| |
บทสรุปเรื่องจิตตสมุฏฐาน   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๖๔ ได้แสดงสรุปเนื้อความเรื่องจิตตสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

อรูปาวจรกุศลที่เป็นภาวนาพิเศษในการคลายความยินดีในรูป ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลเป็นปฏิสนธิที่ประกอบด้วยรูปในอรูปภูมิได้ แต่ก่อให้เกิดนามธรรมล้วน ๆ ดังนั้น จิต ๔๖ ดวงทั้งหมดที่เกิดในภูมินั้น จึงก่อให้เกิดรูปไม่ได้ เพราะไม่มีกระแสแห่งรูปโดยสิ้นเชิง

ส่วนอรูปาวจรวิบากจิตย่อมเกิดขึ้นแน่นอนในอรูปภูมิ พระอนุรุทธาจารย์จึงถือเอาอรูปาวจรวิบากจิตเท่านั้น ดังคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า

อญฺานิปิ พหูนิ อารุปฺเป อุปฺปนฺนานิ อโนกาสตฺตา รูปํ น สมุฏฺาเปนฺติรุ.๕๖๕ แปลความว่า “จิตอื่นเป็นอันมากที่เกิดในอรูปภูมิ ย่อมไม่ก่อให้เกิดรูป เพราะมิใช่ฐานะ”

ในคำว่า “มิใช่ฐานะ” คือ ความไม่มีกระแสแห่งรูปที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

ในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวเหตุว่า “[อรูปาวจรวิบากจิตไม่ก่อให้เกิดรูป] เพราะเหตุ [คือกรรม] ห่างไกลจากรูปนั้น เนื่องจากเกิดจากภาวนาที่คลายความยินดีในรูป” เพราะเหตุนั้น จึงไม่สมควร เพราะพบว่าโลกุตตรวิบากจิตที่เกิดจากมรรคอันเป็นภาวนาที่คลายความยินดีในรูปนาม ก็ก่อให้เกิดรูปได้ ในเมื่อมีโอกาสส่งผลให้เกิดรูปได้

ทวิปัญจวิญญาณจิตเป็นจิตที่มีกำลังน้อย เพราะปราศจากองค์ฌาน ย่อมก่อให้เกิดรูปไม่ได้ ดังนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงไม่รวมเอาทวิปัญจวิญญาณจิตเข้าไว้ด้วย

ส่วนจิตอื่นเหล่านี้ คือ ปฏิสนธิจิตที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร รวม ๑๕ ดวง กับจุติจิตที่ปรินิพพานของพระขีณาสพ ย่อมก่อให้เกิดรูปไม่ได้ แต่จิตทั้งหมดนั้นก่อให้เกิดรูปได้ในเวลาเกิดเป็นภวังคจิตและในเวลาจุติ [ตาย] ของผู้ที่มิใช่พระขีณาสพ ด้วยเหตุนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงไม่รวมเอาจิตดังกล่าวนั้นเข้าไว้ในที่นี้ด้วย

ในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวว่า “ปฏิสนธิจิตและจุติจิต ไม่ใช่จิตต่างกัน เพราะนับเข้าในภวังคจิต ๑๙ ดวง จึงไม่ยกเว้นจิตเหล่านั้น” ในประโยคนั้น ท่านไม่ควรกล่าวว่า “ภวังคจิต ๑๙ ดวง” เพราะอรูปวิบากจิตถูกเว้นมาแล้ว

ถามว่า เพราะเหตุใด ปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวงตามที่กล่าวมาแล้ว จึงก่อให้เกิดรูปไม่ได้ ในขณะปฏิสนธิ ?

ตอบว่า เพราะมีกำลังน้อย ความจริง จิตได้รับปัจจัยบริบูรณ์ในขณะเกิดขึ้นเท่านั้น จึงมีกำลังมาก [ในอุปปาทักขณะ] ส่วนรูปได้รับปัจจัยบริบูรณ์ในขณะตั้งอยู่ [ฐีติขณะ] จึงมีกำลังมาก ดังนั้น แม้จิตจะเกิดในขณะที่ตนมีกำลังมาก ก็มีกำลังน้อย เพราะเกิดอาศัยหทัยวัตถุที่มีกำลังน้อย ปฏิสนธิจิตทั้งหมดจึงก่อให้เกิดรูปไม่ได้ในกาลนั้น

ปัจจัยบางประการมีอนันตรปัจจัยและอาเสวนปัจจัยเป็นต้น ย่อมแผ่ไปในขณะที่จิตเกิดขึ้น ส่วนอุตุและอาหารพร้อมทั้งธรรมที่เป็นปัจฉาชาตปัจจัยอุปถัมภ์รูปอยู่ ย่อมแผ่ไปในขณะที่รูปตั้งอยู่ ดังนั้น จิตและรูปจึงได้รับปัจจัยบริบูรณ์ในขณะเกิดขึ้นและขณะตั้งอยู่ตามลำดับ

ในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวเหตุว่า “ปฏิสนธิจิตย่อมไม่ก่อให้เกิดรูป เพราะอาศัยหทัยวัตถุที่อ่อนกำลัง ปราศจากปัจฉาชาตปัจจัยและไม่มีอาหารปัจจัยเป็นต้นอุปถัมภ์ และดำรงอยู่ได้ด้วยรูปที่เกิดจากกรรมโดยแทนฐานะของจิตตชรูป” ในพากย์ [ประโยค] นั้น คำว่า “ปราศจากปัจฉาชาตปัจจัย” นี้ บัณฑิตพึงใคร่ครวญ เพราะพระอนุรุทธาจารย์จักกล่าวว่าอุตุอันปราศจากปัจฉาชาตปัจจัยย่อมก่อให้เกิดรูปได้ในฐีติขณะของปฏิสนธิจิต โดยแท้จริงแล้ว จิตดวงหลังที่ไม่มีอยู่ ไม่อาจเป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่รูปใดรูปหนึ่งที่ตั้งอยู่ในขณะเกิดจิตดวงก่อนได้ เพราะปัจฉาชาตปัจจัยเป็นส่วนหนึ่งของอัตถิปัจจัย [ปัจจัยที่มีอยู่]

จุติจิตของพระขีณาสพสงบยิ่ง เพราะดำเนินไปในกระแสจิตที่ระงับมูลเหตุของวัฏฏะได้เป็นปกติ และอ่อนกำลังมากแล้ว เนื่องจากอาศัยหทัยวัตถุที่มีกำลังน้อยและถึงที่สุดด้วยการหมดสิ้นไปแห่งอายุสังขาร ดังนั้น จุติจิตของพระขีณาสพจึงก่อให้เกิดรูปไม่ได้

ส่วนอาจารย์อานันทเถระประสงค์ว่า จุติจิตของสรรพสัตว์ก่อให้เกิดรูปไม่ได้เช่นกัน ดังสาธก [ในคัมภีร์อรรถกถา] ว่า “ขีณาสวานํ จุติจิตฺตํรุ.๕๖๖ แปลความว่า จุติจิตของพระอรหันต์ [ย่อมไม่ก่อให้เกิดรูป]

แต่อนุมานรู้ได้ว่า จุติจิตของบุคคลอื่นก็ไม่ก่อให้เกิดรูปเหมือนกัน ดังพระพุทธพจน์ว่า “กามาวจรานํ ปจฺฉิมจิตฺตสฺส อุปฺปาทกฺขเณ ยสฺส จิตฺตสฺส อนนฺตรา กามาวจรานํ ปจฺฉิมจิตฺตํ อุปฺปชฺชิสฺสติ ฯ รูปาวจเร อรูปาวจเร ปจฺฉิมภวิกานํ เย จ รูปาวจรํ อรูปาวจรํ อุปฺปชฺชิตฺวา ปรินิพฺพายิสฺสนฺติ, เยสํ, จวนฺตานํ เตสํ วจีสงฺขาโร นิรุชฺฌิสฺสติ, โน จ เตสํ กายสงฺขาโร นิรุชฺฌติ รุ.๕๖๗ แปลความว่า วจีสังขาร [วิตกวิจาร] ของผู้จุติอยู่นั้น จักดับไป กายสังขาร [ลมหายใจเข้า-ออก] ของผู้จุติอยู่นั้น จักไม่ดับไป คือ ในขณะเกิดจุติจิตของกามาวจรบุคคล ขณะเกิดจิตดวงก่อน จุติจิตที่จักเกิดขึ้นของกามาวจรบุคคล ปัจฉิมภวิกบุคคล [บุคคลผู้เกิดเป็นชาติสุดท้าย] ผู้เกิดในรูปาวจรภูมิและอรูปาวจรภูมิแล้ว จักปรินิพพานในรูปาวจรภูมิและในอรูปาวจรภูมิ

[ข้อความว่า กายสังขารคือลมหายใจเข้า-ออกไม่ดับอยู่ในขณะเกิดจุติจิตของกามาวจรบุคคลทั้งหมด และในขณะเกิดจิตดวงก่อนจุติจิต แสดงว่า ลมหายใจเข้า-ออกไม่มีอยู่ก่อนจะเกิดจุติจิต]

ความจริง จิตที่ก่อให้เกิดรูปย่อมทำให้เกิดลมหายใจเข้า-ออกได้ ในเมื่อไม่มีเหตุขัดขวาง เช่น การอยู่ในครรภ์มารดา และผู้ที่จุติแล้ว ก็ไม่ควรมีรูปที่เกิดจากจิต นอกจากนี้ ยังไม่มีพระบาลีที่ตรัสว่า “จุติจิตฺตํ รูปํ สมุฏฺาเปติรุ.๕๖๘ แปลความว่า จุติจิตย่อมก่อให้เกิดรูปได้ ดังนี้เลย

[หมายเหตุ.. คนที่ไม่มีลมหายใจเข้า-ออก ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในครรภ์มารดา คนดำน้ำ คนสลบ คนเข้าจตุตถฌาน คนเข้านิโรธสมาบัติ และพรหมผู้อยู่ในรูปภูมิและอรูปภูมิ]

ในคัมภีร์อนุฎีกาท่านกล่าวว่า

ตสฺมึ ปาเ “เตสํ จวนฺตานํ โน จ กายสงฺขาโร นิรุชฺฌตี”ติ วจนํ น เกวลํ จุติจิตฺตสฺเสว รูปสมุฏฺาปนาภาวํ สาเธติ, อถ โข ตโต ปุริมานํ สพฺเพสํ มรณาสนฺน จิตฺตานํ รูปสมุฏฺาปนาภาวมฺปิ สาเธติเยวาติ ทีเปติ ฯ จุติจิตฺตสฺมึ หิ กายสงฺขารสฺส นิโรเธ ปฏิสิทฺเธ ตโต ปุพฺเพ ยาว สตฺตรสมจิตฺตา เอตฺถนฺตเร ตสฺส อุปฺปาโทติ ปฏิสิทฺโธ เอวโหติรุ.๕๖๙ แปลความว่า ในพระบาลีนั้น พระดำรัสว่า “กายสังขาร [ลมหายใจเข้า-ออก] ของผู้จุติอยู่นั้น จักไม่ดับไป” ไม่ใช่แสดงว่า “จุติจิตเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ก่อให้เกิดรูป” แต่ยังแสดงว่า จิตในมรณาสันนวิถี [วิถีจิตในขณะใกล้เสียชีวิต] ที่เกิดก่อนจุติจิตทั้งหมดนั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิดรูป เพราะเมื่อพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธการเกิดขึ้นของลมหายใจเข้า-ออกในขณะจุติจิตแล้ว ก็นับว่าทรงปฏิเสธการเกิดขึ้นของลมหายใจเข้า-ออกในระหว่างนี้ ตั้งแต่ก่อนจุติจิตจนถึงจิตดวงที่ ๑๗

ข้อความทั้งหมดนั้นพึงใคร่ครวญ เพราะกายสังขารคือลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งเป็นรูปธรรมหยาบยิ่งนัก จึงไม่ควรกล่าวว่า จุติจิตไม่ก่อให้เกิดสุขุมรูปอื่น โดยอ้างอิงพระดำรัสที่ตรัสความดับของลมหายใจเข้า-ออกในจุติจิต

ความที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อนุฎีกานั้นว่า

น หิ รูปสมุฏฺาปกจิตฺตสฺส คพฺภคมนาทิวินิพทฺธาภาเว กายสงฺขารา สมุฏฺาปนํ อตฺถิรุ.๕๗๐ แปลความว่า จิตที่ก่อให้เกิดรูป ย่อมทำให้เกิดลมหายใจเข้า-ออกได้ ในเมื่อไม่มีเหตุขัดขวาง เช่น การอยู่ในครรภ์มารดา

ข้อความนั้นไม่สมควร เพราะการอยู่ในครรภ์มารดาเป็นต้น ควรเป็นสาธกของข้อความว่า จุติจิตแม้ไม่ก่อให้เกิดลมหายใจเข้า-ออกอันเป็นรูปหยาบ แต่ก่อให้เกิดสุขุมรูปอื่นได้

ความที่กล่าวไว้ในคัมภีร์นั้นว่า “และผู้ที่จุติแล้ว ก็ไม่ควรมีรูปที่เกิดจากจิต” ข้อความนั้น ไม่สมควร เพราะการเกิดจิตตชรูปชั่วขณะเล็กน้อยถัดจากจุติจิตก็ควรจะมีได้

ความที่กล่าวไว้ในคัมภีร์นั้นว่า “นอกจากนี้ พระบาลีที่ตรัสว่า จุติจิตก่อให้เกิดรูปได้ก็ไม่ปรากฏ” ในข้อนั้น ควรกล่าวได้ว่า แม้พระบาลีก็ไม่มีคำปฏิเสธว่า จุติจิตก่อให้เกิดรูปไม่ได้ นอกจากปฏิเสธความดับของลมหายใจเข้า-ออกเท่านั้น

ความชอบด้วยเหตุผลพึงมีได้ว่า รูปธรรมมีกำลังน้อย เพราะมีเหตุปัจจัยน้อย [คือไม่ได้รับปัจฉาชาตปัจจัย] และเป็นไปช้าในขณะจิตดวงแรกของปฏิสนธิกาลเบื้องต้น ฉันใด แม้ในมรณกาลที่สุดก็มีกำลังน้อย เพราะหมดเหตุปัจจัยหรือใกล้จะดับ ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงรู้ได้ว่า ปฏิสนธิจิตที่อาศัยเบื้องต้นของหทัยวัตถุและจุติจิตอันอาศัยที่สุดของหทัยวัตถุมีกำลังน้อยเสมอกัน

ในคัมภีร์วิภาวินีและอภิธัมมัตถปกาสินีสำคัญว่า [ข้อความของพระฎีกาจารย์] ไม่สอดคล้องกับพระบาลี [สังขารยมกที่กล่าวข้างต้น] จึงมิได้พิจารณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่แสดงนัยที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ฎีกาเท่านั้น

คำว่า ปมภวงฺคมุปาทาย แปลความว่า นับตั้งแต่ภวังคจิตดวงแรกเป็นต้นมา หมายความว่า นับแต่การเกิดขึ้นของภวังคจิตดวงแรก

คำว่า ชายนฺตเมว แปลว่า เมื่อเกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อเกิดขึ้นในอุปปาทักขณะ มิใช่เมื่อตั้งอยู่รุ.๕๗๑ หรือดับไป ข้าพเจ้า [พระฎีกาจารย์] ได้กล่าวเหตุมาแล้ว

คำว่า ตตฺถ คือ บรรดาจิต ๗๕ ดวงนั้น

คำว่า อปฺปนาชวนํ คือ อัปปนาชวนจิต ๒๖ ดวง ยกเว้นอภิญญาจิต ๒ ดวง

คำว่า อิริยาปถํ คือ อิริยาบถ ๓ อย่าง ยกเว้นการเดิน

ในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวว่า “การเดินเป็นต้น” ข้อความนั้นไม่สมควร เพราะการเคลื่อนไหวอวัยวะน้อยใหญ่ ย่อมไม่มีโดยปราศจากวิญญัติ การเดินจึงมีไม่ได้โดยปราศจากวิญญัติ และอัปปนาชวนะดังกล่าวก็ก่อให้เกิดวิญญัติไม่ได้

ปิ ศัพท์ แสดงว่า อัปปนาชวนจิตมิได้ก่อให้เกิดรูปอย่างเดียว [แต่ยังทำอิริยาบถของร่างกายให้ดำเนินไปได้อีกด้วย]

คำว่า สนฺนาเมติ แปลว่า ย่อมทรงไว้ อีกนัยหนึ่ง ควรมีรูปว่า สนฺธาเรติ หมายความว่า ทรงไว้ คือ อุปถัมภ์อิริยาบถตามที่เป็นไป ซึ่งถูกจิตที่จักกล่าวถัดไปปรุงแต่งไม่ให้ล้มลงหรือเคลื่อนไหวได้ การอุปถัมภ์ในที่นี้ คือ การรักษาอิริยาบถตามที่เป็นไปอยู่ ไม่ใช่เหมือนการพยุงขึ้นแล้วเคลื่อนไหว มิฉะนั้นแล้ว ความสงสัยในวิญญัติรูปที่ค้ำจุน ก็ควรมีได้

เมื่อจิตที่ทำให้ตื่น ๒๖ ดวงนี้ [อัปปนาชวนจิต ๒๖ เรียกว่า ชาครณจิต] กับจิต ๓๒ ดวงที่จักกล่าวต่อไป [มโนทวาราวัชชนจิต กามชวนจิต และอภิญญาจิต] เกิดขึ้นอยู่ อวัยวะน้อยใหญ่ย่อมไม่ล้มลง เหมือนขณะเกิดภวังคจิตคละกัน [กับวิถีจิต] แก่ผู้ที่นั่งอยู่ หรือยืนอยู่ แต่เมื่อจิตดังกล่าวเป็นไปอยู่ อวัยวะน้อยใหญ่ย่อมถูกทรงไว้ไม่ให้ล้มลง คือ ดำเนินไปตามที่ตั้งอยู่เหมือนก่อน

ในคัมภีร์วิภาวินีมีข้อความว่า “เมื่อจิต ๓๒ ดวงนี้ กับจิตที่ทำให้ตื่น ๒๖ ดวงที่จักกล่าวต่อไปเกิดขึ้นอยู่ อวัยวะน้อยใหญ่ย่อมไม่ล้มลง” แต่ควรมีข้อความว่า “เมื่อจิต ๒๖ ดวงนี้กับจิตที่ทำให้ตื่น ๓๒ ดวงที่จักกล่าวต่อไปเกิดขึ้นอยู่ อวัยวะน้อยใหญ่ย่อมไม่ล้มลง” ดังนี้

คำว่า โวฏฺพฺพเน [โวฏฐัพพนจิต] คือ อาวัชชนจิตในมโนทวาร เพราะชวนจิตในปัญจทวารไม่ก่อให้เกิดวิญญัติหรืออุปถัมภ์อิริยาบถได้

โวฏฐัพพนจิตเป็นต้น หมายเอาจิตที่เกิดในปัญจทวารได้บ้าง เพราะ ปิ ศัพท์ทำหน้าที่รวบรวมไว้

อิริยาบถ คือ รูปธรรมที่ดำเนินไปโดยระยะกาลนั้น ๆ มีการเดินเป็นต้น จิตบางดวงย่อมก่อให้เกิดรูปตามปกติ ไม่มีหน้าที่มากกว่านี้ บางดวงรักษาอิริยาบถดังที่เป็นไปตามอำนาจของจิตดวงอื่นได้ แต่ก่อให้เกิดอิริยาบถใหม่ไม่ได้ บางดวงก่อให้เกิดวิญญัติและอิริยาบถใหม่ได้ ทั้งทำให้เกิดอาการทางกายกับวาจาอื่นได้อีก และจิตที่ก่อให้เกิดหน้าที่หลัง ย่อมทำให้เกิดหน้าที่แรกได้โดยแท้ เพื่อแสดงข้อความข้างต้นนี้ พระอนุรุทธาจารย์จึงแสดงประเภทเหล่านี้ไว้

ในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวว่า “ส่วนจิตที่ก่อให้เกิดวิญญัติ ย่อมอุปถัมภ์อิริยาบถแน่นอน เพราะอิริยาบถไม่เกิดแยกกันกับวิญญัติ” ข้อความนั้นไม่สมควร เพราะในที่นี้ พระอนุรุทธาจารย์กล่าวถึงการอุปถัมภ์อิริยาบถที่ปราศจากวิญญัติ มิได้กล่าวถึงการอุปถัมภ์อิริยาบถที่ประกอบด้วยวิญญัติ มิฉะนั้นแล้ว อัปปนาจิตก็ควรก่อให้เกิดวิญญัติได้

คำว่า โสมนสฺสชวนานิ เตรส แปลความว่า โสมนัสสชวนจิต ๑๓ ดวง อันได้แก่ ชวนจิต [อย่างละ] ๔ ดวง ๆ จากโลภมูลจิต มหากุศลจิต และมหากิริยาจิต พร้อมทั้งหสิตุปปาทจิต ๑ ดวง

ในบรรดาจิต ๑๓ ดวงเหล่านี้ จิต ๘ ดวง จากกุศลจิตและอกุศลจิต ย่อมมีแก่ปุถุชน จิต ๖ ดวง จากกุศลจิตและอกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ [ความเห็นผิด] มีได้แก่ พระเสกขบุคคล ส่วนจิต ๕ ดวง จากกิริยาจิต มีได้แก่ พระขีณาสพ

ในคัมภีร์อรรถกถาปฏิสนธิความเห็นว่า “หสิตุปปาทจิตซึ่งไม่มีหน้าที่ใคร่ครวญ ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังพระพุทธดำรัสว่า สพฺพํ กายวจีมโนกมฺมํ าณปุพฺพงฺคมํ าณานุปริวตฺตํรุ.๕๗๒ แปลความว่า กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมทั้งหมด มีญาณเป็นเบื้องหน้า คล้อยตามญาณ

ถ้ามีความเห็นดังนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมจะไม่เกิดอเหตุกจิตดวงอื่น และมหากิริยาชวนจิตที่ไม่ประกอบกับญาณ ดังนั้น พระองค์จึงมีญาณเป็นเบื้องหน้า คล้อยตามญาณ โดยเนื่องกับญาณที่เกิดก่อนและหลัง การยิ้มที่เกิดขึ้นด้วยหสิตุปปาทจิต ย่อมไม่มี

สำหรับบทสรุปจากผู้เขียนนั้น ได้เขียนสรุปมาแล้วแต่ละตอน ตามที่กล่าวมาแล้วโดยลำดับ จึงไม่ขอสรุปซ้ำอีกในที่นี้ หากท่านผู้อ่านสงสัยหรือสับสน โปรดย้อนกลับไปอ่านเรื่องจิตตสมุฏฐานนี้อีกเถิด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |