| |
ความหมายของปริจเฉทรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๔๓ ท่านได้แสดงความหมายของปริจเฉทรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า อากาสะ หมายถึง ช่องว่างที่ทำให้วัตถุสิ่งของหรือรูปกลาปนั้น ๆ ปรากฏชัดเป็นอย่าง ๆ ที่ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีสภาพไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ชีวะ

คำว่า อากาสธาตุ หมายถึง ธาตุคือช่องว่าง

คำว่า ปริจเฉทะ หมายถึง รูปที่กำหนดขอบเขตรอบด้าน กล่าวคือ กระทำมหาภูตรูปในรูปกลาปอื่นไม่ให้ระคนกัน ไม่ให้เข้าถึงความเป็นอันเดียวกันกับมหาภูตรูปในรูปกลาปอื่นที่ต่างกัน

อีกนัยหนึ่ง คำว่า ปริจเฉทะ หมายถึง รูปที่ถูกมหาภูตรูปในรูปกลาปอื่นกำหนดไว้ กล่าวคือ ตั้งไว้เฉพาะในท่ามกลางโดยไม่ทำให้เป็นรูปของตนหรือของรูปอื่น

อีกนัยหนึ่ง คำว่า ปริจเฉทะ หมายถึง รูปที่เป็นช่องว่างของมหาภูตรูปในรูปกลาปอื่น มิได้เป็นสภาวธรรมชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ ที่ประกอบด้วยการเกิดขึ้น ทั้งมิได้เป็นฝ่ายของรูปกลาปอันใดอันหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว ปริจเฉทรูปนี้ย่อมมีความหมาย ๓ ประการคือ

๑. รูปที่กำหนดขอบเขตรอบด้าน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ปริโต ฉินฺทตีติ ปริจฺเฉโท” แปลความว่า รูปใดย่อมกำหนดรอบด้าน เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ปริจเฉทะ

๒. รูปที่ถูกมหาภูตรูปกำหนดไว้ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ปริจฺฉินฺทียตีติ ปริจฺเฉโท” แปลความว่า รูปใดอันมหาภูตรูปย่อมกำหนดไว้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ปริจเฉทะ

๓. รูปที่เป็นช่องว่างของมหาภูตรูป ตามนัยนี้ เป็นบทที่แยกรากศัพท์ไม่ได้ และไม่มีรูปวิเคราะห์หรือวจนัตถะ จึงเรียกว่า อนิปผันนปาฏิปทิกะ [แปลว่า บทที่แยกรากศัพท์ไม่ได้]

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๔๔ ท่านได้แสดงความหมายของปริจเฉทรูปไว้ดังต่อไปนี้

ประเทศที่ชื่อว่า อกาส เพราะอรรถว่า อันบุคคลจะไถไม่ได้ อกาสนั่นแหละ ชื่อว่า อากาศ และชื่อว่า ธาตุ เพราะอรรถว่า ไม่มีชีวิต เหตุนั้น จึงชื่อว่า อากาสธาตุ รูปที่เป็นเครื่องกำหนดรูป ซึ่งเป็นไปในกลาปหนึ่ง ๆ มีจักขุทสกกลาปเป็นต้น ด้วยอำนาจให้ถึงความเป็นรูปที่ไม่ปะปนกันกับกลาปอื่น ๆ หรือรูปที่กลาปเหล่านั้นกำหนดไว้ หรือรูปที่เป็นเพียงการกำหนดรูปกลาปเหล่านั้น ชื่อว่า ปริจเฉทรูป จริงอยู่ ปริจเฉทรูปนี้ เป็นเหมือนกำหนดรูปกลาปนั้น ๆ ไว้ ก็เมื่อภาวะแห่งภูตรูปในกลาปอื่น อันภูตรูปในกลาปอื่นถูกต้องแล้ว แม้จะมีอยู่ที่สุดรอบแห่งรูป เป็นความว่างเปล่าจากรูปนั้น ๆ ชื่อว่า อากาส ก็แล ตนเองอันรูปที่กำหนดไว้เหล่านั้นไม่ถูกต้องเลย เมื่อมีภาวะแห่งรูปที่ไม่ถูกต้องกันอันไม่ควรกำหนดอย่างอื่น ความเป็นปริจเฉทรูปก็ไม่พึงมี เพราะรูปเหล่านั้นย่อมถึงความแพร่หลายติดกันไปทั่ว จริงอยู่ ภาวะแห่งรูปทั้งหลายที่ไม่ติดกัน ชื่อว่า อสัมผุฏฐตา เพราะเหตุนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า “รูปที่มหาภูตรูปทั้ง ๔ ไม่ถูกต้องแล้ว [ชื่อว่า ปริจเฉทรูป]”

บทสรุปของผู้เขียน :

ปริจเฉทรูป เป็นอากาศธาตุ คือ ช่องว่างที่คั่นระหว่างรูปกลาปต่อรูปกลาป ไม่มีสภาวะของตนเองโดยเฉพาะ มีแต่ความว่างเหมือนดังอากาศ ปริจเฉทรูปเป็นรูปที่ไม่ได้จัดเป็นส่วนหนึ่งของรูปกลาป เพราะเป็นเพียงอากาศธาตุที่คั่นระหว่างรูปกลาปกับรูปกลาปให้แยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ เท่านั้น ถ้าไม่มีอากาศธาตุคือปริจเฉทรูปนี้คั่นไว้ รูปทั้งหลายก็จะปะปนกันและมีสภาพติดกันเป็นพืดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะกำหนดขอบเขตของรูปด้วยสัมมสนญาณ ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะมีปริจเฉทรูปคั่นไว้ การกำหนดขอบเขตของรูปให้เห็นโดยความแยกกัน จึงปรากฏเกิดขึ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |