| |
กามาวจรกุศลกรรมวัตถุ ๒๐ ประการ   |  

กามาวจรกุศลกรรมวัตถุ หมายถึง เหตุหรือที่ตั้งหรือปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่เป็นกุศล มี ๒๐ ประการ คือ กุศลกรรมบถ หรือสุจริต ๑๐ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ สุจริต ๑๐

กุศลกรรมบถ หมายถึง ช่องทางให้เกิดการกระทำที่เป็นกุศล

สุจริต หมายถึง ความประพฤติที่ทำให้เกิดความดีงาม

กุศลกรรมบถก็ดี สุจริตก็ดี มีแนวทางในการกระทำเป็นอันเดียวกัน ๑๐ ประการ คือ

กายกรรม ๓ ได้แก่

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี การงดเว้นจากการฆ่า เว้นจากการทำร้าย หรือเว้นจากเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ด้วยวิธีการต่าง ๆ

๒. อทินนาทานา เวรมณี การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น ลัก ขโมย ฉก ชิง วิ่งราว ฉ้อโกง ปล้น เป็นต้น

๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือการไม่ล่วงละเมิดทางประเวณีในบุตร ภรรยา สามี หรือคู่ครองของบุคคลอื่น ที่มีเจ้าของหวงแหน

วจีกรรม ๔ ได้แก่

๔. มุสาวาทา เวรมณี การเว้นจากการพูดเท็จ คือ การเว้นจากการพูดโกหก หลอกลวง หรือการไม่พูดให้ล่วงเลยความเป็นจริง

๕. ปิสุณายะ วาจายะ เวรมณี การเว้นจากการพูดส่อเสียด คือ การเว้นจากการพูดยุยงให้เขาแตกกัน ไม่พูดใส่ร้ายป้ายสีให้บุคคลอื่นเสื่อมเสีย หรือทำให้ผู้อื่นสูญเสียผลประโยชน์

๖. ผรุสายะ วาจายะ เวรมณี การเว้นจากการพูดคำหยาบ คือ การเว้นจากการด่าทอบริภาษด้วยคำหยาบคายให้บุคคลอื่นเจ็บใจ หรือให้เกิดความละอาย

๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ การเว้นจากการพูดเหลวไหลไร้สาระ อันไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์

มโนกรรม ๓ ได้แก่

๘. อนภิชฌา การไม่คิดละโมบโลภอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น

๙. อพยาบาท การไม่คิดพยาบาทปองร้าย จองเวรต่อบุคคลอื่น

๑๐. สัมมาทิฏฐิ การมีความเห็นชอบ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

เมื่อบุคคลทำการปฏิบัติงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ อยู่ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติในกุศลกรรมบถ ๑๐ นี้สำเร็จไปในตัวด้วย และเมื่อบุคคลตั้งใจงดเว้นด้วยเจตนาอันเป็นกุศลพร้อมด้วยสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันนั้น มีความเป็นไปต่าง ๆ คือ พร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนาก็ดี พร้อมด้วยญาณสัมปยุตต์ หรือ ญาณวิปปยุตต์ก็ดี พร้อมด้วยอสังขาริกหรือสสังขาริกก็ดี มหากุศลจิตดวงใดดวงหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้น ตามสภาพธรรมที่เกิดพร้อมนั้น อนึ่ง ในกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือสุจริต ๑๐ ประการนี้ มหากุศลจิตสามารถเกิดได้ทั้ง ๘ ดวงไม่มียกเว้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |