| |
บทสรุปเรื่องกายวิญญัติรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๖๖ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องกายวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

เมื่อบุคคลจะเปลี่ยนท่าทางอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยอำนาจของจิต กองลมที่เกิดจากจิตย่อมเกิดขึ้นแล่นไปทั่วอวัยวะน้อยใหญ่ ค้ำจุนอวัยวะนั้น ๆ ให้เคลื่อนไหวได้ และเมื่อกองลมเกิดขึ้นอยู่ มิได้เกิดโดยไม่มีทิศทาง [เกิดตามทิศทางของลม กล่าวคือ ไหลไปตามอวัยวะน้อยใหญ่] แต่กายที่เคลื่อนไหวซึ่งเกิดร่วมกับกองลมที่เกิดจากจิตทำให้กองลมทั้งหมดเกิดขึ้นต่อหน้าทิศทางที่ต้องการ อาการพิเศษคือกายที่เคลื่อนไหวนี้ ชื่อว่า กายวิญญัติ

ความจริง กายวิญญัตินั้นเปรียบเหมือนนายท้ายเรือ กองลมเปรียบเหมือนเรือ นายท้ายเรือยืนอยู่ท้ายเรือแล้ว จับหางเสือใหญ่อย่างมั่นคง บังคับเรือใหญ่ทั้งลำให้แทรกกระแสน้ำบ่ายหน้าไปสู่ทิศทางที่ต้องการ โดยไม่ให้เรือล่องไปสู่ทิศทางที่ไม่มีกำหนด ข้อนี้ก็มีอุปไมย ฉันนั้น โดยแท้ที่จริงแล้ว วิญญัติรูปมีขณะจิตหนึ่ง เกิดขึ้นในกองลมส่วนแรกที่เกิดจากจิต ย่อมบังคับกองลมให้บ่ายหน้าไปสู่ทิศทางที่ตนปรารถนาอย่างนี้ จึงเหมือนนายท้ายเรือ

ในคัมภีร์อรรถกถามีแสดงไว้ว่า

เอกชวนวีถิยํ สตฺตสุ ชวเนสุ ปมชวนสมุฏฺาตา วาโยธาตุ อตฺตนา สหชาตรูปกายํ สนฺถมฺเภตุ สนฺธาเรตุ สกฺโกติ ฯ อปราปรํ ปน จาเลตุ น สกฺโกติ ฯ ทุติยาทีสุปิ เอเสว นโย ฯ สตฺตมจิตฺเตน ปน สมุฏฺาตา วาโยธาตุ เหฏฺา ฉหิ จิตฺเตหิ สมุฏฺตํ วาโยธาตุอุปตฺถมฺภนปจฺจยํ ลภิตฺวา อตฺตนา สหชาตํ รูปกายํ สนฺถมฺเภตุ จาเลตุ อภิกฺกมาเปตุ สกฺโกติ รุ.๓๖๗” แปลความว่า บรรดาชวนจิต ๗ ดวงในชวนวิถีจิตหนึ่งวิถี วาโยธาตุที่เกิดจากชวนจิตดวงแรกค้ำจุนรูปกายที่เกิดร่วมกับตนไว้ได้ แต่ทำให้เคลื่อนไหวไปมาไม่ได้ ชวนจิตดวงที่ ๒ เป็นต้นก็เหมือนกัน ส่วนวาโยธาตุที่เกิดร่วมกับชวนจิตดวงที่ ๗ ได้รับปัจจัยอุปถัมภ์คือวาโยธาตุที่เกิดจากชวนจิต ๖ ดวงก่อน จึงค้ำจุนรูปกายนี้ทำให้เคลื่อนไหวก้าวไปได้”

ข้อความข้างต้นนั้นหมายเอาวาระที่มีการก้าวไปสู่สถานที่อื่น กล่าวคือ การเคลื่อนไหวในเมื่อชวนวาระหลายพันขณะเกิดขึ้นแก่ผู้ทรงตัวอยู่โดยคิดว่า เราจะก้าวไป เพราะความเคลื่อนไหวย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยชวนวาระเล็กน้อย ถ้าเกิดขึ้นได้จริง เหล่าสัตว์ก็ควรจะไปได้รวดเร็วยิ่งนัก [เหมือนดังใจนึก] เหมือนการที่ผู้มีฤทธิ์เหาะไปด้วยฤทธิ์ฉันนั้น

ถามว่า เหตุใดความเคลื่อนไหวจึงเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยชวนวาระเล็กน้อย

ตอบว่า เพราะจิตแสนโกฎิขณะมากมายได้เกิดขึ้นในขณะหนึ่ง ดังนั้น การค้ำจุนไว้ได้จึงเกิดในชวนวาระก่อนจากชวนวาระจิตดวงที่ ๗ และการอุปมาเกวียนเทียมแอก ๗ เล่ม ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถารุ.๓๖๘ นี้ ย่อมสมควรในการอุปถัมภ์ต่อ ๆ มาของวาโยธาตุที่เกิดในชวนวิถีต่างกัน

แม้กองอุตุชรูปที่เกิดในกระแสแห่งจิตตชรูปที่เคลื่อนไหวก็เหมือนกระแสจิตตชรูปนั้น คือ ดำเนินไป มีการเคลื่อนไหวเหมือนกับรูปที่ประกอบด้วยวิญญัติ การเคลื่อนไหวมีการก้าวไปเป็นต้นในเวลาเกิดภวังคจิต จึงมีได้ในระหว่าง ๆ ของชวนวิถีจิตต่าง ๆ ที่เกิดก่อนและเกิดทีหลังจากภวังคจิต ทั้งรูปที่เกิดจากเหตุ ๔ อย่าง [กรรม จิต อุตุ อาหาร] อันเป็นไปเนื่องกัน ย่อมคล้อยตามกระแสจิตตชรูปโดยประการทั้งปวง เหมือนกับเป็นรูปที่มีเหตุเดียวกันในอารมณ์หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อจิตตชรูปเคลื่อนอยู่ รูปอื่นก็เคลื่อนไปเช่นกัน การเคลื่อนไปในข้อนี้ หมายถึง การเกิดต่อ ๆ กันมาของกองรูปภายหลังด้วยอาการดำรงอยู่ตามที่เป็นไปในสถานที่อื่นจากสถานที่เกิดก่อนของกองรูปเบื้องแรก เพราะรูปธรรมกับนามธรรมที่ยังไม่ดับสูญย่อมไม่ย้ายไปสู่สถานที่อื่นแม้เพียงปลายเส้นผม มิฉะนั้นแล้ว รูปธรรมกับนามธรรมก็ไม่ควรจะมีลักษณะดำรงชั่วขณะ ปราศจากความขวนขวาย และไม่อยู่ในอำนาจ [เอกงฺขณิกํ อพฺยากตํ อนตฺตา]

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๖๙ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องกายวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิการแห่งวาโยธาตุซึ่งมีจิตยังความคิดที่จะก้าวไปข้างหน้าเป็นต้นให้เกิดขึ้นเป็นสมุฏฐาน ที่เป็นเหตุทำร่วมกันในการค้ำจุนทรงอยู่และการเคลื่อนไหวแห่งรูปที่เกิดร่วมกัน ที่พ้นจากการไหวอยู่และความเคลื่อนไหวแห่งรูปกาย ดุจวิการแห่งความอุตสาหะในเวลาที่บุคคลยกหินแผ่นใหญ่ถือไว้ด้วยกำลังทั้งหมด ชื่อว่า กายวิญญัติ จริงอยู่ กายวิญญัตินั้น ย่อมยังบุคคลอื่นให้รู้ความประสงค์ด้วยกายที่เคลื่อนไหวอยู่ แท้จริง ในความเคลื่อนไหวแห่งต้นไม้เป็นต้น ที่พ้นจากวิการคือวิญญัติ บัณฑิตไม่เห็นการถือเอาความประสงค์ว่า “บุคคลนี้ใช้ให้ [ต้นไม้] ทำการนี้” ดังนี้แล และตนเองก็รู้ด้วยกาย เพราะพวกมโนทวารชวนะ อันมีลำดับไม่ปรากฏ ยึดอยู่ในลำดับแห่งการถือเอาความประสงค์แห่งกายที่เคลื่อนไหวอยู่ในการเคลื่อนไหวแห่งมือ เป็นต้น

มีคำถามสอดเข้ามาว่า ความเคลื่อนไหวแห่งมือเป็นต้น มีได้ด้วยอำนาจวิญญัติ โดยประการใดเล่า? ตอบว่า “บรรดาชวนะทั้ง ๗ ดวง ในวิถีแห่งอาวัชชนะเดียวกัน วาโยธาตุอันมีชวนะดวงที่ ๗ เป็นสมุฏฐาน ประกอบด้วยวิการคือวิญญัติ ได้รับความอุปถัมภ์แล้วจากพวกวาโยธาตุ อันมีปฐมชวนะเป็นต้นเป็นสมุฏฐาน ย่อมยังจิตตชรูปให้เคลื่อนไหว เพราะเป็นเหตุแห่งความเกิดในประเทศส่วนอื่น” ส่วนวาโยธาตุที่เกิดแต่ชวนะดวงเดิมเป็นต้น ทำหน้าที่เพียงค้ำจุนและทรงไว้ ย่อมมีเพื่ออุดหนุนแก่วาโยธาตุที่เกิดแต่ชวนะดวงที่ ๗ นั้น ข้อนี้พึงเห็นสมความอุปมาเหมือนในเกวียนที่โคจะต้องลากไปด้วยแอก ๗ แอก คู่โคที่เขาเทียมไว้ในแอกที่ ๗ เท่านั้น ได้รับอุปถัมภ์จากโคที่เทียมไว้ในแอก ๖ แอกเบื้องต้น จึงยังเกวียนให้เคลื่อนที่ได้ ส่วนคู่โคที่เขาเทียมไว้ในแอกที่ ๑ เป็นต้น [จนถึงแอกที่ ๖] ย่อมให้สำเร็จกิจเพียงช่วยเหลือและทรงไว้เป็นต้นเท่านั้น มีเพื่ออุดหนุนแก่คู่โคที่เขาเทียมไว้ในแอกที่ ๗ เท่านั้น

ก็ความเคลื่อนไหวในอธิการนี้ คือ ความเกิด [ปรากฏ] ในที่อื่น เพราะธรรมทั้งหลายจะก้าวไปจากสถานที่ที่ตนเกิดแล้ว แม้เพียงปลายเส้นผมก็ไม่มี เมื่อประสงค์จะถือเอาความอย่างอื่น ธรรมเหล่านั้นก็ไม่พึงมีความขวนขวายและความประกอบในขณะ บัณฑิตพึงทราบความสันนิษฐานดังนี้ว่า ก็ชื่อว่า ความเป็นเหตุแห่งการเกิดในที่อื่นนั้น ได้แก่ การเกิดในที่นั้นร่วมกับสหชาตรูปเหล่านั้น ดุจรูปที่เกิดพร้อมกันกับตน [วาโยธาตุ] เกิดในที่อื่นจากที่อันรูปซึ่งเกิดในชวนะหลังตั้งอยู่แล้วฉันนั้นนั่นแล

ก็ในรูปเหล่านั้น เมื่อจิตตชรูปเคลื่อนไหวแล้ว แม้รูปนอกนี้ก็ไหว เพราะเกี่ยวเนื่องด้วยจิตตชรูปนั้น ดุจก้อนโคมัยแห้งที่โยนลงในกระแสแม่น้ำฉันนั้น วาโยธาตุที่เกิดในปฐมชวนะเป็นต้น แม้ไม่อาจเคลื่อนไหวได้ด้วยเหตุเช่นนั้น ก็ยังเป็นไปกับด้วยวิการคือวิญญัตินั่นเอง เพราะเกิดมีวิการ คือ ความบ่ายหน้าไปสู่ทิศที่บุรุษนี้ต้องการ ยังกิจมีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้นให้เป็นไป ก็ท่านพระอนุรุทธาจารย์ครั้นได้อธิบายไว้อย่างนี้แล้ว จึงได้กล่าวภาวะแม้แห่งมโนทวาราวัชชนะที่ยังวิญญัติให้เกิด ด้วยประการฉะนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |