| |
อุปมาอายตนะภายใน ๖ ด้วยสัตว์ ๖ ชนิด   |  

ในฉัปปาณโกปมสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรครุ.๑๓๑ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอุปมาอายตนะภายในทั้ง ๖ ด้วยสัตว์ ๖ ชนิด ดังต่อไปนี้

๑. ตา เปรียบเหมือน งู ชอบสอดส่ายดูสิ่งที่อยู่เร้นลับ

๒. หู เปรียบเหมือน จระเข้ ชอบอยู่ในน้ำที่วังวนเย็นสบาย

๓. จมูก เปรียบเหมือน นก ชอบโผผินบินเชยชมสิ่งต่าง ๆ

๔. ลิ้น เปรียบเหมือน สุนัขบ้าน ชอบลิ้มแทะเลียกระดูก

๕. กาย เปรียบเหมือน สุนัขจิ้งจอก ชอบความอบอุ่น

๖. ใจ เปรียบเหมือน ลิง เพราะชอบซุกซน

ดังหลักฐานในคัมภีร์ต่าง ๆ แสดงไว้ดังต่อไปนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีตัวเป็นแผล มีตัวเป็นพุพอง พึงเข้าไปสู่ป่าหญ้าคา ถ้าแม้หน่อหญ้าคาพึงตำเท้าของบุรุษนั้น ใบหญ้าคาพึงบาดตัวที่พุพอง บุรุษนั้นพึงเสวยทุกข์โทมนัส ซึ่งมีการตำและการบาดนั้นเป็นเหตุ โดยยิ่งกว่าประมาณ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในบ้านก็ดี อยู่ในป่าก็ดี ย่อมได้บุคคลผู้กล่าวท้วงว่า ท่านผู้นี้แล กระทำอย่างนี้ มีสมาจารอย่างนี้ เป็นหนามแห่งชาวบ้าน เป็นผู้ไม่สะอาด เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นหนามแห่งชาวบ้านผู้ไม่สะอาดนั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว พึงทราบอสังวรและสังวร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสังวรย่อมมีอย่างไร ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ...ดมกลิ่นด้วยจมูก ..ลิ้มรสด้วยลิ้น...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...รู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมใจไปในธัมมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในธัมมารมณ์อันไม่น่ารัก ย่อมไม่เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิด ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น คือ จับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วพึงขมวดปมไว้ตรงกลางปล่อยไป ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิดซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกันเหล่านั้น พึงดึงมาหาโคจรและวิสัยของตน ๆ งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงน้ำ นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักไปสู่ป่าช้า ลิงพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ต่างก็จะไปตามวิสัยของตน ๆ พึงลำบาก เมื่อนั้น บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ใดมีกำลังมากกว่าสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นพึงอนุวัตรคล้อยตามไปสู่อำนาจแห่งสัตว์นั้น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้อบรม ไม่กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุย่อมฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูลแก่เธอ ฯลฯ ใจย่อมฉุดไปในธัมมารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธัมมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูลแก่เธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสังวรย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังวรย่อมมีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ฯลฯ ภิกษุรู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในธัมมารมณ์อันน่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในธัมมารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้น อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์ ๖ ชนิดซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน คือ พึงจับงู จระเข้ นก สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ลิง แล้วผูกด้วยเชือกอันเหนียวแน่น ครั้นแล้วพึงผูกไว้ที่หลักหรือที่เสาอันมั่นคง ทีนั้นแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้น ซึ่งมีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน พึงดึงมาสู่โคจรและวิสัยของตน ๆ คือ งูพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่จอมปลวก จระเข้พึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักลงแม่น้ำ นกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักบินขึ้นสู่อากาศ สุนัขบ้านพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปบ้าน สุนัขจิ้งจอกพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าสู่ป่าช้า ลิงพึงดึงมาด้วยคิดว่า เราจักเข้าไปสู่ป่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล สัตว์ ๖ ชนิดเหล่านั้นต่างก็จะไปตามวิสัยของตน ๆ พึงลำบาก เมื่อนั้น สัตว์เหล่านั้นพึงยืนแนบ นั่งแนบ นอนแนบหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งอบรม กระทำให้มากซึ่งกายคตาสติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักษุย่อมไม่ฉุดภิกษุนั้นไปในรูปอันเป็นที่พอใจ รูปอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูลแก่เธอ ฯลฯ ใจย่อมไม่ฉุดไปในธัมมารมณ์อันเป็นที่พอใจ ธัมมารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมไม่เป็นของปฏิกูลแก่เธอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังวรย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า หลักหรือเสาอันมั่นคง นั้น เป็นชื่อของกายคตาสติ เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า กายคตาสติ เราทั้งหลายจักอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |