| |
ผลของมหาวิปากจิตที่เป็นสสังขาริก ๕ ประการ   |  

ผลของมหาวิปากจิตที่เป็นสสังขาริก ย่อมให้ผลเป็นบุคคลที่มีลักษณะและอุปนิสัยดังต่อไปนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน คือ

๑. ทำให้ปฏิสนธิเป็นสสังขาริกบุคคล คือ บุคคลที่ไม่ค่อยมีการริเริ่มทำกิจการงานด้วยตนเอง ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้วจึงทำ มักเป็นผู้ตาม มากกว่าเป็นผู้นำ แม้ในบางเรื่องหรือบางอารมณ์ที่ตนเองมีความชำนาญแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนหรือชักชวนก่อนแล้วจึงลงมือทำหรือตอบสนองต่ออารมณ์นั้นได้ [ยกเว้นมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุน อาจทำให้เป็นผู้มีความคิดริเริ่มด้วยตนเองได้]

๒. เป็นผู้มีการตัดสินใจทำอะไรไม่ค่อยเด็ดขาด [เฉพาะบางเรื่องที่ตนเองไม่ถนัด ไม่เจนจัด หรือไม่ชำนาญ ยกเว้นบางเรื่องที่ได้สั่งสมมาจนมีความถนัดเจนจัดและชำนาญแล้ว อาจมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดด้วยตนเองได้]

๓. มักมีอุปนิสัยเฉื่อยชา อืดอาด จับจด [นอกจากได้ฝึกฝนตนเองเสียใหม่ ทำให้เป็นผู้มีความกระตือรือร้นขึ้นมาก็ได้]

๔. เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความอดทนต่อความลำบาก มีความหนาวและความร้อน เป็นต้น [นอกจากได้ฝึกฝนตนเองเสียใหม่ หรือได้ประสบกับสถานการณ์ที่ต้องทำใจอดทนอยู่เสมอ อาจทำให้เป็นคนเข้มแข็งขึ้นมาได้]

๕. เป็นผู้ไม่ค่อยมีไหวพริบ ตอบสนองต่ออารมณ์ได้ช้า [นอกจากได้ฝึกฝนในบางเรื่องหรือบางอารมณ์จนชำนาญแล้ว อาจมีไหวพริบและตอบสนองต่ออารมณ์นั้น ๆ ได้เร็วขึ้น]

เพราะฉะนั้น ในมหาวิปากจิตแต่ละดวง จะให้ผลเป็นองค์รวม คือ เป็นบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะและอุปนิสัยที่เด่นชัด ๓ ประการ ได้แก่ โดยเวทนา เป็นคนร่าเริงสนุกสนานหรือเฉยเมยสุขุมเคร่งครึม โดยสัมปโยคะ เป็นคนมีปัญญาหรือว่าไม่มีปัญญา และโดยสังขาร คือ เป็นคนมีความริเริ่มด้วยตนเอง หรือต้องอาศัยการกระตุ้นเตือนชักชวนในเวลาประกอบกิจต่าง ๆ หรือการตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของมหาวิปากจิตดวงนั้น ๆ ฉะนั้น ผู้ศึกษาพึงนำเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมหาวิปากจิตดวงนั้น ๆ ได้แก่ เหตุปัจจัยของเวทนา เหตุปัจจัยของสัมปโยคะ และเหตุปัจจัยของสังขาร แต่ละอย่างนั้นมาจับเข้าด้วยกันเป็นเครื่องมืออธิบายหรือทำความเข้าใจ จะได้คำอธิบาย หรือความเข้าใจว่า เพราะมีเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้บุคคลแต่ละคน มีลักษณะและอุปนิสัยที่แตกต่างกันออกไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |