| |
อภัพพบุคคล ๓ จำพวก   |  

อภัพพบุคคล หมายถึง บุคคลผู้ไม่คู่ควรแก่มรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญา หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่สามารถทำฌาน อภิญญา มรรค ผล ให้เกิดได้ ในภพชาตินั้น เพราะมีเหตุปัจจัยบางอย่างมาปิดกั้นไว้ มี ๔ จำพวก ได้แก่

๑. กามาวรณ์ ถูกกามครอบงำ หมายความว่า เป็นบุคคลผู้หมักหมมกิเลสกาม คือ การสั่งสมกิเลสกามไว้ในขันธสันดานให้มีความยินดีพอใจติดใจในกามคุณอารมณ์ จึงทำให้เป็นผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ มากเกินไป จนไม่รู้จักสร่างซา ไม่มีความคิดที่จะแสวงหาคุณธรรมหรือโมกขธรรม คือ มรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญาได้ ใจไม่สามารถน้อมไปในเนกขัมมะได้ มีแต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสกาม จึงไม่สามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษได้ หรือบางคนได้คุณวิเศษที่เป็นโลกียธรรม คือ ฌาน อภิญญาแล้ว เมื่อเป็นผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในกาม คุณวิเศษนั้นก็มีแต่จะเสื่อมสูญไปได้ ส่วนมรรค ผล นิพพานนั้นไม่ต้องกล่าวถึง เพราะไม่สามารถจะก้าวขึ้นไปได้ เนื่องจากกิเลสกามพัวพันและฉุดคร่าไว้ในกามคุณอารมณ์ ไม่ให้โงศีรษะขึ้นมามองหาทางหลุดพ้นได้ เรียกว่า ถูกกามขัดขวาง

๒. กิเลสาวรณ์ ถูกกิเลสพัวพัน หมายความว่า เป็นผู้ไหลไปตามกระแสกิเลสโดยไม่ลืมหูลืมตา หรือเป็นผู้ยึดมั่นในมิจฉาทิฎฐิ ทั้ง ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง ๒ อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมคลายออก ทำให้จิตใจมืดมนปกคลุมด้วยอำนาจความเห็นผิด ไม่สามารถใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้งตามความเป็นจริงได้ จึงไม่สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บรรลุถึงมรรค ผล นิพพาน หรือ แม้แต่ฌานอภิญญาก็ไม่สามารถจะบรรลุได้ หรือฌานอภิญญาที่เคยได้บรรลุแล้ว ก็มีแต่จะเสื่อมสิ้นไป เรียกว่า ถูกกิเลสขัดขวาง

๓. กัมมาวรณ์ กรรมขวางกั้น หมายความว่า บุคคลที่กระทำอกุศลกรรมอย่างร้ายแรงบางอย่าง เช่น อนันตริยกรรม ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมไม่สามารถทำคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้ หรือแม้แต่คุณวิเศษที่เป็นโลกียธรรม คือ ฌาน อภิญญาที่ตนเองได้แล้วก็เสื่อมสิ้นไปโดยไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีก เรียกว่า ถูกกรรมขัดขวาง ส่วนกรรมหนักที่ไม่ถึงกับเป็นอนันตริยกรรม เช่น การด่าหรือการคิดร้ายต่อพระอริยเจ้า เป็นต้นนั้น ถ้าได้ขอขมาต่อพระอริยเจ้าแล้ว อาจทำคุณวิเศษให้เกิดขึ้นได้

๔. วิปากาวรณ์ วิบากขวางกั้น หมายความว่า เป็นผู้ถูกวิบากของกรรมขัดขวางไม่ให้บรรลุคุณความดี แบ่งเป็น ๒ จำพวก ได้แก่ บุคคลที่เกิดเป็นทุคติบุคคล สุคติอเหตุกบุคคล และทวิเหตุกบุคคล ซึ่งไม่สามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษ คือ ฌาน อภิญญา มรรค ผลได้เลยในภพชาตินั้น จัดเป็นอภัพพบุคคลโดยตรง ส่วนอีกประเภทหนึ่ง เป็นผู้ถูกวิบากกรรมอย่างใดย่างหนึ่งขัดขวางอยู่ ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษได้ ต้องรอให้วิบากกรรมนั้นหมดกำลังลงก่อน หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ช่วยหาอุบายแก้วิบากกรรมนั้นให้ก่อนแล้ว จึงจะสามารถบรรลุคุณวิเศษได้ เช่น พระจุฬบันถก เป็นต้น ในชาติปางก่อน เคยดูหมิ่นภิกษุที่มีสติปัญญาโง่เขลารูปหนึ่งไว้ เมื่อมาเกิดในชาตินี้ พอท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วก็กลายเป็นคนสมองทึบ ท่องอะไรไม่จำเลย พระพี่ชายคือพระมหาปันถก ให้ท่องจำคาถาพรรณนาพระพุทธคุณเพียง ๔ บาทถาคา ใช้เวลาอยู่ถึง ๔ เดือน ท่านก็ท่องจำไม่ได้เลย พระมหาปันถกจึงไล่ให้ไปสึกเสีย พระพุทธเจ้าทรงทราบอุปนิสัยที่ได้สั่งสมไว้ในชาติปางก่อน แล้วประทานผ้าขาวให้ลูบคลำ ไม่นานท่านก็ได้บรรลุคุณวิเศษเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ดังนี้เป็นตัวอย่าง

สรุปแล้ว อภัพพบุคคลทั้ง ๔ ประเภทนั้น แบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ

๑. อภัพพบุคคลโดยตรง หมายถึง บุคคลที่เกิดมาด้วยปฏิสนธิจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานทั้งหมด มนุษย์และเทวดา ที่เป็นสุคติอเหตุกบุคคล และทวิเหตุกบุคคล ซึ่งเป็นผู้ไม่สามารถบรรลุฌาน อภิญญา มรรค ผล ได้เลยในภพชาตินั้น [แต่สามารถสั่งสมบุญบารมีให้เป็นปัจจัยต่อไปในชาติหน้าได้] จึงเรียกว่า อภัพพบุคคลโดยตรง

๒. อภัพพบุคคลโดยอ้อม หมายถึงบุคคลที่เป็นภัพพบุคคล คือ เป็นผู้สามารถบรรลุฌาน อภิญญา มรรค ผลได้นั่นเอง แต่ถูกกาม กิเลส กรรม หรือวิบาก บางอย่างขวางกั้นไว้ ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษได้ หรือทำให้คุณวิเศษ คือ ฌาน อภิญญาที่ได้อยู่แล้วนั้นเสื่อมสิ้นไป โดยไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้อีก แต่ถ้ากรรมและกิเลสนั้นไม่ใช่ครุกกรรมแล้ว ย่อมสามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นมาใหม่ได้ และถ้าบุคคลนั้นบรรเทาสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว ย่อมสามารถเป็นภัพพบุคคลขึ้นมาได้ จึงเรียกว่า อภัพพบุคคลโดยอ้อม


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |