ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๑๕ ท่านได้แสดงอุปาทินนรูปและ อนุปาทินนรูปไว้ ดังต่อไปนี้
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง [ที่เกิดจากเหตุ ๔] ตั้งอยู่ในกาย ชื่อว่า อุปาทินนรูป บ้าง รูปที่เกิดจากกรรมอย่างเดียว ชื่อว่า อุปาทินนรูป บ้าง รูปทั้ง ๒ อย่างนั้น ชื่อว่า อุปาทินนรูป เพราะถูกตัณหาและทิฏฐิยึดมั่น แต่รูปที่เกิดจากกรรม ได้ชื่อว่า อุปาทินนรูป โดยตรง
ถามว่า เพราะเหตุใด ?
ตอบว่า เพราะถูกยึดมั่นโดยความเป็นไปเสมอในกระแสจิตของเหล่าสัตว์
ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “กมฺมชํ อุปาทินฺนรูปํ” [รูปที่เกิดจากกรรม ชื่อว่า อุปาทินนรูป]
อุปาทินนรูป หมายถึง รูปที่ถูกตัณหาและทิฏฐิยึดมั่นไว้โดยนัยว่า “รูปนี้ของเรา” เป็นต้น
ส่วนในคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า “ตณฺหาทิฏฺหิ อุเปเตน กมฺมุนา อตฺตโน ผลภาเวน อาทินฺนํ คหิตํรุ.๕๑๖” แปลความว่า อุปาทินนรูป คือ รูปที่ถูกกรรมที่ประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดเอาโดยความเป็นผลของตน
เพราะฉะนั้นเมื่อสรุปความแล้ว อุปาทินนรูปจึงมีความหมาย ๒ ประการคือ
๑. รูปที่ถูกตัณหาและทิฏฐิยึดมั่นไว้ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ตณฺหาทิฏฺหิ ภุสํ อาทิยตีติ อุปาทินฺนํ” แปลความว่า รูปใดอันตัณหาและทิฏฐิทั้งหลายย่อมยึดไว้อย่างมั่นคง เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า อุปาทินนรูป
๒. รูปที่ถูกกรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดเอาโดยความเป็นผล ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ตณฺหาทิฏฺหิ อุเปเตน กมฺมุนา ผลภาเวน อาทิยตีติ อุปาทินฺนํ” แปลความว่า รูปใดอันกรรมที่ประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิทั้งหลายยึดเอาโดยความเป็นผล เพราะฉะนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า อุปาทินนรูป
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๕๑๗ ท่านได้แสดงความหมายของอุปาทินนกรูปและอนุปาทินนกรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
รูป ๑๘ อย่างอันเกิดแต่กรรม ชื่อว่า อุปาทินนกรูป เพราะอันกรรมที่ประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิถือเอาแล้ว คือ ยึดเอาโดยความเป็นผลของตน รูปนอกจากนี้ คือ ๑๐ รูป เพราะถือเอารูปที่ยังไม่ได้ถือเอา ชื่อว่า อนุปาทินนกรูป
ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้แสดงอธิบายเรื่องอุปาทินนรูปและอนุปาทินนรูปไว้รุ.๕๑๘ ดังต่อไปนี้
กัมมชรูป ๑๘ นั้นชื่อว่า อุปาทินนรูป ก็เพราะเป็นผลที่เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม อันมีตัณหาและทิฏฐิเข้าไปกระทำให้เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น กัมมชรูป ๑๘ เหล่านี้ จึงชื่อว่า อุปาทินนรูป
ส่วนจิตตชรูป ๑๕ อุตุชรูป ๑๓ อาหารชรูป ๑๒ เหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผลที่เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม แต่เป็นผลที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อนุปาทินนรูป
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีอดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๑๙ ได้แสดงอุปาทินนรูปและอนุปาทินนรูปไว้ ดังต่อไปนี้
อุปาทินนรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม มี ๑๘ รูป ได้แก่ กัมมชรูป ๑๘
อนุปาทินนรูป หมายถึง รูปที่ไม่ได้เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม ได้แก่ รูปที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร
รูปที่เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม ที่เรียกว่า กัมมชรูป นั้น มีจำนวน ๑๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ เพราะรูปเหล่านี้เป็นรูปที่เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม อันตัณหาและทิฏฐิเข้าไปกระทำให้เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น กัมมชรูป ๑๘ เหล่านี้ จึงชื่อว่า อุปาทินนรูป
ส่วนรูปที่เกิดจากจิต คือ จิตตชรูป ๑๕ รูปที่เกิดจากอุตุ คือ อุตุชรูป ๑๓ และรูปที่เกิดจากอาหาร คือ อาหารชรูป ๑๒ รูปเหล่านี้ไม่ใช่เป็นรูปที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลของอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม แต่เป็นผลที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร [อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ๒ อย่าง ๓ อย่าง] จึงชื่อว่า อนุปาทินนรูป
ส่วนลักขณรูป ๔ นั้น ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเลยรุ.๕๒๐
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
ในอธิการว่าด้วยเรื่องอุปาทินนรูปและอนุปาทินนรูปนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อหาและคำอธิบายมาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
๑. อุปาทินนรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรม คือ อกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม มี ๑๘ รูป ได้แก่ กัมมชรูป ๑๘ คือ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๘ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นผลที่เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม [กล่าวคือ มหากุศลจิต ๘ รูปาวจรกุศลจิต ๕ ตามสมควร] ที่เรียกว่า กัมมชรูป ซึ่งมีตัณหาและทิฏฐิเข้าไปยึดไว้โดยความเป็นผลและกระทำให้เป็นอารมณ์ของอุปาทาน คือ เป็นรูปที่เป็นอารมณ์ของตัณหาและทิฏฐิ ซึ่งเป็นตัวอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นที่มีกำลังหนักแน่น เพราะได้เหตุปัจจัยสนับสนุนด้วยอำนาจอาเสวนปัจจัย คือ การเสพคุ้นบ่อย ๆ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เจริญงอกงามเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงลึก ยากที่จะถอนขึ้นได้ เพราะได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำและปุ๋ย ตลอดถึงแร่ธาตุในดินและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น กัมมชรูป ๑๘ เหล่านี้จึงได้ชื่อว่า อุปาทินนรูป แปลว่า รูปที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน หมายความว่า อุปาทาน ๔ กล่าวคือ
๑] กามุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจแห่งกาม ซึ่งเกิดความยินดีพอใจในรูปธรรมทั้งปวงด้วยอำนาจกามตัณหาแล้ว ติดใจ กำหนัด หลงใหล ในรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือเพศหญิง เพศชาย เป็นต้น ของรูปธรรมนั้น หรือติดใจในสภาพที่เป็นกลุ่มก้อนรวมกันทั้งหมด เช่น ติดใจในรูปที่เป็นหญิงหรือเป็นชาย เป็นต้น เมื่อยินดีติดใจและเสพคุ้นหรือคิดนึกถึงอยู่บ่อย ๆ ย่อมเกิดเป็นสภาพกามุปาทาน คือ ความยึดไว้อย่างเหนียวแน่นในรูปเหล่านั้น อันเป็นการยากที่จะละคลายหรือกำจัดออกไปจากจิตใจได้
๒] ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิอันเป็นความเห็นผิดจากความเป็นจริงในสภาพแห่งรูปธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ โดยสภาวะแล้ว รูปธรรมทั้งหลายเหล่านี้ เป็นของไม่เที่ยง แต่เห็นว่าเที่ยง รูปธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์ แต่เห็นว่าเป็นสุข รูปธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่เห็นว่าเป็นอัตตา รูปธรรมทั้งหลายเป็นอสุภะ แต่เห็นว่าเป็นสุภะ แล้วก็ยึดมั่นหลงใหลในรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือเพศหญิง เพศชาย เป็นต้น ของรูปธรรมนั้น หรือยึดมั่นในสภาพที่เป็นกลุ่มก้อนรวมกันทั้งหมด เช่น ยึดมั่นในรูปที่เป็นหญิงหรือเป็นชาย เป็นต้น เมื่อเสพคุ้นหรือคิดนึกถึงรูปเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ ย่อมเกิดเป็นสภาพทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในรูปเหล่านั้น อันเป็นการยากที่จะละคลายหรือกำจัดออกไปจากจิตใจได้
๓] สีลัพพตุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมทั้งหลายเหล่านี้ด้วยอำนาจแห่งศีลพรต เช่น คิดว่า ชีวิตจะยืนยงคงอยู่ได้นาน ก็ด้วยการบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายให้ได้รับความเจ็บปวดทรมานให้มากที่สุด อวัยวะในร่างกายจะเป็นอมตะได้ ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติในการย่างไฟ การทรมานด้วยของแข็ง ของมีคม ตากแดด สักยันต์ ฝังเข็ม ฝังตะกรุด เป็นต้น ผิวพรรณวรรณะจะผุดผ่องสวยงามเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดไป ก็ด้วยการดื่มกินยาวิเศษ สมุนไพรพิเศษ ดื่มเลือด กินเนื้อมนุษย์หรือสัตว์บางประเภท เป็นต้น เมื่อเสพคุ้นหรือคิดนึกถึงรูปเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ ย่อมเกิดเป็นสภาพสีลัพพตุปาทาน คือ ความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในรูปเหล่านั้น อันเป็นการยากที่จะละคลายหรือกำจัดออกไปจากจิตใจได้
๔] อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมทั้งหลายเหล่านี้ด้วยคิดว่าเป็นตัวตน เป็นสภาพยั่งยืน สามารถบงการบังคับบัญชาให้เป็นไปต่าง ๆ ได้ หรืออวัยวะในร่างกายนั้นเป็นของมีสาระ เป็นแท่งทึบล่ำสัน มีสภาพยั่งยืนคงทนถาวร เมื่อเสพคุ้นหรือระลึกถึงรูปเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ ย่อมเกิดเป็นสภาพอัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในรูปเหล่านั้น อันเป็นการยากที่จะละคลายหรือกำจัดออกไปจากจิตใจได้
๒. อนุปาทินนรูป หมายถึง รูปที่ไม่ได้เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม มี ๔๐ รูป ได้แก่ จิตตชรูป ๑๕ อุตุชรูป ๑๓ อาหารชรูป ๑๒ หมายความว่า อนุปปาทินนรูปเหล่านี้เป็นรูปที่ไม่ได้เป็นผลอันเกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรม แต่เป็นรูปที่เกิดจากอำนาจของจิต อุตุ และอาหาร เท่านั้น กล่าวคือ รูปธรรมเหล่านี้ ถ้าเกิดในร่างกายของสัตว์มีชีวิต ย่อมมีร่างกายของสัตว์นั้นนั่นแหละเป็นฐานปรากฏเกิดขึ้น เช่น การแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ อันเป็นจิตตชรูป อาหารที่เกิดขึ้นหล่อเลี้ยงร่างกาย อันเป็นอาหารชรูป และอุณหภูมิของร่างกาย ตลอดถึงรูปที่เกิดจากอุณหภูมิต่าง ๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น อันเป็นอุตุชรูป ส่วนรูปที่เกิดเป็นสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย มี แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา อากาศ เป็นต้น จัดเป็นอุตุชรูป ซึ่งเกิดขึ้นและเป็นไปตามสมุฏฐานที่ทำให้ตนเกิดขึ้นนั่นเอง
ส่วนลักขณรูป ๔ นั้น ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะเป็นเพียงลักษณะอาการของรูปธรรมทั้งหลายเท่านั้น แต่ก็จัดเป็นรูปธรรมด้วยอย่างหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ติดมากับรูปธรรมทั้งหลายนั่นเอง