| |
ประเภทแห่งวาโย   |  

วาโย มี ๔ อย่าง

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ และมูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๑๐๗ ได้แสดงประเภทของวาโยธาตุไว้ ๔ ประการดังนี้

๑. ปรมัตถวาโย หรือ ลักขณวาโย ได้แก่ ธาตุลมที่มีสภาวะลักษณะให้พิสูจน์รู้อาการเคร่งตึงหรือการเคลื่อนไหวได้ มีลักษณะประจำตัวอยู่ ๒ ประการคือ

[๑] วิตถัมภนลักษณะ ได้แก่ มีลักษณะเคร่งตึง

[๒] สมุทีรณลักษณะ ได้แก่ มีลักษณะเคลื่อนไหว

๒. สสัมภารวาโย หรือ สุตตันตวาโย ได้แก่ ธาตุลมอันเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิต หรือธาตุลมที่แสดงไว้ตามนัยแห่งพระสูตร แบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ

[ก.] อัชฌัตติกวาโย คือธาตุลมภายใน หมายถึง ธาตุลมอันเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ภายในร่างกายของสัตว์มีชีวิต ซึ่งในธาตุวิภังคสูตรแสดงว่ามีอยู่ ๖ อย่างรุ.๑๐๘ คือ

[๑] อุทธังคมวาโย ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน เช่น การเรอ การหาว การไอ การจาม การสำลัก เป็นต้น

[๒] อโธคมวาโย ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ เช่น การผ่ายลม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น

[๓] กุจฉิสยวาโย หรือ กุจฉิฏฐวาโย ลมที่อยู่ในช่องท้อง ทำให้ปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง ท้องผูก เป็นต้น

[๔] โกฏฐาสยวาโย ลมที่อยู่ในลำไส้ เช่น ทำให้ท้องลั่น ท้องร้อง หรือลมที่พัดพาสารอาหารให้ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกาย พัดพาเศษอาหารที่เหลือไปรวมเป็นอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น

[๕] อังคมังคานุสาริวาโย ลมที่พัดอยู่ทั่วร่างกาย ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ หรือถ่ายเทอุณหภูมิให้เกิดความสมดุลแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ปกติ เป็นต้น

[๖] อัสสาสปัสสาสวาโย ลมหายใจเข้าออก

[ข.] พาหิรวาโย หรือ พหิทธวาโย คือ ธาตุลมที่อยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์มีชีวิต ในธาตุวิภังคสูตรยกเป็นตัวอย่างสังเขปไว้ ๖ อย่างรุ.๑๐๙ คือ

[๑] ปุรัตถิมวาโย ลมที่พัดมาจากทิศตะวันออก

[๒] ปัจฉิมวาโย ลมที่พัดมาจากทิศตะวันตก

[๓] อุตตรวาโย ลมที่พัดมาจากทิศเหนือ

[๔] ทักขิณวาโย ลมที่พัดมาจากทิศใต้

[๕] สีตวาโย ลมหนาว

[๖] อุณหวาโย ลมร้อน

๓. กสิณวาโย หรือ อารัมมณวาโย คือ ลมที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งกสิณของผู้ทำฌาน โดยกำหนดเอาลมที่ทำให้ก้อนเมฆลอยไปมา ทำให้ใบไม้ไหว หรือที่ทำให้เส้นผมปลิว เป็นนิมิตในการพิจารณา พร้อมกับบริกรรมว่า วาโย ๆ หรือ ลม ๆ เรื่อยไป จนสมาธิจิตเกิดขึ้นตามลำดับ เรียกว่า วาโยกสิณ คือ กสิณลม

๔. สมมุติวาโย หรือ ปกติวาโย คือ ลมทั่ว ๆ ไปตามธรรมชาติ ที่พัดไปมาอยู่ตามปกติ ที่เป็นสมมุติโวหารของชาวโลก

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้แสดงประเภทและความหมายของวาโยธาตุไว้เพียง ๖ ประการรุ.๑๑๐ คือ

๑. อุทธังคมวาโย คือ วาโยธาตุที่พัดขึ้นเบื้องบน

๒. อโธคมวาโย คือ วาโยธาตุที่พัดลงเบื้องต่ำ

๓. กุจฉิสยวาโย คือ วาโยธาตุที่อยู่ในช่องท้อง

๔. โกฏฐาสยวาโย คือ วาโยธาตุที่อยู่ในลำไส้ใหญ่

๕. อังคมังคานุสาริยวาโย คือ วาโยธาตุที่อยู่ทั่วร่างกาย

๖. อัสสาสปัสสาสวาโย คือ วาโยธาตุที่เป็นลมหายใจเข้าออก

วาโยธาตุทั้ง ๖ อย่างที่กล่าวมานี้ เกิดอยู่ในร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เรียกว่า อัชฌัตตวาโย หรือ อัชฌัตติกวาโย ส่วนลมที่พัดไปมาอยู่ภายนอกนั้น เรียกว่า พหิทธวาโย หรือ พาหิรวาโยฯ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |