| |
ชีวิตินทรีย์มี ๒ อย่าง   |  

๑. รูปชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงรูปธรรมได้แก่ ชีวิตินทรีย์รูป

๒. นามชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงนามธรรมได้แก่ ชีวิตินทรียเจตสิก

อธิบายความหมาย

๑. รูปชีวิตินทรีย์ ได้แก่ ชีวิตรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากกรรม เรียกว่า กัมมชรูป เป็นรูปที่มีหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันในกลาปเดียวกับตนเท่านั้น เพื่อให้กัมมชกลาปนั้นสามารถเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ชั่วอายุของตนเอง คือ ๓ อนุขณะ ได้แก่ อุปปาทขณะ ขณะเกิด, ฐีติขณะ ขณะตั้งอยู่, และภังคขณะ ขณะดับ แต่ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตรูปนี้จะหล่อเลี้ยงกัมมชรูปทั้งหลายให้ตั้งอยู่ได้ตลอดจนหมดอายุขัยของบุคคลนั้นแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมทั้งหลาย เป็นสังขตธรรม มีการเกิดดับ เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ไม่สามารถตั้งอยู่มั่นคงตลอดไปได้ ฉะนั้น ในกลาปรูปหนึ่ง ๆ ย่อมมีความเป็นไป ๓ อนุขณะด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนจะมีอายุขัยยืนยาวหรือสั้น ขึ้นอยู่กับสมุฏฐานที่ทำให้กลาปรูปนั้นเกิดขึ้น เช่น กัมมชรูป ย่อมมีอายุยืนเท่ากับ ๑๗ ขณะใหญ่ของจิต ส่วนวิญญัตติรูป ๒ คือ กายวิญญัตติรูปและวจีวิญญัตติรูป ซึ่งเป็นรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ย่อมมีอายุเท่ากับจิต ๑ ดวงเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น แต่เพราะกลาปรูปเหล่านี้ มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ บุคคลจึงยังมีกลาปรูปนั้น ๆ อยู่ เช่น บุคคลผู้มีจักขุปสาท และมีกรรมเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงให้จักขุปสาทเป็นไปได้อยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จักขุทสกกลาปรูปของบุคคล ย่อมมีการเกิดดับสืบเนื่องกันไปได้ไม่ขาดสาย จนกว่าบุคคลนั้นจะตาย หรือ เหตุปัจจัยของจักขุประสาทจะหมดไป ทำให้ตาบอดสนิท จักขุทสกกลาปของบุคคลนั้น ก็เป็นอันสิ้นสุดลงไม่สามารถเกิดได้อีก ดังนี้เป็นต้น แม้กลาปรูปอื่น ๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้น บุคคลจึงยังมีรูปประเภทนั้นอยู่ ดังที่กล่าวมานี้ การที่กัมมชกลาปของบุคคลยังมีการเกิดดับสืบเนื่องกันไปได้โดยไม่ขาดสาย เพราะมีชีวิตรูปอันเป็นกัมมชรูปด้วยกันหล่อเลี้ยงไว้นั่นเอง ส่วนจิตตชกลาปนั้น มีจิตเป็นผู้หล่อเลี้ยงไว้ อุตุชกลาปรูป ก็มีอุตุเป็นผู้หล่อเลี้ยงไว้ และอาหารชกลาปรูป ก็มีอาหารเป็นผู้หล่อเลี้ยงไว้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กลาปรูปที่เกิดจากสมุฏฐานต่าง ๆ สามารถเกิดดับเป็นไปติดต่อกันโดยไม่ขาดสาย จนกว่าจะหมดเหตุปัจจัยของกลาปรูปนั้น รูปกลาปจึงจะดับสิ้นไปโดยไม่เกิดขึ้นอีก

๒. นามชีวิตินทรีย์ ได้แก่ ชีวิตินทรียเจตสิก ซึ่งมีหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน หมายความว่า ชีวิตินทรียเจตสิกนี้ มีสภาพเป็นนามธรรม คือ เป็นธรรมชาติที่น้อมเข้าไปหาอารมณ์ หมายถึง สามารถรับรู้อารมณ์ได้เหมือนกับจิต จึงเป็นธรรมชาติที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์อันเดียวกับจิต และมีที่อาศัยเกิดอันเดียวกับจิต เมื่อชีวิตินทรียเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกเหล่าอื่น จึงทำหน้าที่หล่อเลี้ยงสัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับตน ให้สามารถเป็นไปได้จนครบ ๓ อนุขณะของนามธรรม คือ อุปปาทขณะ ขณะเกิด, ฐีติขณะ ขณะตั้งอยู่, และภังคขณะ ขณะดับไป เพื่อมิให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายดับไปก่อนอายุขัยของตน แต่จิตและเจตสิกทั้งหลาย เป็นสภาวธรรมที่เกิดดับไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่ารูปธรรม โดยเฉพาะกัมมชรูป จิตและเจตสิกเกิดดับไปถึง ๑๗ ขณะใหญ่ หรือ ๑๗ ดวงแล้ว กัมมชรูปจึงเกิดดับไป ๑ ขณะใหญ่ หรือ ๑ กลาปรูป ดังที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า “เพียงชั่วระยะเวลาที่ช้างกระดิกหูหรืองูแลบลิ้นครั้งหนึ่ง จิตและเจตสิกย่อมเกิดดับเป็นแสนโกฏิขณะ” แม้เป็นเพียงระยะเวลาที่รวดเร็ว เทียบได้เพียงวินาทีเท่านั้น แต่ว่าจิตและเจตสิกก็เกิดดับไปตั้งมากมาย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จิตและเจตสิกทั้งหลาย จะเกิดดับไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ชีวิตินทรียเจตสิกก็สามารถทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงจิตและเจตสิกเหล่านั้นได้ทุกขณะ เพราะมีสภาพเป็นนามธรรมด้วยกัน และเป็นไปพร้อมกับจิตและเจตสิกเหล่านั้น จึงสามารถดูแลรักษาหรือหล่อเลี้ยงกันได้ ตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไป เพราะสภาวธรรมเหล่านั้น มีเหตุปัจจัยของตนเองโดยเฉพาะนั่นเอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีครบทั้ง ๕ ขันธ์ ย่อมมีชีวิต ๒ อย่าง คือ ชีวิตรูป กับ ชีวิตนาม เป็นผู้หล่อเลี้ยงรูปนามของบุคคลนั้นให้ดำรงคงอยู่ได้ ถ้าขาดชีวิตไปอย่างใดอย่างหนึ่ง สัตว์ย่อมเป็นอยู่ไม่ได้ จำต้องตายไป ส่วนในเอกโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีรูปขันธ์เกิดได้เพียงขันธ์เดียวเท่านั้น ได้แก่ อสัญญสัตตภูมิ พวกอสัญญสัตตพรหมย่อมมีชีวิตรูปอย่างเดียว เพราะเป็นบุคคลที่ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดขึ้นเลย ด้วยอำนาจของสัญญาวิราคภาวนา คือ การทำลายความยินดีในจิตและเจตสิกด้วยกำลังแห่งรูปาวจรปัญจมฌาน พวกอสัญญสัตตพรหมจึงมีชีวิตอยู่ได้ด้วยรูปชีวิตินทรีย์อย่างเดียว ส่วนในจตุโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีแต่นามขันธ์ ๔ เท่านั้น ได้แก่ อรูปภูมิ ๔ พวกอรูปพรหมมีเพียงชีวิตนามอย่างเดียว ไม่มีชีวิตรูป เพราะเป็นภูมิที่ไม่มีรูปเกิดขึ้นเลย อันเนื่องมาจากอำนาจแห่งรูปวิราคภาวนา คือ การทำลายความยินดีในรูปเสีย ด้วยกำลังแห่งอรูปฌานหรืออรูปสมาบัติ เพราะฉะนั้น อรูปพรหมทั้งหลายจึงเป็นอยู่ได้ด้วยนามชีวิตินทรีย์อย่างเดียว จึงสรุปความว่า

ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ภูมิ มี ๒ ชีวิต คือ ชีวิตรูป กับ ชีวิตนาม

ในจตุโวการภูมิ ๔ ภูมิ มี ๑ ชีวิต คือ ชีวิตนาม

ในเอกโวการภูมิ ๑ ภูมิ มี ๑ ชีวิต คือ ชีวิตรูป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |