| |
อรูปาวจรจิต   |  

อรูปาวจรจิต เป็นจิตที่เกี่ยวข้องกับการรับอรูปวัตถุ คือ อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพที่ไม่มีรูป หรืออรูปฌานและอรูปภพคือความเป็นอรูปพรหม เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถกรรมฐานที่มีอรูปกรรมฐาน มีกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นต้นเป็นอารมณ์ จนเข้าถึงความแนบแน่นในอารมณ์อย่างยิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ จึงจัดเป็นจำพวกอัปปนาจิตหรือฌานจิต แต่มีสภาพหนักแน่นกว่ารูปาวจรจิต จึงเรียกว่า อาเนญชาจิต แปลว่า จิตที่มีกำลังหนักแน่นไม่หวั่นไหว มี ๑๒ ดวง คือ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรวิปากจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะที่ ๙ ไว้ดังต่อไปนี้

(๙) อาลัมพะนัปปะเภเทนะ จะตุธารุปปะมานะสัง
ปุญญะปากักก๎ริยาเภทา ปุนะ ท๎วาทะสะธา ฐิตัง ฯ

แปลความว่า

อรูปาวจรจิต ว่าโดยประเภทแห่งอารมณ์มี ๔ อย่าง เมื่อจำแนกโดยกุศล วิบาก กิริยาแล้ว มี ๑๒ ดวง

อธิบายความ

คาถานี้ เป็นการแสดงการรวบรวมจิตที่เป็นอรูปาวจรทั้งหมด ทั้งได้แสดงการจำแนกชาติของจิตเหล่านั้นด้วย

อรูปาวจรจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาของผู้ที่ได้รูปาวจรปัญจมฌานมาแล้ว เมื่อได้เจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไป ย่อมเข้าถึงอรูปฌานได้ ฉะนั้น อรูปาวจรจิต จึงเป็นจิตที่ท่องเที่ยว คือ รับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งอรูปวัตถุและอรูปกิเลสเป็นส่วนมาก

อรูปวัตถุ หมายถึง สภาพอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยรูป อันเป็นที่น่ายินดีพอใจของกิเลสทั้งหลายที่มีความยินดีพอใจในสภาพธรรมที่ไม่มีรูป อรูปวัตถุนี้จึงได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ เพราะสภาพของจิตเจตสิกเหล่านี้ ย่อมเป็นที่ยินดีพอใจของโลภะ ที่เรียกว่า อรูปตัณหา หมายความว่า อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ เหล่านี้เป็นอารมณ์สำหรับยึดหน่วงและผูกพันของบุคคลผู้ยินดีพอใจในอรูปฌาน และอรูปภพ [ความเกิดเป็นอรูปพรหม]

อรูปกิเลส หมายถึง กิเลสที่เกิดความยินดีพอใจในสภาพของอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยรูป เรียกว่า อรูปตัณหา ได้แก่ ความยินดีติดใจในอรูปฌาน อรูปภพ [ความเกิดเป็นอรูปพรหม]

อรูปาวจรจิตทั้ง ๑๒ ดวงนี้ นับเป็นปัญจมฌานจิตทั้งหมด เพราะอรูปฌานทั้งหมดนั้น ประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา เหมือนกัน แต่ความแตกต่างกันของอรูปาวจรจิตนี้ ต่างกันที่อารมณ์เท่านั้น มิใช่ต่างกันที่องค์ฌาน กล่าวคือ อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์เป็นกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์เป็นอากาสานัญจายตนนิมิต อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์เป็นนัตถิภาวบัญญัติ และเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์เป็นอากิญจัญญายตนนิมิต

อากาสานัญจายตนฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาอากาศที่เพิกปฏิภาคนิมิตของกสิณ ๙ อย่าง [เว้นอากาสกสิณ] มีปฐวีกสิณเป็นต้นออกหมดแล้วมาเป็นอารมณ์ หรือฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาอากาศที่ว่างเปล่าซึ่งมีสภาพกว้างขวางหาที่สุดมิได้ในขอบเขตแห่งวงกสิณที่เพิกนิมิตของกสิณเดิมออกไปหมดแล้วมาเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนโรงพระอุโบสถหลังใหญ่ ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์มานั่งประชุมทำสังฆกรรมกันเต็มพื้นที่บริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้น การเพิกปฏิภาคนิมิตของกสิณนั้น เปรียบเหมือนการให้ภิกษุสงฆ์ออกไปจากบริเวณภายในโรงอุโบสถให้หมด เหลือแต่บริเวณภายในโรงพระอุโบสถที่ว่างเปล่า แล้วจึงเพ่งอยู่ที่ความว่างเปล่าภายในขอบเขตของโรงพระอุโบสถนั้น หมายความว่า พระโยคีบุคคลนั้นพึงทำมนสิการในใจนึกให้ภาพภิกษุสงฆ์เหล่านั้นหายไปจากจิตใจ ให้เห็นว่า ในบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นไม่มีภิกษุเหลืออยู่เลยแม้แต่รูปเดียว มีแต่สภาพว่างเปล่าไม่มีอะไรอยู่เลย แม้จะมีภิกษุนั่งกันอยู่เต็มไปหมดก็ตาม ก็ไม่ได้ใส่ใจในหมู่ภิกษุเหล่านั้น ใส่ใจแต่เฉพาะความว่างเปล่าของขอบเขตบริเวณภายในโรงพระอุโบสถเท่านั้น ซึ่งตรงกับสภาพที่พระโยคีบุคคลพยายามเพิกใจออกจากปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณ ๙ อย่าง [เว้นอากาสกสิณ] อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เห็นว่า มีแต่อากาศที่ว่างเปล่าเวิ้งว้างหาที่สุดมิได้ในวงรอบขอบเขตแห่งดวงกสิณนั้น ๆ โดยมนสิการว่า ไม่มีปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณนั้นอยู่อีกแล้ว โดยภาวนาว่า “อากาโส อะนันโต ๆ หรือ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ” เช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าอากาสานัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นยึดหน่วงเอาอากาศที่ว่างเปล่ากว้างขวางนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น

วิญญาณัญจายตนฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาอากาสานัญจายตนฌานจิตที่ตนได้ ซึ่งดับไปแล้วมาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า “วิญญาณัง อะนันตัง ๆ หรือ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ๆ” ดังนี้เรื่อยไป จนกว่าวิญญาณัญจายตนฌานจิตจะเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น หมายความว่า วิญญาณัญจายตนฌานจิตนี้ เป็นจิตที่ยึดหน่วงเอาจิตด้วยกันเองมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ แต่เป็นอดีตอารมณ์และเป็นอัชฌัตตอารมณ์ อย่างเดียว กล่าวคือ พระโยคีบุคคลสามารถยึดเอาเฉพาะอากาสานัญจายตนฌานจิตที่ตนได้แล้วเท่านั้นมาเป็นอารมณ์ ไม่สามารถไปนึกหน่วงเอาฌานจิตของบุคคลอื่นมาเป็นอารมณ์ได้ อนึ่ง วิญญาณัญจายตนฌานจิตนี้ ย่อมยึดหน่วงเอาความรู้สึกแห่งอากาสานัญจายตนฌานจิตซึ่งดับไปแล้วมาเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนโรงพระอุโบสถหลังใหญ่ที่ว่างเปล่าอยู่นั้น บัดนี้ ได้ให้พระสงฆ์เข้ามานั่งประชุมทำสังฆกรรมกันอยู่เต็มบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นอย่างเดิม พระโยคีบุคคลนั้นย่อมหันมาใส่ใจเพ่งอยู่เฉพาะภาพพระสงฆ์ที่นั่งประชุมกันอยู่เท่านั้น โดยมิได้ใส่ใจถึงขอบเขตบริเวณภายในของโรงพระอุโบสถนั้นเลย หรือพระโยคีบุคคลนั้น เมื่อได้นึกให้ภาพของพระสงฆ์ที่นั่งประชุมกันทำสังฆกรรมเต็มบริเวณพื้นที่ภายในโรงพระอุโบสถเหล่านั้นให้หายไปจากจิตใจจนเห็นเหลืออยู่แต่ความว่างเปล่าแล้ว ต่อมาพระโยคีบุคคลนั้นกลับเปลี่ยนอารมณ์เสียใหม่ โดยการนึกให้ภาพพระสงฆ์มาปรากฏแทนที่สภาพที่ว่างเปล่านั้นจนเต็มบริเวณภายในโรงพระอุโบสถเหมือนเดิม โดยไม่ใส่ใจถึงขอบเขตภายในโรงพระอุโบสถนั้นอีกเลย ด้วยการภาวนาว่า “วิญญาณัง อะนันตัง ๆ หรือ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ๆ” ดังนี้เรื่อยไป จนกว่าวิญญาณัญจายตนฌานจิตจะเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น

อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาสภาพความไม่มีอยู่แห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ หรือการมนสิการถึงความไม่มีอยู่แห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ ๆ หรือ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี” ดังนี้เรื่อยไปจนกว่าอากิญจัญญายตนฌานจิตจะเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาความไม่มีอยู่แห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น หมายความว่า อากิญจัญญายตนฌานจิตนี้ เป็นฌานจิตที่มีอารมณ์เป็นบัญญัติ เรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ กล่าวคือ พระโยคีบุคคลนั้นทำการนึกหน่วงเอาสภาพความไม่มีอยู่แห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์แทนที่อารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานนั้น หรือนึกให้สภาพความรู้สึกแห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นให้หายไปจากจิตใจ แล้วหันมาใส่ใจถึงสภาพความไม่มีแห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นเหลืออยู่อีกแล้ว อุปมาเหมือนโรงพระอุโบสถหลังใหญ่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรมกันอยู่นั้น บัดนี้พระสงฆ์ได้ออกไปกันหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แม้แต่รูปเดียว พระโยคีบุคคลจึงใส่ใจเพ่งอยู่ที่ความไม่มีแห่งพระสงฆ์นั้นเท่านั้น โดยไม่ใส่ใจในขอบเขตบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นเลย อีกนัยหนึ่ง แม้พระสงฆ์จะยังคงนั่งประชุมกันอยู่เต็มบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นก็ตาม แต่พระโยคีบุคคลนั้น กลับกำหนดนึกให้เห็นว่า พระสงฆ์ไม่มีอยู่แล้ว ทั้งไม่ได้ใส่ใจในขอบเขตบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้นด้วย กำหนดใส่ใจแต่เพียงความไม่มีอะไรอยู่เลยในบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้น ด้วยการภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ หรือ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี” ดังนี้เรื่อยไปจนกว่าอากิญจัญญายตนฌานจิตจะเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาความไม่มีอยู่แห่งอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น

เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน หมายถึง ฌานจิตที่ยึดหน่วงเอาสภาพความประณีตละเอียดอ่อนของอากิญจัญญายตนฌานที่ดับไปแล้วมาเป็นอารมณ์ โดยภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง หรือ อากิญจัญญายตนฌานนี้ละเอียดหนอ อากิญจัญญายตนฌานนี้ประณีตหนอ” เช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าเนวสัญญานาสัญญา ยตนฌานจิตนั้นจะปรากฏขึ้นพร้อมกับการยึดหน่วงเอาสภาพความประณีตและละเอียดอ่อนของอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น หมายความว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตนี้ เป็นจิตที่ยึดหน่วงเอาจิตด้วยกันเองมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ แต่เป็นอดีตอารมณ์ และเป็นอัชฌัตตอารมณ์ อย่างเดียว กล่าวคือ พระโยคีบุคคลสามารถยึดเอาเฉพาะอากิญจัญญายตนฌานจิตที่ตนได้แล้วเท่านั้นมาเป็นอารมณ์ ไม่สามารถไปนึกหน่วงเอาฌานจิตของบุคคลอื่นมาเป็นอารมณ์ได้ เปรียบเหมือนพระโยคีบุคคลนั้นละจากการกำหนดเอาความไม่มีแห่งพระสงฆ์เหลืออยู่เลยในบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้น แล้วหันมากำหนดนึกหน่วงเอาความรู้สึกที่ไปรับรู้ความไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลยซึ่งได้ดับไปแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์แทน หรือเปรียบเหมือนโรงพระอุโบสถนั้นได้ถูกรื้อถอนขนทัพสัมภาระทิ้งไปหมดแล้ว พระโยคีบุคคลนั้นย่อมกำหนดนึกหน่วงเอาภาพของโรงพระอุโบสถที่เคยมีอยู่และภาพที่เคยมีพระสงฆ์มานั่งประชุมกันทำสังฆกรรมอยู่เต็มบริเวณภายในโรงพระอุโบสถนั้น ซึ่งบัดนี้เหลืออยู่เพียงร่องรอยภาพในอดีต อันเป็นความทรงจำที่อยู่ภายในส่วนลึกของจิตใจเท่านั้น ฉะนั้น อากิญจัญญายตนนิมิตนี้จึงปรากฏในความรู้สึกของพระโยคีบุคคลนั้นเป็นสภาพที่ประณีตและละเอียดอ่อน อันมีอยู่เพียงความรู้สึกลึก ๆ เท่านั้น โดยภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง” แปลว่า “อากิญจัญญายตนนิมิตนี้ละเอียดหนอ อากิญจัญญายตนนิมิตนี้ประณีตหนอ” เช่นนี้เรื่อยไป จนจิตนั้นเข้าถึงสภาพที่ละเอียดอ่อนไปตามสภาพของอารมณ์ที่ไปยึดหน่วงนั้นด้วย เมื่อเข้าถึงสภาพเช่นนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตก็ปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ได้อย่างแนบแน่น อนึ่ง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตนี้ มีสภาพประณีตและละเอียดอ่อนจนถึงขั้นที่ว่า “จะว่ามีความรู้สึกอยู่ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีความรู้สึกอยู่เลยก็ไม่เชิง” ซึ่งมีเพียงความรู้สึกภายในลึก ๆ เท่านั้น แต่ไม่มีความรู้สึกปรากฏออกมาภายนอกเลย อุปมาเหมือนสามเณรเอาน้ำมันทาบาตรไว้เพื่อกันสนิม พระเถระเรียกเอาบาตรจากสามเณรเพื่อใส่อาหาร สามเณรกราบเรียนว่า “บาตรติดน้ำมันอยู่ ขอรับ” พระเถระก็บอกว่า “ยกเอามาเถิด เราจะเทไว้ในกระบอกน้ำมัน” สามเณรกราบเรียนว่า “น้ำมันนั้นทาติดกับบาตรไว้หมดแล้ว ไม่สามารถจะเทใส่กระบอกได้แล้ว ขอรับ” ดังนี้เป็นตัวอย่าง สภาพของเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตนี้ ก็เช่นเดียวกัน ย่อมระงับสัญญาความรู้สึกที่หยาบ ๆ ได้หมดแล้ว เหลืออยู่แต่สัญญาความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน มีความประณีตและมั่นคงอยู่ในอารมณ์อย่างแนบแน่น ไม่มีความหวั่นไหวต่ออารมณ์ภายนอก หรือไม่มีความรู้สึกตอบสนองต่ออารมณ์ภายนอกเลย ฉะนั้น เนวสัญญานาสัญญา ยตนฌานจิตนี้ จึงเป็นสภาพจิตที่มีกำลังสมาธิหนักแน่นมาก สามารถที่จะเป็นบาทแก่อภิญญา และเป็นฐานในการเข้านิโรธสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธได้ [สำหรับพระอนาคามีและพระอรหันต์]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |