ไปยังหน้า : |
การนอนหลับสนิท ถือว่าเป็นจิตตชรูปสามัญ ที่เกิดด้วยอำนาจของภวังคจิต ในขณะที่ไม่มีปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวด้วยอำนาจแห่งจิตอื่น ๆ ผู้นอนหลับสนิทย่อมถือว่าได้พักผ่อนอย่างดีที่สุด และผู้นอนอย่างมีสติเป็นนิตย์ ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการรุ.๕๕๓ คือ
๑. สุขํ สุปติ หลับก็เป็นสุข
๒. สุขํ ปฏิพุชฺฌติ ตื่นก็เป็นสุข
๓. น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ไม่ฝันร้าย
๔. เทวตา รกฺขนฺติ เทวดาทั้งหลายย่อมรักษาคุ้มครอง
๕. อสุจิ น มุจฺจติ อสุจิไม่เคลื่อน
[ส่วนผู้ที่นอนหลับโดยปราศจากสติ ย่อมมีผลตรงกันข้ามจากอานิสงส์ ๕ ประการนี้]
อนึ่ง ความฝันไม่ใช่เป็นอาการของภวังคจิต แต่เป็นอาการของจิตดวงอื่น ๆ ที่ขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ใหม่ ไม่ใช่อารมณ์เก่าของภวังคจิต ถ้าจิตในความฝันนั้นไม่ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาใด ๆ ทางร่างกาย ก็เรียกว่า จิตตชรูปสามัญ ที่เกิดจากอำนาจของจิตต่าง ๆ ในความฝัน แต่ถ้าจิตในความฝันนั้นส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ ทางร่างกาย ในขณะนั้น จิตตชรูปของบุคคลผู้ฝันนั้น ย่อมมีประเภทต่าง ๆ ใน ๗ ประเภทดังกล่าวแล้ว กล่าวคือ บางขณะเป็นจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะ บางขณะเป็นจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้บางขณะเป็นจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย เช่น ละเมอนอนพลิกไปพลิกมา เป็นต้น บางขณะเป็นจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการพูด เช่น ละเมอพูดอยู่คนเดียว เป็นต้น บางขณะเป็นจิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ เช่น ลุกนั่ง ยืน เดิน หรือทำกิจอย่างอื่น เป็นต้น แบบไม่เข้มแข็งมากนัก และบางขณะเป็นจิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่น เช่น ลุกนั่ง ยืน เดิน หรือทำกิจอย่างอื่น เป็นต้น อย่างเข้มแข็ง