| |
องค์ฌานที่หยาบกว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อฌานจิตขั้นสูง   |  

วิตก เป็นปฏิปักษ์ต่อ ทุติยฌาน

วิจาร เป็นปฏิปักษ์ต่อ ตติยฌาน

ปีติ เป็นปฏิปักษ์ต่อ จตุตถฌาน

สุข เป็นปฏิปักษ์ต่อ ปัญจมฌาน

อธิบายความว่า

วิตกเป็นปฏิปักษ์ต่อทุติยฌาน เพราะวิตกนั้น มีสภาพที่ทำให้สัมปยุตตธรรมยกจิตขึ้นสู่อารมณ์อยู่เสมอ ทำให้จิตไม่แนบแน่นนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียวและละเอียดลึกลงไปอีก อาจทำให้จิตหลุดจากอารมณ์กรรมฐานนั้นและปฐมฌานจิตนั้นก็สามารถเสื่อมได้ง่าย เพราะฉะนั้น ปฐมฌานลาภีบุคคลพึงพิจารณาเห็นโทษของวิตกนี้ว่า เป็นสภาพที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่น ๆ มีวิจารเป็นต้น แล้วตัดความเยื่อใยในวิตกนั้นเสีย โดยไม่ใส่ใจต่อสภาพของวิตกนั้นอีก หันไปใส่ใจในสภาพของวิจารว่า สภาพของวิจารนี้มีความประณีตกว่า เพราะไม่มีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ใหม่และมีแต่อาการแต่เคล้าคลึงพอใจอยู่ในอารมณ์เดียวโดยไม่รวนเรเคลือบแคลงให้จิตแหนงหน่ายจากอารมณ์นั้นแต่อย่างใด เมื่อปฐมฌานลาภีบุคคลพิจารณาเห็นโทษของวิตกและได้ตัดความเยื่อใยในวิตกนั้นได้แล้ว ทุติยฌานจิตย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

วิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อตติยฌาน เพราะวิจารนั้น มีสภาพที่ทำให้สัมปยุตตธรรมเคล้าคลึงคลอเคลียอยู่ในอารมณ์ ซึ่งมีสภาพความรู้สึกที่ยังหยาบอยู่ จิตสามารถเกิดความรวนเรแหนงหน่ายหลุดไปจากอารมณ์นั้นได้ง่าย เพราะฉะนั้น ทุติยฌานลาภีบุคคลพึงกำหนดพิจารณาเห็นโทษของวิจารให้เด่นชัด แล้วตัดความเยื่อใยในสภาพของวิจารนั้นเสีย หันไปใส่ใจในสภาพของปีติว่า ปีตินี้ มีสภาพที่ประณีตละเอียดอ่อนกว่าวิจาร เพราะเป็นสภาพที่ซึมซาบเอิบอาบอยู่ในอารมณ์ ทำให้สมาธิจิตมีความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้ดีกว่า เมื่อทุติยฌานลาภีบุคคลพิจารณาเห็นโทษของวิจารและเห็นประโยชน์ของปีติเช่นนี้แล้วก็ตัดความเยื่อใยในวิจารนั้นเสีย เมื่อนั้น ตติยฌานจิต ก็ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

ปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อจตุตถฌาน เพราะปีตินั้น มีลักษณะเอิบอาบซึมซาบไปในอารมณ์อยู่เสมอ ซึ่งยังเป็นสภาพที่ปรากฏเป็นสภาพหยาบ ทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นประณีตลึกลงไปอีก ตติยฌานจิตนั้นอาจเลื่อนสภาพลงมาอยู่ที่ทุติยฌานได้ง่าย เพราะฉะนั้น ตติยฌานลาภีบุคคล จึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษของปีติว่า เป็นสภาพที่ทำให้สัมปยุตตธรรมมีความยินดีโลดโผนในอารมณ์จนอาจทำให้ติดใจหลงใหล และเสื่อมจากฌานได้ง่าย เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว จึงตัดความเยื่อใยในสภาพของปีตินั้นเสีย แล้วหันมาใส่ใจในสภาพของสุข คือ โสมนัสสเวทนาว่า เป็นสภาพที่มีความละเอียดประณีตกว่าปีติหลายเท่า และมีสภาพเป็นความสุขสงบเย็นไม่มีอาการโลดโผนเหมือนกับสภาพของปีติ เมื่อตัดความเยื่อใยในสภาพของปีติได้แล้ว จตุตถฌานจิตก็ย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา

สุขเป็นปฏิปักษ์ต่อปัญจมฌาน เพราะสุขหรือโสมนัสสเวทนานั้น มีสภาพที่พึงพอใจสุขใจอยู่ในอารมณ์ ความรู้สึกก็ยังหยาบอยู่ อาจติดสุขแล้วหลงใหลเคลิบเคลิ้ม สมาธิจิตอาจเลื่อนลงไปอยู่ที่ตติยฌานได้อีก ฉะนั้น จตุตถฌานลาภีบุคคล จึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษของสุขว่า สุขนี้มีสภาพพึงพอใจในอารมณ์และหลงใหลในการลิ้มชิมรสของอารมณ์อยู่เสมอ ทำให้เกิดอาการหวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ง่าย ทำให้สมาธิจิตไม่ประณีตแนบแน่นละเอียดลึกลงไปอีก แล้วตัดความเยื่อใยในสภาพของสุขนั้นเสีย พิจารณาเห็นว่า อุเบกขาเวทนาเป็นสภาพที่ละเอียดอ่อนกว่า มีความวางเฉยต่ออารมณ์ สามารถวางใจเป็นกลางต่ออารมณ์นั้นได้ สมาธิจิตย่อมมีความมั่นคงต่อสภาพของอารมณ์ได้ดีกว่า โดยไม่มีอาการหวั่นไหวต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาเห็นโทษของสุข และพิจารณาเห็นคุณของอุเบกขาเวทนาอย่างนี้แล้ว ย่อมตัดความเยื่อใยในสุขนั้นได้ เมื่อนั้นปัญจมฌานจิตย่อมเกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

เพราะฉะนั้น ฌานลาภีบุคคลที่ได้ปฐมฌานแล้ว เมื่อต้องการก้าวขึ้นไปสู่ฌานเบื้องสูงโดยลำดับ จะต้องกำหนดละองค์ฌานที่มีสภาพหยาบกว่าหรือที่มีสภาพปรากฏชัดมากกว่าองค์ฌานอื่นทั้งหมด อันจะทำให้สมาธิจิตคลอเคลียอยู่ในสภาพธรรมนั้นมากเกินไป ไม่สามารถแนบแน่นในอารมณ์ที่ประณีตและละเอียดอ่อนลงไปโดยลำดับได้ หรือสมาธิจิตไม่ก้าวหน้าขึ้นไปได้ เมื่อกำหนดพิจารณาเห็นโทษขององค์ฌานที่หยาบกว่า และเห็นคุณขององค์ฌานที่ประณีตกว่าอย่างนี้แล้ว ย่อมสามารถกำหนดละองค์ฌานที่หยาบกว่า แล้วยึดเอาสภาพขององค์ฌานที่ประณีตกว่า พร้อมกับก้าวขึ้นไปสู่ฌานขั้นสูงได้ตามลำดับ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |