| |
มุทุตารูป   |  

ความหมายของมุทุตารูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๐๓ ได้แสดงสรุปเนื้อความของมุทุตารูปไว้ดังต่อไปนี้

มุทุตา หมายถึง ความอ่อน

มุทุตารูป หมายถึง รูปอ่อน ได้แก่ อาการอ่อนของร่างกายในเวลาก้ม เงย คู้ เหยียด เป็นต้น ซึ่งเป็นความอ่อนนุ่มนวลของนิปผันนรูป ทำให้การเอี้ยวเอนร่างกายเป็นไปได้โดยสะดวก การยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น เป็นไปได้โดยคล่องแคล่ว

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๔๐๔ ท่านได้แสดงความหมายของมุทุตารูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

รูปวิการมีปัจจัยที่เป็นข้าศึกแก่ความกำเริบแห่งธาตุอันกระทำความกระด้างเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า มุทุตา

วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของมุทุตารูป

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๐๕ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของมุทุตารูปไว้ดังต่อไปนี้

มุทุตารูป เป็นอาการอ่อนของนิปผันนรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

มุทุโน ภาโว = มุทุตา” แปลความว่า อาการที่อ่อน ชื่อว่า มุทุตา

รูปสฺส มุทุตา = รูปมุทุตา” แปลความว่า อาการอ่อนของนิปผันนรูป ชื่อว่า มุทุตา

คุณสมบัติพิเศษของมุทุตารูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๐๖ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของมุทุตารูปไว้ดังต่อไปนี้

๑. อถทฺธตฺตลกฺขณา มีความไม่แข็งกระด้าง เป็นลักษณะ

๒. รูปานํ ถทฺธวิโนทนรสา มีการทำลายความแข็งกระด้างของรูป เป็นกิจ

๓. สพฺพกฺริยาสุ อวิโรธิตาปจฺจุปฏฺานา มีความไม่ขัดข้องในการกระทำทั้งปวง เป็นอาการปรากฏ

๔. มุทุรูปปทฏฺานา มีรูปที่อ่อน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากคุณสมบัติพิเศษทั้ง ๔ ประการของลหุตารูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนขออธิบายขยายความหมายเพิ่มเติ่ม เพื่อความเข้าใจรายละเอียดของคุณสมบัติแต่ละอย่างเหล่านั้นให้ยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

๑. อถทฺธตฺตลกฺขณา มีความไม่แข็งกระด้าง เป็นลักษณะ หมายความว่า มุทุตารูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้รูปร่างกายซึ่งเป็นนิปผันนรูปนั้นมีความอ่อนนุ่ม สามารถขยับเขยื้อนหรือสับเปลี่ยนอิริยาบถได้คล่องแคล่วว่องไว ไม่แข็งกระด้าง

๒. รูปานํ ถทฺธวิโนทนรสา มีการทำลายความแข็งกระด้างของรูป เป็นกิจ หมายความว่า มุทุตารูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นย่อมกำจัดความแข็งกระด้างของนิปผันนรูปให้หมดไป เปรียบเหมือนยานวดที่ใช้ทาตรงอวัยวะที่กระด้างให้เกิดความอ่อนนุ่ม ฉันนั้น

๓. สพฺพกฺริยาสุ อวิโรธิตา ปจฺจุปฏฺานา มีความไม่ขัดข้องในการกระทำทั้งปวง เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า มุทุตารูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้อวัยวะของร่างกายมีความอ่อนและสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ติดขัด ไม่อืดอาด ไม่หนักหน่วง การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นไปโดยสะดวก ทำให้ตนเองรู้สึกได้ภายใน และบุคคลอื่นเห็นแล้วสามารถรู้ได้ว่า บุคคลนั้นมีความอ่อนเบา จึงสามารถผัดเปลี่ยนอิริยาบถคล่องแคล่วเช่นนั้น

๔. มุทุรูปปทฏฺานา มีรูปที่อ่อน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า มุทุตารูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นได้นั้น จึงต้องมีนิปผันนรูปที่พร้อมที่จะอ่อนนุ่มได้เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ถ้านิปผันนรูปเหล่านั้นยังมีสภาพหยาบกระด้างอยู่ มุทุตารูปนี้ย่อมปรากฏเกิดขึ้นไม่ได้ เช่นเดียวกัน เปรียบเหมือนการเอายานวดมาทาถูนวดตรงอวัยวะที่มีอาการบวมตึง ถ้าอาการบวมนั้นยังมีอาการช้ำอยู่ภายในมาก ยานวดย่อมไม่สามารถทำให้อาการบวมนั้นยุบลงและหายเป็นปกติได้ ต่อเมื่ออาการบวมนั้นทุเลาลงและไม่มีอาการช้ำอยู่ภายในแล้ว ยานวดจึงจะสามารถซึมซาบทำให้อาการบวมนั้นยุบลงและหายเป็นปกติได้ก็ฉันนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |