| |
พยสนะ ๕   |  

พยสนะ หมายถึง ความพินาศฉิบหายอย่างใหญ่หลวง เมื่อบังเกิดขึ้นแล้วย่อมทำให้บุคคล เกิดความเศร้าโศก เสียใจ พิไรรำพัน และเกิดอุปายาส คือ ความคับแค้นใจจนสุดที่จะทนทานได้ มี ๕ อย่าง คือ

๑. ญาติพยสนะ ความพินาศแห่งหมู่ญาติ หมายความว่า ญาติผู้เป็นที่รักยิ่ง ต้องล้มหายหรือตายจากไปอย่างกะทันหัน โดยไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับสภาพเช่นนั้น ไม่สามารถทำใจได้ จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกอย่างหนัก บางคนถึงกับเป็นบ้าเสียสติ หรือหัวใจวายตายตามไปก็มี เช่น นางปฏาจารา ผู้สูญเสียสามี ลูก และพ่อแม่ พี่ชาย ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้นางเสียสติ ผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย เดินโซซัดโซเซไปในที่ต่าง ๆ จนถึงพระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าจึงแผ่พระญาณไปแล้วตรัสให้นางได้สติเป็นปกติเหมือนเดิม นางก็กลับได้สติฟื้นคืนมา อุบาสกอุบาสิกาที่นั่งฟังธรรมอยู่ได้โยนเสื้อผ้าไปให้ นางนุ่งห่มแล้วก็เข้ามาเฝ้าฟังธรรม พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องต้นเหตุของความเศร้าโศก มีใจความว่า “ความเศร้าโศกย่อมเกิดเพราะความรัก ภัยย่อมเกิดเพราะความรัก เมื่อบุคคลหลุดพ้นจากความรักได้แล้ว ความเศร้าโศกย่อมไม่มี ภัยจักมีแต่ที่ไหน” ดังนี้เป็นต้น เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางปฏาจาราก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วออกบวชเป็นภิกษุณี ภายหลังได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า “เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในทางทรงพระวินัย”

๒. โภคพยสนะ ความพินาศฉิบหายแห่งโภคสมบัติ เช่น ประสบกับ วาตภัย โจรภัย อัคคีภัย ราชภัย เป็นต้น จนหมดสิ้นเนื้อประดาตัวไปในพริบตา เช่น พราหมณ์ผู้เป็นชาวนาผู้หนึ่ง เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านที่นาของตนเองเป็นประจำ จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระสมณโคดม พระองค์เสด็จมาสู่ที่นาของข้าพเจ้าเป็นประจำ ตั้งแต่เริ่มไถและหว่าน ต่อแต่นี้ไป พระองค์ทรงเป็นสหายของข้าพเจ้า เมื่อข้าวกล้าของข้าพเจ้าสำเร็จแล้ว ถ้าข้าพเจ้ายังไม่ได้แบ่งถวายพระองค์ ข้าพเจ้าจักยังไม่บริโภคเอง แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าข้าวกล้าของพราหมณ์ผู้นี้จักไม่สำเร็จสมปรารถนา ข้าวกล้าของเขาจักประสบกับภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวง พระองค์ทรงเห็นเหตุนี้แล้ว เพื่อต้องการจะอนุเคราะห์เขา จึงได้เสด็จผ่านแปลงนาเขาเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อข้าวกล้าของเขาสุกปลั่งเหลืองอร่ามไปทั่วท้องทุ่งแล้ว เขาจึงไปขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวกะว่าให้เสร็จในวันเดียว แต่ในคืนก่อนวันที่จะทำการเก็บเกี่ยวนั่นเอง เมฆก็ได้ตั้งเค้า พายุใหญ่พัดกระหน่ำ ฝนตกลงมาอย่างหนักดังฟ้ารั่ว พัดพาข้าวกล้าของเขาหายไปกับสายน้ำหมดสิ้น ตื่นเช้ามาเขารีบไปนาเพื่อตรวจดูข้าวกล้า ปรากฏว่า ท้องทุ่งนา เหลือแต่ความว่างเปล่า ต้นข้าวและรวงข้าว ถูกกระแสน้ำและกระแสลมพัดพาไปจนหมดสิ้น ความหวังของเขาก็ล้มสลายไปกับสายน้ำ เขาถึงความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวง นั่งร้องไห้อยู่คนเดียว ณ เถียงนาน้อย จนแทบจะไม่มีน้ำตาไหลออกมาเลย ในขณะนั้นเอง พระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ สถานที่ซึ่งเขานั่งร้องไห้ด้วยความหมดอาลัยตายอยาก เมื่อเขาเงยหน้ามองเห็นพระพุทธเจ้า ก็ยกมือถวายบังคมและกล่าวสารภาพว่า “พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เคยสัญญากับพระองค์ไว้ว่า ถ้าข้าวกล้าของข้าพระองค์สำเร็จเรียบร้อยแล้ว จะแบ่งถวายแด่พระองค์ก่อนเป็นองค์แรก ถ้ายังไม่ได้แบ่งถวาย ข้าพระองค์จักยังไม่บริโภคเอง แต่บัดนี้ ความหวังของข้าพระองค์สลายสิ้นแล้ว จึงถึงความเศร้าโศกอย่างหนัก จนแทบไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ขอพระองค์ทรงโปรดแสดงอุบายระงับความเศร้าโศกของข้าพระองค์ด้วยเถิด” พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสปลอบโยนพราหมณ์ให้เบาใจด้วยพระธรรมเทศนาอันปฏิสังยุตต์ด้วยความสังเวชว่า “พราหมณ์ ความเศร้าโศก ย่อมเกิดเพราะความหวัง [ด้วยอำนาจโลภะ] ภัยย่อมเกิดเพราะความหวัง เมื่อบุคคลพ้นจากความหวังเสียได้ ความเศร้าโศกก็จักไม่มี ภัยจักมีแต่ที่ไหน” เมื่อพราหมณ์นั้นฟังพระธรรมเทศนาจบก็หายจากความเศร้าโศก และทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระพุทธเจ้า เมื่อบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากความหวังและความเศร้าโศกได้สิ้นเชิง

๓. โรคพยสนะ ความพินาศฉิบหายเพราะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หมายถึง ความพินาศฉิบหายเพราะเกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างหนักจนทุพพลภาพ ประกอบกิจการงานตามปกติไม่ได้ หรือ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง จนยากที่จะแก้ไขเยียวยาได้ เช่น คนที่ติดเชื้อโรคเอดส์โดยไม่รู้สึกตัวมาก่อน หรือเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ไม่มีทางเยียวยารักษา โดยที่ตนเองไม่ทราบสาเหตุมาก่อน เป็นต้น ทำให้เกิดอาการช็อก หรือสูญเสียกำลังใจ จนบางคนร้องไห้ด้วยความเศร้าโศกแทบหัวใจสลาย หรือบางคนไม่สามารถทำใจรับสภาพเช่นนั้นได้ อาจปลิดชีวิตของตนเองให้ตายพ้นจากสภาพนั้นไปก็มี

๔. สีลพยสนะ ความพินาศฉิบหายอันเนื่องมาจากศีลวิบัติ เพราะรักษาศีลด้วยอำนาจสีลพตปรามาส หรือ สีลพตุปาทาน คือ การรักษาศีลด้วยความเข้าใจผิด หรือความยึดมั่นถือมั่นในทางที่ผิด เช่น มีความยึดถือว่าเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดตบะหรือฤทธิ์เดชต่าง ๆ แล้วปฏิบัติผิดเจตนารมย์ของศีล หรือด้วยความเข้าใจผิดคิดว่า เป็นความผิดเล็กน้อย ไม่เป็นไร แล้วไม่ชำระให้บริสุทธิ์ ศีลนั้นเกิดความบกพร่อง มีอาการขาด ทะลุ ด่าง พร้อย ทำให้เสื่อมเสียคุณธรรมที่จะพึงมีพึงได้ไป เมื่อรู้สึกตัวภายหลัง ก็เป็นการสายเกินแก้เสียแล้ว เช่น ภิกษุรูปหนึ่ง ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่สองหมื่นปี วันหนึ่ง ล่องเรือไปในแม่น้ำ กระแสน้ำเชี่ยวจัด พัดเรือแล่นไปเร็ว จนบังคับไม่อยู่ ภิกษุรูปนั้น มองหาสิ่งที่จะยึดเกาะไว้ เพื่อหยุดยั้งการแล่นไปของเรือ แต่ไม่มีสิ่งใดจะยึดเกาะได้ เห็นกอตะไคร่น้ำ จึงคว้ายึดไว้ แต่ไม่เหนียวพอที่จะยึดได้ ทำให้กอตะไคร่น้ำขาดหลุดไป เมื่อภิกษุนั้นขึ้นจากแม่น้ำได้แล้ว ก็มีความคิดว่า ดึงกอตะไคร่น้ำขาดไปคงไม่เป็นอะไร เพราะไม่ได้เจตนาจะเด็ด จึงไม่ได้แสดงคืนอาบัติ อยู่มาไม่นาน ท่านก็มรณภาพลง ก่อนที่จะมรณภาพ รู้สึกเหมือนกอตะไคร่น้ำมาพันคอไว้หายใจแทบไม่ออก จะกล่าวบอกเพื่อนภิกษุเพื่อแสดงอาบัติก็พูดไม่ได้ เมื่อมรณภาพลง จึงไปเกิดเป็นพญานาค ชื่อว่า เอรกปัตตนาคราช มีลำตัวยาวเท่าเรือโกลน เมื่อพิจารณาดูอัตภาพของตนเองแล้ว ก็ระลึกได้ว่า ตนเองบวชเป็นพระภิกษุ ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ มาถึงสองหมื่นกว่าปี แต่ทำผิดอาบัติเล็กน้อย ต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ที่ต้องกระเสือกกระสนไปด้วยอก มีกบและเขียด เป็นภักษาหาร ดังนี้ ก็ร้องไห้เสียใจอย่างหนัก เพราะอำนาจสีลวิบัติ จึงต้องเสื่อมจากคุณธรรมที่จะพึงมีพึงได้จากการประพฤติพรหมจรรย์นั้น ภายหลัง เมื่อพระพุทธเจ้าของเราอุบัติขึ้นแล้ว เอรกปัตตนาคราช นี้ก็ได้ไปเฝ้ากราบบังคมทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องสิ่งที่หาได้ยากในโลก ๔ ประการ เป็นใจความว่า “การได้เกิดเป็นมนุษย์ ๑ การมีชีวิตรอดของสัตว์ทั้งหลาย ๑ การได้ฟังพระสัทธรรม ๑ การอุบัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ เป็นสิ่งที่หาได้ยากอย่างยิ่ง” เมื่อเอรกปัตตนาคราชได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็ได้อานิสงส์ คือ ไม่ต้องลำบากกระเสือกกระสนโดยสถานะทั้ง ๕ คือ ในเวลาหลับ ๑ ในเวลาโกรธ ๑ ในเวลาผสมพันธุ์กับนางนาค ๑ ในเวลาลอกคราบ ๑ และในเวลาตาย ๑ ไม่ต้องกลายร่างเป็นพญานาค ทรงอยู่ในอัตภาพเป็นหนุ่มน้อยตลอดอายุขัย

๕. ทิฏฐิพยสนะ ความพินาศเพราะเกิดความเห็นผิดอย่างร้ายแรง หมายถึง บุคคลที่มีความเห็นผิดซึ่งยึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อรู้สึกตัวว่า ได้เกิดความเห็นผิดและ ยึดถือความเห็นผิดมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้สูญเสียจากคุณธรรมที่จะพึงมีพึงได้ เมื่อนึกถึงเวลาที่สูญเสียไปโดยปราศจากประโยชน์เป็นเวลานาน นึกถึงความประพฤติอันเสื่อมเสียเพราะอำนาจความเห็นผิดอย่างมากมาย ย่อมทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ดังเช่นพราหมณ์ ๒ คนในสมัยพุทธกาล คนหนึ่งคิดว่า ถ้าประพฤติตัวเยี่ยงสุนัข แล้วจะบรรลุถึงความบริสุทธิ์ได้ อีกคนหนึ่งคิดว่า ถ้าประพฤติเยี่ยงโค [วัว] แล้วจะถึงความบริสุทธิ์ ทั้ง ๒ คนนี้ จึงประพฤติไปตามที่ตนคิดและยึดถือ อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์ ๒ คนนั้น มาพบกันเข้า ก็เกิดโต้เถียงกันว่า การประพฤติของตนประเสริฐกว่า ต่างคนต่างไม่ยอมกัน จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้พระองค์ทรงตัดสินว่า การประพฤติของใครจะประเสริฐกว่ากัน พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสเป็นใจความว่า “คนที่ประพฤติตัวเยี่ยงสุนัข เมื่อตายไปแล้ว อย่างดีที่สุด ย่อมได้ไปเกิดเป็นสุนัข คนที่ประพฤติตัวเยี่ยงโค เมื่อตายแล้ว อย่างดีที่สุด ย่อมได้ไปเกิดเป็นโค” เมื่อพราหมณ์ ๒ คนได้ฟังดังนั้น ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจอย่างหนัก เพราะเสียดายวันเวลาโอกาสและประโยชน์ที่สุญเสียไป เพราะความยึดถือผิดและการปฏิบัติผิดของตนมาเป็นเวลานาน จึงต่างก็ร้องไห้คร่ำครวญด้วยความคับแค้นใจ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |