| |
ธรรมที่ตรงกันข้ามกับรูปธรรม ๘ ชื่อ   |  

ผู้เขียนได้ประมวลธรรมที่มีประเภทและความหมายตรงกันข้ามกับรูปธรรม ๘ ชื่อเหล่านี้ มาชี้แจงและอธิบายความหมายเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

๑. สเหตุกธรรม หมายถึง ธรรมที่ประกอบด้วยเหตุ หรือธรรมที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ได้แก่ สเหตุกจิต ๗๑ เจตสิกที่ประกอบ ๕๒ [เว้นอเหตุกจิต ๑๘ และเจตสิกที่ประกอบ ๑๒ ดวง และโมหเจตสิกที่ประกอบในโมหมูลจิต ๒ ดวง] เหตุที่เกิดร่วมด้วย ได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ และอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ซึ่งในสเหตุกจิต ๗๑ นั้น จิตบางดวงก็มี ๑ เหตุ บางดวงก็มี ๒ เหตุ บางดวงก็มี ๓ เหตุ แต่ในจิตดวงหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเกินกว่า ๓ เหตุขึ้นไป เพราะอโสภณเหตุกับโสภณเหตุนั้นมีสภาพที่ขัดแย้งกัน จึงไม่สามารถเกิดร่วมด้วยในจิตดวงเดียวกันได้ ส่วนเจตสิกที่ประกอบกับสเหตุกจิต ๗๑ ดวงนั้น ยกเว้นโมหเจตสิกขณะที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒ ดวง ซึ่งมีสภาพเป็นอเหตุกะแล้ว เจตสิกนอกจากนี้ ย่อมมีเหตุ ๑ บ้าง ๒ เหตุบ้าง ๓ เหตุบ้าง ๕ เหตุบ้าง ๖ เหตุบ้างรุ.๔๘๒

๒. อัปปัจจยธรรม หมายถึง ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ได้แก่ พระนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น เพราะพระนิพพานนั้นเป็นสภาวธรรมที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่เป็นธรรมที่ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงเป็นธรรมที่ไม่มีการเกิดขึ้น และไม่มีการดับไป ส่วนบัญญัติธรรมทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงโดยสภาวะ เป็นเพียงสิ่งที่สมมติกันขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายรู้ร่วมกันในแต่ละท้องถิ่นแต่ละสังคมหรือแต่ละประเทศชาติเท่านั้น จึงเป็นธรรมที่สงเคราะห์เข้าในอปัจจยธรรมโดยอนุโลม

๓. อนาสวธรรม หมายถึง ธรรมที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของอาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ซึ่งได้แก่ โลกุตตรจิต ๘ เจตสิก ๓๖ และพระนิพพาน เท่านั้น เพราะโลกุตตรจิต ๘ [หรือ ๔๐] และเจตสิกที่ประกอบ ๓๖ ดวงนั้น เป็นธรรมที่ร่วมทำการประหาณอาสวธรรมให้หมดสิ้นจากขันธสันดาน ด้วยเหตุนี้ อาสวธรรมทั้ง ๔ จึงไม่สามารถยึดเอาโลกุตตรจิตและเจตสิกที่ประกอบเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ได้ ส่วนพระนิพพานนั้น เป็นสภาวะที่สงบจากกิเลสและขันธ์ ๕ ทั้งปวง เป็นสภาวะที่เป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิตและเจตสิกที่ประกอบเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ อาสวกิเลสใด ๆ จึงไม่สามารถยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้เช่นเดียวกัน

๔. อสังขตธรรม หมายถึง ธรรมที่ไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้งหลาย ได้แก่ พระนิพพาน และบัญญัติธรรมทั้งหลาย เพราะพระนิพพานนั้นเป็นสภาวธรรมที่มีอยู่แผนกหนึ่งต่างหากจากสังขตธรรม เป็นสภาวะที่สงบ ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีการเกิดและไม่มีการดับ ส่วนบัญญัติธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งที่สมมุติกันขึ้นไม่มีอยู่จริงโดยสภาวะ จึงไม่มีการเกิดและไม่มีการดับเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น พระนิพพานและบัญญัติจึงได้ชื่อว่า อสังขตธรรม ดังกล่าวแล้ว

๕. โลกุตตรธรรม หมายถึง ธรรมที่พ้นจากการนับสงเคราะห์เข้าในสังขารธรรม ได้แก่ โลกุตตรจิต ๘ [หรือ ๔๐] เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ และพระนิพพาน สำหรับโลกุตตรจิต ๘ [หรือ ๔๐] และเจตสิกที่ประกอบ ๓๖ ดวงนั้น แม้จะมีสภาพเกิดและดับเหมือนกันกับโลกียธรรมทั้งหลายก็จริง แต่เพราะโลกุตตรจิตและเจตสิกเหล่านี้เป็นสภาวธรรมที่รับพระนิพพานซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมที่แท้จริงเป็นอารมณ์โดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น โลกุตตรจิตและเจตสิกที่ประกอบจึงนับสงเคราะห์เป็นโลกุตตรธรรมด้วย ส่วนพระนิพพานนั้น มีสภาพที่นับสงเคราะห์เข้าในสังขารธรรมไม่ได้ เพราะพ้นจากการปรุงแต่งและไม่มีความแตกดับทำลาย เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงเป็นโลกุตตรธรรมโดยส่วนเดียวอย่างแท้จริง

๖. รูปาวจรธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นอารมณ์ของรูปตัณหา คือ ความยินดีติดใจในรูปภพและรูปฌาน ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ และเจตสิกที่ประกอบ ๓๕, อรูปาวจรธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นอารมณ์ของอรูปตัณหา คือ ความยินดีติดใจในอรูปภพและอรูปฌาน ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิกที่ประกอบ ๓๐, และโลกุตตรธรรม หมายถึง ธรรมที่ไม่ได้เป็นอารมณ์ของตัณหาทั้งหลาย ได้แก่ โลกุตตรจิต ๘ [หรือ ๔๐] เจตสิกที่ประกอบ ๓๖ และพระนิพพาน ธรรมทั้ง ๓ อย่างนี้ มีสภาวะแตกต่างจากกามาวจรธรรมโดยสิ้นเชิง และแตกต่างซึ่งกันและกัน ส่วนบัญญัติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และไม่สามารถนับสงเคราะห์เข้าเป็นกามาวจรธรรม รูปาวจรธรรม อรูปาวจรธรรม และโลกุตตรธรรมได้

๗. สารัมมณธรรม หมายถึง สภาวธรรมที่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ ได้แก่ จิต ๘๙ [หรือ ๑๒๑] และเจตสิก ๕๒ ดวงเท่านั้น ส่วนธรรมที่นอกจากนี้ ได้แก่ รูป ๒๘ นิพพาน และบัญญัติ เป็นธรรมที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น รูป ๒๘ และนิพพาน จึงได้ชื่อว่า อนารัมมณธรรม คือ ธรรมที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ ส่วนบัญญัติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งสมมุติขึ้นเพื่อหมายรู้ร่วมกันเท่านั้น จึงสงเคราะห์เข้าใน อนารัมมณธรรมโดยอนุโลม

๘. ปหาตัพพธรรม หมายถึง ธรรมที่ควรประหาณ ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ และเจตสิกที่ประกอบ ๒๗ หรือได้แก่ กิเลส ๑๐ มีโลภกิเลส เป็นต้น ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิก ๑๐ ดวงที่ประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ นั่นเอง ส่วนธรรมที่นอกจากนี้เป็นธรรมที่ไม่ควรประหาณ จึงได้ชื่อว่า อัปปหาตัพพธรรม ดังกล่าวไปแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |