ไปยังหน้า : |
ความหมายของสันตติรูป
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๒๖ ได้แสดงสรุปเนื้อหาของสันตติรูปไว้ดังต่อไปนี้
คำว่า ตติ แปลว่า การดำเนินไป
คำว่า สันตติ แปลว่า การดำเนินไปสืบเนื่องกัน
อีกนัยหนึ่ง คำว่า สันตติ แปลว่า การดำเนินไปเสมอ หมายความว่า ความเป็นไปของรูปตามที่เกิดขึ้นโดยทำอัตภาพให้คงอยู่ได้นาน
สันตติรูป หมายถึง การเกิดขึ้นติดต่อกันของนิปผันนรูป ได้แก่ ความเกิดขึ้นของ นิปผันนรูปบ่อย ๆ หรือการเกิดขึ้นสืบต่อกันของนิปผันนรูป
เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว สันตติ จึงมีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. การดำเนินไปสืบเนื่องกัน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สมฺพนฺธา ตติ สนฺตติ” แปลความว่า การเป็นไปสืบเนื่องกัน ชื่อว่า สันตติ
๒. การดำเนินไปเสมอ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ปุนปฺปุนํ ตติ สนฺตติ” แปลความว่า การเป็นไปบ่อย ๆ ชื่อว่า สันตติ
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๔๒๗ ท่านได้แสดงความหมายของสันตติรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
ความสืบต่อ ชื่อว่า สันตติ อธิบายว่า [ได้แก่] ความสืบเนื่องกัน
ในอุปจยะและสันตติเหล่านั้น ตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงทสกะ มีจักขุทสกะ เป็นต้นเกิดขึ้น ความบังเกิดแห่งรูปในระหว่างนี้ ชื่อว่า อุปจยะ หลังจากเกิดจักขุทสกะเป็นต้นนั้นไป ชื่อว่า สันตติ
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๒๘ ได้แสดงความหมายของสันตติรูปไว้ดังต่อไปนี้
สันตติรูป หมายถึง การเกิดขึ้นสืบต่อกันของนิปผันนรูป หมายความว่า บรรดารูปที่เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อเกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งหลัง ๆ จนอวัยวะของสัตว์ครบบริบูรณ์ ชื่อว่า อุปจยรูป ต่อจากนั้น นับตั้งแต่อวัยวะครบบริบูรณ์เป็นต้นมา รูปเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นติดต่อสืบเนื่องกันเรื่อย ๆ ไปจนตลอดชีวิตนั้นเอง ชื่อว่า สันตติ
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของสันตติรูป
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๒๙ ได้แสดงวจนัตถะของสันตติรูปไว้ดังต่อไปนี้
สันตติรูป หมายถึง การเกิดขึ้นติดต่อกันของนิปผันนรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สํ ปุนปฺปุนํ ตติ = สนฺตติ” แปลความว่า ความเกิดขึ้นของนิปผันนรูปบ่อย ๆ ชื่อว่า สันตติ
อีกนัยหนึ่ง “สมฺพนฺธตติ = สนฺตติ” แปลความว่า การเกิดขึ้นสืบต่อกันของ นิปผันนรูป ชื่อว่า สันตติ
หมายความว่า บรรดารูปที่เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อเกิดขึ้นครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ มา จนอวัยวะของสัตว์นั้นครบบริบูรณ์ ชื่อว่า อุปจยรูป ต่อจากนั้น นับตั้งแต่อวัยวะครบบริบูรณ์เป็นต้นมา รูปเหล่านั้นยังคงเกิดขึ้นติดต่อสืบเนื่องกันเรื่อย ๆ ไป จนตลอดชีวิตนั่นเอง ชื่อว่า สันตติรูป
คุณสมบัติพิเศษของสันตติรูป
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๓๐ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของสันตติรูปไว้ดังต่อไปนี้
สันตติรูปมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกกะ ได้แก่
๑. ปวตฺติลกฺขณา มีความเป็นไปสืบเนื่องกัน เป็นลักษณะ
๒. อนุปฺปพนฺธนรสา มีการสืบเนื่องติดต่อกัน เป็นกิจ
๓. อนุปจฺเฉทปจฺจุปฏฺานา มีการไม่ขาดจากกัน เป็นอาการปรากฏ
๔. อตุปพนฺธกรรูปปทฏฺานา มีรูปที่สืบต่อกัน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
จากคุณสมบัติพิเศษของสันตติรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าจะได้อธิบายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจในรายละเอียดแห่งคุณสมบัติพิเศษแต่ละอย่างดังต่อไปนี้
๑. ปวตฺติลกฺขณา มีความเป็นไปสืบเนื่องกัน เป็นลักษณะ หมายความว่า สันตติรูปนี้ ก็ได้แก่ ความเป็นไปสืบเนื่องของนิปผันนรูปที่เกิดแล้ว [อุปจยะ] จนกว่ารูปนั้นจะเกิดครอบบริบูรณ์ หรือจนกว่าจะมีอวัยวะที่สมควรจะเกิดขึ้นจนครบบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น สันตติรูปนี้จึงเป็นเพียงอาการแห่งนิปผันนรูปเท่านั้น ไม่มีสภาวะลักษณะเป็นของตนเองโดยเฉพาะดังกล่าวแล้ว
๒. อนุปฺปพนฺธนรสา มีการสืบเนื่องติดต่อกัน เป็นกิจ หมายความว่า สันตติรูปนี้ย่อมเป็นเพียงอาการเป็นไปสืบเนื่องกันไปของนิปผันนรูป หลังจากนิปผันนรูปนั้นเกิดปรากฏขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น อาการเป็นไปสืบเนื่องกันแห่งนิปผันนรูปนั่นแหละ ท่านเรียกว่า สันตติรูป ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำเร็จมาแต่คุณสมบัติของตนโดยเฉพาะ ไม่มีใครหรือสิ่งใดมาจัดแจงหรือปรุงแต่งให้เป็นไปแต่ประการใด ที่เรียกว่า สัมปัตติรส เพราะสันตติรูปเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสภาพเป็นอจิตตกะ คือ ธรรมชาติที่ไม่มีเจตนาปรุงแต่งหรือจัดแจงให้เป็นไปแต่ประการใด ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยล้วน ๆ
๓. อนุปจฺเฉทปจฺจุปฏฺานา มีการไม่ขาดจากกัน เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า การที่นิปผันนรูปทั้งหลายเกิดสืบเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสายนั่นแหละ ท่านเรียกว่า สันตติรูป โดยสภาพแห่งการสืบต่อกันไปไม่ขาดสายนั้นแหละ จึงชื่อว่า เป็นอาการปรากฏของสันตติรูป เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่า สันตติรูป นี้ จึงได้แก่ อาการที่นิปผันนรูปเกิดติดต่อกันไปไม่ขาดสายนั่นเอง ไม่ใช่เป็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีสภาวะลักษณะหรือมีรูปร่างสัณฐานอยู่โดยเฉพาะเหมือนนิปผันนรูปแต่ประการใด
๔. อตุปพนฺธกรรูปปทฏฺานา มีรูปที่สืบต่อกัน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า สันตติรูปจะปรากฏมีได้ ก็เพราะมีนิปผันนรูปกำลังเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้านิปผันนรูปไม่มีการเกิดสืบเนื่องกันอยู่ หรือถ้าไม่มีนิปผันนรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว สันตติรูปย่อมไม่สามารถปรากฏขึ้นได้ เปรียบเหมือนเงาของสัตว์หรือสิ่งทั้งปวง ถ้าไม่มีสัตว์หรือสิ่งทั้งปวงปรากฏเกิดขึ้นแล้ว เงาของสัตว์หรือสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย