| |
ลักขณาทิจตุกะของโอตตัปปเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของโอตตัปปเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ปาปะอุตตาสะนะลักขะณัง มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นลักษณะ หมายความว่า โอตตัปปเจตสิกเป็สภาวธรรมที่มีความรังเกียจบาปและผลของบาป เป็นสภาวลักษณะเฉพาะตน เมื่อโอตตัปปะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนเกิดความเกรงกลัวต่อบาปและผลของบาปที่จะเกิดขึ้นแก่ตน จึงไม่กระทำทุจริตกรรมใด ๆ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาด รู้ว่าก้อนเหล็กมันร้อน จึงไม่จับก้อนเหล็ก เพราะกลัวต่อความร้อนที่จะได้รับ ฉันนั้น

๒. ปาปานัง อะกะระณะระสัง มีการไม่กระทำบาป เป็นกิจ หมายความว่า สภาวะของโอตตัปปเจตสิกย่อมมีความหน่ายแหนงเข็ดขยาดต่อการทำบาป เพราะฉะนั้น เมื่อโอตตัปปเจตสิกเกิดขึ้น ย่อมทำให้ความคิดที่จะกระทำทุจริตกรรมนั้น ๆ หายไป คือ สามารถหยุดยั้งการกระทำที่ไม่ดี หรือสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีให้กลับเป็นพฤติกรรมที่ดีได้

๓. ปาปะโต สังโกจะนะปัจจุปปัฏฐานัง มีการย่อท้อต่อการทำบาป เป็นอาการปรากฏ [เกรงกลัวต่อบาป] หมายความว่า บุคคลผู้มีโอตตัปปะย่อมเกิดความรู้สึกนึกคิดที่ยำเกรงต่อบาปและผลของบาปที่จะพึงได้รับ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป ข้างหน้า แล้วไม่กระทำทุจริตใด ๆ ลงไป

๔. ปะระคาระวะปะทัฏฐานัง มีความเคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ดุจการปฏิบัติหน้าที่ของหญิงแพศยา ผู้ซื่อสัตย์ต่อชายที่จองตนไว้แล้ว ฉันนั้น หมายความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยแยบคายว่า ถ้าเรากระทำความไม่ดีใด ๆ ลงไป เราก็จะได้ชื่อว่า เป็นคนชั่ว วิญญูชนทั้งหลายย่อมตำหนิติเตียนเรา ผู้มีศีลจะไม่ยอมคบหาสมาคมกับเรา และเมื่อเราตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงทุคติ วินิบาต นรก เป็นแน่ ดังนี้เป็นต้น แล้วปลูกโอตตัปปะให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ จึงไม่กล้ากระทำทุจริตกรรมใด ๆ ลงไป หรือแม้กำลังจะทำ ย่อมสามารถหยุดยั้งไว้ได้ไม่ล่วงกรรมบถแห่งทุจริตนั้น

โอตตัปปเจตสิก มีโลก [คือหมู่ชน] เป็นใหญ่ ตัวอย่างเช่น กุลบุตรบางคนในโลกนี้กระทำโลกให้เป็นใหญ่เป็นประธาน ออกบวชแล้วไม่กระทำบาปกรรม เพราะพิจารณาว่า ในโลกสันนิวาสนี้ ย่อมมีสมณะพราหมณ์ เทวดาผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักขุ รู้วารจิตของผู้อื่นได้ ถ้าเรากระทำบาปลงไป ท่านเหล่านั้นย่อมรู้ถึงพฤติกรรมของเรา ย่อมพากันตำหนิติเตียนเราอย่างนี้ว่า พวกท่านจงดูกุลบุตรผู้นี้ซิ เป็นผู้มีศรัทธาออกบวชจากเรือน เป็นบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน แต่มากไปด้วยอกุศลธรรมอันลามก ดังนี้เป็นต้น เมื่อคิดพิจารณาดังนี้แล้ว จึงพยายามละอกุศล และเจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมที่ไม่มีโทษ ย่อมบริหารตนให้หมดจดได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |