| |
นารีโทษ ๒๖ ประการ   |  

นารีโทษ หมายถึง ลักษณะรูปร่างสัณฐานของสตรี ที่เป็นส่วนประกอบของอิตถีภาวรูป ซึ่งเกิดจากอกุศลกรรมที่แสดงออกมาให้สามารถสังเกตรู้ได้ หรือเป็นปัจจัยให้สตรีนั้นประสบกับภาวะที่ไม่ดี หรือเป็นปัจจัยให้สตรีนั้นแสดงปฏิกิริยา นิสัย พฤติกรรม ออกมาในทางที่ไม่ดี ทำให้เกิดมลทินหรือเกิดความไม่ดีไม่งามขึ้นแก่สตรีนั้นหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสตรีนั้นได้ มี ๒๖ ประการรุ.๒๕๗ ได้แก่

๑. หน้าผากแข็ง

๒. มีขนที่ริมฝีปาก [มีหนวด]

๓. มีขนหน้าแข็ง

๔. ขนรักแร้ดำและหยาบแข็ง

๕. มีสีจักที่หน้าผาก

๖. เป็นยักหล่มที่ไหล่

๗. เป็นถ่มร้ายที่แก้ม [มีลักยิ้ม]

๘. เป็นถล่มพังที่ตะโพก

๙. สีฟันไม่หมดจด [ฟันไม่เรียบและไม่สะอาด]

๑๐. นุ่งผ้าใต้สะดือ

๑๑. ตามสีข้าง มีผิวเนื้อหยาบกระด้าง

๑๒. เอวเป็นหนาม

๑๓. เท้าใหญ่

๑๔. แข้งใหญ่ [ลักษณะนี้ มีในภาษาภาคอีสานว่า กกขาทึม แข้งใหญ่ ลักษณะนี้ บ่งบอกถึงความเป็นคนมีความมักมากในกาม คือ ไม่รู้จักพอ รับได้ทุกเมื่อ]

๑๕. เวลาเดินนิ้วก้อยเหินอยู่ [นิ้วก้อยกระเดิบขึ้น จรดไม่ถึงดิน เชิดลอยอยู่]

๑๗. เดินยักย้ายตะโพกเหมือนสุกรหรือสุนัข

๑๘. นิ้วเท้าพิการ

๑๙. เท้าเก

๒๐. ผิวเนื้อหยาบกระด้าง

๒๑. นิ้วเท้าห่าง

๒๒. กลิ่นตัวเหม็นสาบเหมือนแร้ง

๒๓. กลิ่นตัวเหม็นสาบเหมือนกา

๒๔. กลิ่นตัวเหม็นสาบเหมือนสุกรและสุนัข

๒๕. กลิ่นตัวเหม็นสาบเหมือนน้ำคาวปลาและน้ำคร่ำ

๒๖. กลิ่นกาโมทก [กลิ่นน้ำกาม] เหม็นสาบเหมือนหนูและปลาเน่า

แต่อาการเหล่านี้ อาจเกิดจากสาเหตุอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาจากเหตุปัจจัยแวดล้อมอย่างอื่นประกอบด้วย อย่าเพิ่งตัดสินโทษสตรี ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งทันที เพราะอาจเกิดความผิดพลาดได้ หญิงแก้ว คือ สตรีผู้มีบุญบางท่าน ก็อาจจะมีอาการเหล่านี้ได้ เพราะเหตุปัจจัยบางอย่าง เช่น กรรมเก่า เป็นต้น แต่จิตใจของเธออาจน้อมไปในบุญกุศลหรือมุ่งมั่นอยู่ในความดีงาม หรือพยายามฝึกฝนตนเอง เพื่อความดีงาม ให้พ้นจากเคราะห์กรรมร้ายก็ได้

อนึ่ง สตรีที่มีรูปลักษณ์สวยงามสมบูรณ์พร้อม ปราศจากนารีโทษทั้ง ๒๖ ประการเหล่านี้ ก็อาจมีความคิดนึกหรืออุปนิสัยไปในเรื่องที่ไม่ดี คือ มีจิตใจโลเลในกามคุณ หรือคิดร้ายในบุคคลทั้งหลาย มีความงมงายมัวเมาในสิ่งที่ไร้สาระ เป็นต้นก็มีได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรตัดสินเด็ดขาดฝ่ายเดียวว่า เป็นนางแก้ว ต้องพิจารณาจากเหตุปัจจัยแวดล้อมและอุปนิสัยความประพฤติในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดและใช้เวลาพอสมควร จึงจะรู้ได้

เพราะฉะนั้น นารีโทษ ๒๖ ประการนี้ เป็นการกล่าวโดยทั่วไป ที่สามารถเป็นไปได้โดยมาก สำหรับเป็นเกณฑ์เครื่องสังเกตพิจารณาและวินิจฉัยเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |