| |
การให้ผลของรูปาวจรวิปากจิต   |  

ปฐมฌานรูปาวจรวิปากจิต ๑ ให้ผลเป็นปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ ๓ คือ พรัหมปาริสัชชาภูมิ ๑ พรัหมปุโรหิตาภูมิ ๑ มหาพรัหมาภูมิ ๑

ทุติยฌานและตติยฌานรูปาวจรวิปากจิต ๒ ดวงนี้ ให้ผลเป็นปฏิสนธิใน ทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภาภูมิ ๑ อัปปมาณาภาภูมิ ๑ อาภัสสราภูมิ ๑

จตุตถฌานรูปาวจรวิปากจิต ๑ ให้ผลเป็นปฏิสนธิในตติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตสุภาภูมิ ๑ อัปปมาณสุภาภูมิ ๑ สุภกิณหาภูมิ ๑

ปัญจมฌานรูปาวจรวิปากจิต ๑ ให้ผลเป็นปฏิสนธิในจตุตถฌานภูมิ ๑ คือ เวหัปผลาภูมิ [สำหรับปุถุชนและพระโสดาบันและพระสกิทาคามี ผู้ได้รูปาวจรปัญจมฌาน]

ส่วนสุทธาวาสภูมิ ๕ คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐาภูมินั้น เป็นที่เกิดของพระอนาคามีโดยเฉพาะ

พระอนาคามีทั้งหลาย ถึงแม้ว่า จะไม่ได้เจริญสมถภาวนาให้เกิดฌานเลยก็ตาม แต่เป็นผู้ที่สามารถประหาณกิเลสนิวรณ์ที่หยาบ ๆ ได้หมดแล้ว กล่าวคือ กุกกุจจนิวรณ์กับวิจิกิจฉานิวรณ์นั้น ได้ประหาณโดยเด็ดขาดแล้วตั้งแต่โสดาปัตติมรรค ส่วนกามฉันทนิวรณ์และพยาบาทนิวรณ์ ได้ประหาณโดยเด็ดขาดแล้วด้วยอำนาจแห่งอนาคามิมรรค เหลืออยู่ก็เพียงถีนนิวรณ์ มิทธนิวรณ์ อุทธัจจนิวรณ์ [และอวิชชานิวรณ์ ถ้านับเป็นนิวรณ์ ๖] ซึ่งนิวรณ์ที่เหลืออยู่นี้ย่อมถูกมรรคทั้ง ๓ ขัดเกลาทำให้เบาบางลงจนไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาอย่างหยาบออกมาได้อีกแล้ว ฉะนั้น บุคคลผู้เป็นพระอนาคามี ถึงแม้จะไม่ได้ปัญจมฌาน แต่ก็เรียกได้ว่า เทียบเท่าปัญจมฌาน เนื่องจากมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับปัญจมฌาน คือ ไม่มีกามฉันทนิวรณ์และพยาบาทนิวรณ์อยู่ในจิตใจเหมือนกัน ต่างกันแต่ว่า พระอนาคามีนั้นประหาณโดยเด็ดขาดแล้ว ส่วนปัญจมฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชนก็ดี โสดาบันก็ดี สกิทาคามีก็ดี ประหาณได้เพียงวิกขัมภนปหาน คือ ข่มทับไว้ด้วยอำนาจแห่งฌานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระอนาคามีบุคคลทั้งหลายที่ไม่ได้ฌานเมื่อตายแล้ว จะต้องไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ ภูมิใดภูมิหนึ่งแน่นอน ตามสมควรแก่อินทรีย์ของตนดังกล่าวมาแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |