| |
เหตุที่ทำให้เกิดทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๕ ประการ   |  

การที่บุคคลจะเกิดโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดนั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑. ทิฏฐิชฌาสะยะตา เป็นผู้มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย หมายความว่า เป็นผู้ที่สั่งสมความเห็นผิดต่าง ๆ ในบรรดาความเห็นผิด ๖๒ ประการ มี สัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ เป็นต้นเป็นประธาน ติดแน่นไว้ในสันดาน เมื่อได้ประสบพบเห็นสิ่งใด ก็มักมองไปตามแนวความคิดความเชื่อของตนเอง เช่น เห็นว่า เป็นเทวดา หรือ พระพรหมบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างมาให้ ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างในอารมณ์ที่ตนเองไม่ทราบเหตุผลตามความเป็นจริงเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิดได้

๒. ทิฏฐิวิปปันนะปุคคะละเสวะนะตา ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีความเห็นผิด หมายความว่า เป็นบุคคลที่ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความเห็นผิดเป็นปกติอุปนิสัยอยู่เสมอ ถ้าขาดจุดยืนของตนเอง ขาดวิจารณญาณในการรับรู้แล้ว ย่อมมีความคิดความเห็นคล้อยตามบุคคลนั้นได้ง่าย ฉะนั้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างในอารมณ์ที่ตนเองไม่ทราบเหตุผลตามความเป็นจริงเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิดได้

๓. สัทธัมมะวิมุขะตา เป็นผู้หันหลังให้พระสัทธรรม หมายความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยสนใจในเรื่องหลักเหตุผลแห่งความเป็นจริง ไม่สนใจธรรมะที่เป็นสาระแก่นสาร กลับไปสนใจแต่ในเรื่องที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร เช่น นิยมในเรื่องการเพลิดเพลินสนุกสนานรื่นเริง มีชีวิตเป็นนักเจ้าสำราญ หรือ ขวนขวายสนใจไปในลัทธิความเชื่อที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา หรือมีความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรมที่ถูกต้อง ดังนี้เป็นต้น ทำให้ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่มีวิจารณญาณในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างในอารมณ์ที่ตนเองไม่ทราบเหตุผลตามความเป็นจริงเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิดได้

๔. มิจฉาวิตักกะพะหุละตา เป็นผู้ที่ชอบคิดแต่เรื่องที่ผิด ๆ หมายความว่า เป็นบุคคลที่ชอบคิด ชอบค้นหาเหตุผล ชอบอนุมานสิ่งต่าง ๆ ไปในทางที่ผิดจากหลักความเป็นจริง หรือผิดจากหลักทำนองคลองธรรมที่ถูกต้อง ผิดจากหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ทำให้ติดเป็นอุปนิสัย มองสิ่งต่าง ๆ ไปตามแนวทางที่ตนคิดคาดคะเนอนุมานไว้ผิดนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างในอารมณ์ที่ตนเองไม่ทราบเหตุผลตามความเป็นจริงเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิดได้

๕. อะโยนิโสอุมมุชชะนะตา เป็นผู้จมอยู่ในความคิดที่ไม่แยบคาย หมาย ความว่า เป็นบุคคลที่ไม่ชอบใช้วิจารณญาณในการพิจารณาให้รอบคอบ ขาดความยั้งคิด ปล่อยใจไปตามกระแสกิเลส กระแสสังคม จมอยู่ในความคิดที่ตื้น ๆ ผิด ๆ แม้บุคคลอื่นบอกสอนหรือชี้แจงเหตุผลที่ถูกต้องให้ฟัง ก็ไม่ยอมรับ ไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติ ยังยึดมั่นเหนียวแน่นอยู่เช่นเดิม ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภบางอย่างในอารมณ์ที่ตนเองไม่ทราบเหตุผลตามความเป็นจริงเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความโลภที่เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิดได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |