| |
ชื่อเรียกกามคุณ ๕ อย่าง   |  

ในขัคควิสาณสุตตนิทเทส ขุททกนิกาย จูฬนิเทส สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงถึงชื่อที่ใช้เรียกกามคุณไว้ ๕ ประการรุ.๒๔๓ คือ

๑. สังโค เครื่องข้อง ๒. พฬิสัง เบ็ด

๓. อามิสัง เหยื่อ ๔. ลัคคนัง บ่วงคล้อง

๕. ปลิโพโธ เครื่องพัวพัน

อธิบายความว่า

๑. กามคุณทั้ง ๕ ได้ชื่อว่า สังโค ซึ่งแปลว่า เครื่องข้อง นั้น หมายความว่า บุคคลที่พัวพันหลงใหลในกามคุณอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ย่อมมีใจข้องเกี่ยวอยู่กับสิ่งนั้น และต้องข้องแวะเวียนไปหาสิ่งนั้นอยู่เสมอ ๆ ตามกำลังอำนาจแห่งความข้องของกิเลสและจิตใจของแต่ละบุคคล

๒. กามคุณทั้ง ๕ ได้ชื่อว่า พฬิสัง ซึ่งแปลว่า เบ็ด นั้น หมายความว่า กามคุณอารมณ์ทั้งหลายย่อมมีสภาพเหมือนเบ็ดที่ดักปลา เมื่อเกี่ยวปากของปลาตัวใดแล้ว ย่อมทำให้ปลาตัวนั้นได้รับความเจ็บปวดและดิ้นทุรนทุราย ยากที่จะหลุดรอดออกไปได้ ฉันใด กามคุณอารมณ์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อเกี่ยวจิตใจของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นต้องทุกข์ทรมานใจ ยากที่จะตัดใจให้ห่างไกลหรือให้หลุดพ้นจากอำนาจแห่งกามคุณอารมณ์เหล่านั้นไปได้

๓. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า อามิสัง ซึ่งแปลว่า เหยื่อ นั้น หมายความว่า เหยื่อที่บุคคลใช้ล่อให้มนุษย์หรือสัตว์ไปติดกับดักนั้น เขาใช้เพียงประมาณน้อย เพื่อให้ได้มาซึ่งสัตว์หรือผลประโยชน์จากมนุษย์ที่มากกว่า เมื่อมนุษย์หรือสัตว์ตนใดหลงถลำเข้าไปติดเหยื่อของบุคคลนั้นแล้ว ย่อมจะต้องสูญเสียตัว เสียชีวิต เสียวัตถุสิ่งของ เสียผลประโยชน์ เป็นต้นฉันใด กามคุณอารมณ์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมเป็นเหยื่อล่อให้บุคคลทั้งหลายเข้าไปติดกับดัก ถ้าบุคคลใดติดใจหลงใหลในกามคุณอารมณ์นั้น ๆ แล้ว บุคคลนั้นย่อมจะประสบกับความสูญเสียและความทุกข์ต่าง ๆ มากมาย

๔. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า ลัคคนัง ซึ่งแปลว่า บ่วงคล้อง นั้น หมายความว่า กามคุณอารมณ์ทั้งหลายนั้นเปรียบเหมือนบ่วงที่เขาใช้คล้องที่คอหรือที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์ทั้งหลาย แล้วชักดึงลากไปทำตามที่ตนต้องการ สัตว์ตนใดถูกบ่วงคล้องเข้าแล้ว ย่อมได้รับความทุกข์ทรมาน ต้องตกไปเป็นเหยื่อหรือเป็นทาสของเขา ยากที่จะดิ้นรนให้หลุดร้อนไปได้ ข้อนี้ฉันใด บุคคลใดถูกกามคุณอารมณ์รึงรัดเข้าแล้ว บุคคลนั้นย่อมจะติดข้องอยู่ในสิ่งนั้น ได้รับทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ ยากที่จะตัดขาดจากสิ่งนั้นไปได้

๕. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า ปลิโพโธ ซึ่งแปลว่า เครื่องพัวพัน นั้น หมายความว่า กามคุณอารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนสัตว์ที่คอยจับสัตว์อื่นกินเป็นอาหารหรือเปรียบเหมือนเถาวัลย์หรือเครื่องผูกรัด เมื่อจับหรือผูกรัดมนุษย์หรือสัตว์ตนใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นได้รับความทุกข์ทรมานถึงตายหรือถึงอาการปางตาย ยากที่จะหลุดรอดไปได้ ฉันใด บุคคลที่ถูกกามคุณอารมณ์พัวพันหรือผูกรัดจิตใจแล้ว ย่อมได้รับความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ อาจถึงตายหรือถึงอาการปางตายได้ก็ฉันนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |