ไปยังหน้า : |
อัปปมัญญาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายโดยหาประมาณมิได้ ดังวจนัตถะว่า อัปปะมาเณสุ สัตเตสุ ภะวาติ = อัปปะมัญญา แปลว่า ธรรมที่แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ โดยไม่มีจำกัด ชื่อว่า อัปปมัญญา
ธรรมที่ชื่อว่า อัปปมัญญา มี ๔ อย่างดังที่แสดงไว้ในพระบาลีว่า “เมตตา กะรุณา มุทิตา อุเปกขา เจติ อิมา จะตัสโส อัปปะมัญญา นามะ พ๎รัหมะวิหาโรติ จะ ปะวุจจะติ” แปลความว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ธรรมทั้ง ๔ อย่างนี้ ชื่อว่า อัปปมัญญา เพราะไม่มีประมาณ หรือที่เรียกกันว่า พรหมวิหาร เพราะผู้ปฏิบัติใน ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมมีความเป็นอยู่เหมือนพรหม หมายความว่า ถ้าบุคคลใดประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการนี้ บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมของความเป็นพรหม เพราะพรหมทั้งหลายย่อมมีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ประจำใจอยู่เสมอ
พรหมทั้งหลายเป็นผู้ที่ข่มกิเลสนิวรณ์ที่ร้ายแรง ๒ อย่างไว้ได้ตลอดชาติ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ คือ ความกำหนัดยินดีพอใจในกามคุณอารมณ์ และพยาปาทนิวรณ์ คือ ความขุ่นเคืองประทุษร้ายด้วยอำนาจความโกรธ ซึ่งกิเลส ๒ อย่างนี้เป็นสภาวธรรมที่ทำให้บุคคลมีจิตใจเอนเอียงไปตามอำนาจอคติ ๔ คือ ลำเอียงเพราะชอบ เรียกว่า ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบ เรียกว่า โทสาคติ ลำเอียงเพราะหลงไม่รู้เท่าทันความจริง เรียกว่า โมหาคติ และลำเอียงเพราะความกลัวอำนาจ เรียกว่า ภยาคติ
อคติทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นสภาวธรรมที่ทำให้อัปปมัญญาธรรมหวั่นไหวและเสื่อมลงได้ เมื่อพรหมทั้งหลายข่มนิวรณ์ ๒ อย่างนี้ได้ตลอดชาติแล้ว อคติเหล่านี้จึงไม่เกิดมีแก่ท่านเหล่านั้นเลย เพราะฉะนั้น จิตใจของพรหมทั้งหลายจึงเพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม ที่เรียกว่า อัปปมัญญาธรรม เพราะฉะนั้น อัปปมัญญาธรรมนี้จึงเรียกว่า พรหมวิหารธรรม คือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม
อัปปมัญญาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ ย่อมปรารภอารมณ์ต่างกัน เพราะฉะนั้น จึงเกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียวกันไม่ได้ ถ้าเกิดกับกามาวจรจิต [มหากุศลจิต มหากิริยาจิต] ท่านเรียกว่า พรหมวิหาร แต่ถ้าพระโยคีบุคคลเจริญกรุณาหรือมุทิตา เพื่อให้ได้ฌาน ท่านเรียกว่า อัปปมัญญา
อัปปมัญญาเจตสิก ที่แสดงไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๒ มี ๒ ดวง ได้แก่ กรุณาเจตสิก และ มุทิตาเจตสิก ส่วนเมตตา มีองค์ธรรม คือ อโทสเจตสิก และอุเบกขา มีองค์ธรรม คือ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งอยู่ในกลุ่มของโสภณสาธารณเจตสิกแล้ว จึงมิได้นำมาแสดงไว้โดยนัยแห่งอัปปมัญญาเจตสิกนี้อีก