| |
เครื่องหมายให้สังเกตรู้ภาวรูป ๔ ประการ   |  

ภาวรูปทั้ง ๒ คือ อิตถีภาวรูปและปุริสภาวรูปนั้น เป็นสุขุมรูป คือ รูปที่ละเอียด ไม่แสดงรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะโดยเฉพาะของตนปรากฏออกมาให้รับรู้ได้ด้วยทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่อย่างใด เป็นรูปที่รู้สึกได้ด้วยใจของตนเฉพาะบุคคลนั้นเท่านั้น ซึ่งยากที่จะบอกหรืออธิบายให้คนอื่นทราบรายละเอียดทั้งหมดได้ กล่าวคือ ผู้หญิงจะบอกถึงความรู้สึกในความเป็นผู้หญิงของตนเองให้คนอื่น [โดยเฉพาะผู้ชาย] รับรู้เหมือนที่ตนเองรู้สึกได้ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นการยาก ผู้ชายก็เช่นเดียวกัน จะบอกถึงความรู้สึกในความเป็นผู้ชายของตนเองให้คนอื่น [โดยเฉพาะผู้หญิง] ได้รับรู้เหมือนที่ตนเองรู้สึกทั้งหมดนั้น ก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น บุคคลอื่นจะสามารถสังเกตรู้ถึงความเป็นหญิงหรือความเป็นชายของบุคคลอื่นได้ ก็ด้วยอาศัยเครื่องหมาย ๔ อย่างเหล่านี้รุ.๒๕๒ คือ

๑. ลิงคะ หมายถึง เพศที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดขึ้นมา และติดตามมาด้วย รูปร่างสัณฐาน เช่น แขน ขา หน้าตา และเพศ [อวัยวะเพศ] เป็นต้น

๒. นิมิตตะ หมายถึง เครื่องหมาย ได้แก่ สิ่งที่ปรากฏออกมาในโอกาสต่อ ๆ มา เช่น หนวด เครา ขนที่ขึ้นตามร่างกาย หน้าอก เป็นต้น

๓. กุตตะ หมายถึง นิสัย ได้แก่ พฤติกรรมที่แสดงออกมาในโอกาสต่อ ๆ มา เช่น การเล่น ของเล่น การกระทำต่าง ๆ งานที่เลือกทำ งานที่ถนัด เป็นต้น

๔. อากัปปะ หมายถึง กิริยาอาการ ได้แก่ อาการแห่งอิริยาบถและการพูดคุย เช่น การเดิน ยืน นั่ง นอน การกิน การพูด เสียงที่เปล่งออกมา เป็นต้น

เครื่องหมายที่แสดงให้รู้ถึงความเป็นหญิงและความเป็นชายทั้ง ๔ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยอิตถีภาวรูปหรือปุริสภาวรูปเป็นใหญ่เป็นประธาน ด้วยเหตุนี้ รูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย และกิริยาอาการ ของบุรุษกับสตรีจึงแตกต่างกันไป ซึ่งให้สังเกตรู้ได้ว่า เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย แต่ก็ไม่ใช่เป็นเกณฑ์มาตรฐานแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเครื่องหมายเหล่านี้ อาจมีความสับสนในตัวสตรีหรือบุรุษบางคนได้ เช่น สตรีบางคนรูปร่างสัณฐาน เช่น แขน ขา หรือหน้าตา เป็นต้นเหมือนผู้ชาย มีหนวดเคราคล้ายผู้ชาย มีนิสัย ชอบการเล่น ชอบทำงานแบบผู้ชาย ตลอดถึงลักษณะการยืน เดิน นั่ง นอน การกิน การพูดคุย หรือเสียงที่เปล่งออกมาเหมือนผู้ชาย แทบทั้งสิ้น ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือถ้าไม่บอกความจริง ย่อมรู้ไม่ได้ว่าเป็นเพศหญิง

อนึ่ง บุรุษบางคนก็มีรูปร่างสัณฐาน เช่น แขน ขา หรือหน้าตา เป็นต้นเหมือนผู้หญิง หน้าตาผิวพรรณคล้ายผู้หญิง มีนิสัย ชอบการเล่น ชอบทำงานแบบผู้หญิง ตลอดถึงลักษณะการยืน เดิน นั่ง นอน การกิน การพูดคุย หรือเสียงที่เปล่งออกมาเหมือนผู้หญิงก็มี

ด้วยเหตุนี้ ภาวรูปทั้ง ๒ นี้ จึงเป็นธัมมารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่รับรู้และรู้สึกได้ด้วยใจของตัวบุคคลนั้นเองโดยชัดเจนและแน่นอน ส่วนบุคคลอื่นจะรู้ได้ก็โดยอาศัยการสังเกตจากเครื่องหมายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |