| |
ลักขณาทิจตุกะของปาคุญญตาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของปาคุญญตาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักขณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. กายะจิตตานัง อะเคลัญญะภาวะลักขะณา มีความไม่อาพาธของจิตเจตสิก เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาวะของปาคุญญตาเจตสิกนี้ย่อมมีความคล่องแคล่วต่อการงานอันเป็นกุศล เมื่อประกอบกับจิตแล้วย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้น มีอาการคล่องแคล่วปราดเปรียว ทำให้การทำ การพูด การคิดนึกสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นได้โดยสะดวกและขจัดความอาพาธของสัมปยุตตธรรมให้หมดไป สามารถทำกิจการงานให้สำเร็จไปได้ด้วยดี

๒. กายะจิตตะเคลัญญะนิททะมะนะระสา มีการทำลายความอาพาธของจิต เจตสิก เป็นกิจ หมายความว่า ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นพร้อมกับสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกเหล่าอื่นที่เป็นฝักฝ่ายเดียวกันแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมเหล่านั้นผ่อนคลายจากความอาพาธต่าง ๆ เช่น ความเหนื่อยหน่ายท้อแท้ ความอืดอาดเชื่องช้า หรือความหยาบกระด้างไม่เหมาะควร เป็นต้นออกไปเสีย แล้วปลูกสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นให้เกิดความชุ่มชื่นสดใสและเกิดความคล่องแคล่วพร้อมที่จะกระทำกิจที่ดีงามทั้งหลายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในแต่ละขณะจิตที่เกิดขึ้น

๓. นิราทีนะวะปัจจุปปัฏฐานา วา อาโรค๎ยะปัจจุปปัฏฐานา มีความปราศจากโทษ คือ กิเลส เป็นอาการปรากฏ หมาความว่า ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมเป็นสภาวธรรมที่ไม่มีโทษคือกิเลสเข้ามาประทุษร้ายให้บอบช้ำหมดกำลัง เพราะเป็นธรรมชาติที่มีสภาพเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส เมื่อปาคุญญตาเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว กิเลสทั้งหลายมีราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐะ เป็นต้น ย่อมสงบระงับไปตามกำลังของปาคุญญตาเจตสิกด้วย แต่ถ้ากิเลสมีกำลังมากกว่า ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมไม่สามารถปรากฏเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น บุคคลที่ถูกอำนาจกิเลสรุมเร้ามากเกินไป แม้ต้องการจะทำคุณงามความดี ก็ไม่สามารถกระทำให้สำเร็จลงได้ เพราะต้านทานกำลังของกิเลสไม่ไหวนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมมีความปราศจากโรคของจิตเจตสิก เช่น ทิฏฐิ มานะ อิสสา มัจฉริยะ วิจิกิจฉา เป็นต้น ในการงานที่เป็นกุศล เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า ปาคุญญตาเจตสิกนี้ ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันหรือเครื่องต้านทานโรคคือกิเลสทั้งหลาย มิให้มาเสียดแทงสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน เปรียบเหมือนยาขนานเอกที่สามารถป้องกันโรคมิให้กำเริบขึ้น พร้อมกันนั้นก็ทำการรักษาอาการของโรคที่มีอยู่ให้บรรเทาเบาบางและหายไปในที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลมีความฝักใฝ่ในเรื่องกุศลความดีอยู่เสมอ ย่อมสามารถบรรเทาสภาพของกิเลสที่มีในจิตให้ค่อย ๆ เบาบางลงไปเรื่อย ๆ เมื่อบารมีธรรมเต็มเปี่ยมแล้วจึงสามารถขจัดโรคคือกิเลสนั้น ๆ ให้หายไปโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยอำนาจแห่งมัคคญาณได้

๔. กายะจิตตะปะทัฏฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นสภาวธรรมที่มีบาทบทสำคัญในการปรับสภาพของสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้มีความสดชื่นแข็งแรง คลายจากอาการอาพาธด้วยอำนาจกิเลสและทำให้เกิดความคล่องแคล่ว พร้อมที่จะทำกิจการงานที่ดีหรือพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่ดีงามได้โดยสะดวก เพราะฉะนั้น ปาคุญญตาเจตสิกจะเกิดขึ้นได้จึงต้องมีสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เป็นฝักฝ่ายเดียวกับตนเกิดขึ้นมาพร้อมด้วย ถ้าหากไม่มีสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกอื่น ๆ เกิดขึ้นมาพร้อมด้วยแล้ว ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ เพราะไม่มีหน้าที่จะต้องทำ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด อีกนัยหนึ่ง ปาคุญญตาเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่นับเนื่องในสังขารขันธ์ จึงต้องมีสิ่งที่จะทำการปรุงแต่งหรือจัดแจง ได้แก่ จิตและเจตสิกนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิตและเจตสิกอื่น ๆ เกิดขึ้นแล้ว ปาคุญญตาเจตสิกย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน

กายปาคุญญตาเจตสิกและจิตตปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีสภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส คือ ความไม่ศรัทธา เป็นต้น อันทำความขัดข้องให้จิตและเจตสิก หมายความว่า ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นสภาวธรรมที่ช่วยสนับสนุนโสภณธรรมทั้งหลายให้มีกำลังในการต้านทานกิเลสมิให้กำเริบและทำลายกำลังของกิเลสเหล่านั้นให้บรรเทาเบาบางและหมดไปในที่สุด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |