| |
ฌานจิต   |  

ฌานจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพเข้าถึงความแนบแน่นในอารมณ์เป็นอัปปนาสมาธิ และสามารถประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองได้ตามสมควรแก่กำลังของฌานจิตนั้น ๆ และตามสมควรแก่สภาพของฌานจิตนั้น ๆ มี ๖๗ ดวง กล่าวคือ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๔๐ ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ไว้ดังต่อไปนี้

(๑๔) ยะถา จะ รูปาวะจะรัง คัยหะตานุตตะรัง ตะถา
ปะฐะมาทิชฌานะเภเท อารุปปัญจาปิ ปัญจะเมฯ
(๑๕) เอกาทะสะวิธัง ตัส๎มา ปะฐะมาทิกะมีริตัง
ฌานะเมเกกะมันเตตุ เตวีสะติวิธัง ภะเวฯ

แปลความว่า

๑๔. รูปาวจรจิต นับสงเคราะห์เข้าในฌานทั้ง ๕ มี ปฐมฌาน เป็นต้นได้ฉันใด โลกุตตรจิต ก็นับสงเคราะห์เข้าในฌานจิตทั้ง ๕ มีปฐมฌาน เป็นต้นได้ฉันนั้น ส่วน อรูปาวจรจิต ๑๒ นั้น นับสงเคราะห์เข้าในปัญจมฌาน [อย่างเดียว]

๑๕. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ฌานจิตอันหนึ่ง ๆ มีปฐมฌาน เป็นต้น มีจำนวน ๑๑ ดวง ส่วนปัญจมฌานนั้น มี ๒๓ ดวง

อธิบายความว่า

คาถานี้เป็นการแสดงการรวบรวมฌานจิตที่เป็นโลกียะและโลกุตตระทั้งหมด คือ ปฐมฌานจิต มี ๑๑ ได้แก่ รูปาวจรปฐมฌานจิต ๓ โลกุตตรปฐมฌานจิต ๘ แม้ทุติยฌานจิต ๑๑ ตติยฌานจิต ๑๑ จตุตถฌานจิต ๑๑ ก็นับเป็นไปในทำนองเดียวกันกับปฐมฌานจิตนี้ ส่วนปัญจมฌานจิต ๒๓ นั้น ได้แก่ โลกียะปัญจมฌานจิต ๑๕ [คือ รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ อรูปาวจรจิต ๑๒] และโลกุตตรปัญจมฌานจิต ๘

ปฐมฌานจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มี ๑๑ ดวง ได้แก่ รูปาวจรปฐมฌานจิต ๓ โลกุตตรปฐมฌานจิต ๘

ทุติยฌานจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มี ๑๑ ดวง ได้แก่ รูปาวจรทุติยฌานจิต ๓ โลกุตตรทุติยฌานจิต ๘

ตติยฌานจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา มี ๑๑ ดวง ได้แก่ รูปาวจรตติยฌานจิต ๓ โลกุตตรตติยฌานจิต ๘

จตุตถฌานจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา มี ๑๑ ดวง ได้แก่ รูปาวจรจตุตถฌานจิต ๓ โลกุตตรจตุตถฌานจิต ๘

ปัญจมฌานจิต หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา มี ๒๓ ดวง ได้แก่ รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรปัญจมฌานจิต ๘


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |