตอาศัยเกิด ได้แก่ วัตถุรูป ๖ คือ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ฆานวัตถุ ชิวหาวัตถุ กายวัตถุ และหทยวัตถุ สำหรับบุคคลผู้เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิเจ.๒ นั้น จิตจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสถานที่อาศัยเกิด หรือต้องมีทวารเป็นช่องทางในการรับรู้อารมณ์ บุคคลใดมีวัตถุรูปเป็นที่อาศัยเกิดของจิตมาก บุคคลนั้นย่อมมีจิตที่อาศัยวัตถุรูปนั้นเกิดขึ้นได้มาก เช่น บุคคลที่เกิดในกามภูมิ ถ้ามีวัตถุรูปครบบริบูรณ์ทั้ง ๖ อย่าง ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หัวใจ จิตย่อมอาศัยวัตถุรูปเกิดได้ทั้ง ๖ อย่าง และสามารถเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร การรับรู้อารมณ์ของบุคคลนั้น ๆ ย่อมมีได้มาก แต่ถ้าบุคคลใดวัตถุรูปบกพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่ง สถานที่อาศัยเกิดของจิตย่อมน้อยลง และการรับรู้อารมณ์ก็ลดน้อยลงตามไปด้วย ถ้าบุคคลเกิดในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑] ย่อมมีวัตถุรูปเกิดได้เพียง ๓ อย่าง คือ ตา หู และหัวใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานที่อาศัยเกิดของจิตย่อมมีเพียง ๓ แห่ง และจิตย่อมอาศัยเกิดได้เพียง ๓ ทวาร ด้วยเหตุนี้ การรับรู้อารมณ์ของพวกอรูปพรหมทั้งหลายจึงมีน้อยลงตามไปด้วย ถ้าบุคคลเกิดในอรูปภูมิ ๔ ซึ่งเป็นภูมิที่ไม่มีรูปเกิดเลย เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใด ๆ เกิดเลย แต่อาศัยมโนทวาร ได้แก่ ภวังคจิตเกิด ที่ทำหน้าที่เป็นช่องทางให้จิตอาศัยเกิด เมื่อไม่มีวัตถุรูปเป็นที่อาศัยเกิด จิตที่ต้องอาศัยวัตถุรูปเกิดจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ จิตของพวกอรูปพรหมทั้งหลายย่อมเกิดได้น้อยลงตามไปด้วย ส่วนบุคคลที่เกิดในอสัญญสัตตภูมินั้นย่อมไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้นเลย มีแต่รูปเกิดอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ จิตของพวกอสัญญสัตต-พรหมจึงไม่มีการเกิดขึ้น [เพราะถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจฌานสมาบัติ จนกว่าจะสิ้นอายุขัยจากอสัญญสัตตภูมิ แล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาในกามสุคติภูมิต่อไปเหมือนกัน จึงจะมีจิตเกิดขึ้นใหม่อีก] เพราะฉะนั้น วัตถุรูปจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จิตของบุคคลที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ได้อาศัยเกิดขึ้น ถ้าบุคคลนั้นขาดวัตถุรูปใดไป จิตที่อาศัยวัตถุรูปนั้นเกิด ย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดแก่บุคคลนั้น เช่น คนที่ตาบอด จักขุวิญญาณจิต ย่อมไม่มีโอกาสเกิดแก่บุคคลนั้น คนที่หูหนวก โสตวิญญาณจิต ย่อมไม่มีโอกาสได้เกิดแก่บุคคลนั้น ดังนี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตสิกทั้งหลายที่ประกอบกับจิตดวงนั้น ๆ โดยเฉพาะ จึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

สรุปความแล้ว ในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ครบทั้ง ๕ นั้น ปัจจัย ๔ ประการนี้ย่อมมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ถ้าขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จิตดวงนั้น ๆ ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ส่วนในจตุโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์เพียง ๔ ขันธ์ ได้แก่ อรูปภูมิ ๔ นั้น ปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดขึ้นมีเพียง ๓ ปัจจัย คือ อดีตกรรม อารมณ์ และเจตสิกเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป จิตของอรูปพรหม ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้และเจตสิกทั้งหลายที่ประกอบกับจิตดวงนั้น ๆ ย่อมไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |