| |
ความหมายของวาโยธาตุ   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๐๐ ได้แสดงความหมายของคำว่า วาโย ไว้ดังต่อไปนี้

วาโย คือ รูปที่เคลื่อนไหว กล่าวคือ รูปที่กระทำมหาภูตรูปอื่น ๆ ให้ไปสู่สถานที่อื่นโดยเป็นเหตุให้เกิดในสถานที่อื่น

อีกนัยหนึ่ง วาโย คือ รูปที่นำสหชาตธรรมไปโดยไม่ให้หยุดนิ่ง

เมื่อสรุปความแล้ว วาโยมีความหมาย ๒ ประการ คือ

๑. รูปที่เคลื่อนไหว ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วายติ สมีเรตีติ วาโย” แปลความว่า รูปใดย่อมเคลื่อนไหวไปได้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า วาโย

๒. รูปที่นำสหชาตธรรมไป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วายติ สหชาตธมฺเม วหตีติ วาโย” แปลความว่า รูปใดย่อมนำสหชาตธรรมทั้งหลายให้เคลื่อนไหวไป เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า วาโย

ธาตุลมนั่นเอง ชื่อว่า วาโยธาตุ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๐๑ ได้แสดงความหมายของวาโยไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ชื่อว่า วาโย ด้วยอรรถว่า เคลื่อนไหว คือ ให้ประชุมแห่งภูตรูปเคลื่อนที่ โดยเป็นเหตุเกิดปรากฏ [แห่งรูป] ในที่อื่น

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นต้นรุ.๑๐๒ ได้แสดงความหมายของวาโยธาตุไว้ดังนี้

วาโย เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า ธาตุลม มีลักษณะเคร่งตึงและเคลื่อนไหว [วิตฺถมฺภนลกฺขณา หรือ สมีรณลกฺขณา] ธาตุลมที่มีลักษณะเคร่งตึง เรียกว่า วิตถัมภนวาโย ถ้าเป็นวาโยธาตุที่อยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีหน้าที่ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนตั้งมั่น ไม่คลอนแคลนเคลื่อนไหวไปมาได้ เมื่อใด วิตถัมภนวาโยปรากฏแล้ว เมื่อนั้น ผู้นั้นจะรู้สึกว่า ตึงปวดเมื่อยไปทั่วร่างกาย หรือเมื่อใด ที่เราเกร่งข้อ แขน ขา และเพ่งมองจ้องดูสิ่งใดนาน ๆ โดยไม่กระพริบตา เมื่อนั้น วิตถัมภนวาโยย่อมปรากฏโดยความพยายามของตน สำหรับวิถัมภนวาโยที่อยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น ทำให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง หรือทำให้ตึงขึ้น ทั้งนี้ก็ด้วยอำนาจของวิตถัมภนวาโยนั่นเอง เช่น ลูกฟุตบอลที่อัดเอาลมเข้าไปอยู่ภายใน ลูกบอลนั้นตึงขึ้นได้ก็เพราะวาโยที่เป็นวิตถัมภนวาโยนั่นเอง หรือธมกรกสำหรับกรองน้ำ เมื่อกดธมกรกลงในน้ำ น้ำเข้าไปอยู่ในธมกรกนั้นแล้ว เวลายกขึ้นเอามือปิดรูธมกรกแล้ว วาโยธาตุที่อยู่ข้างในก็หนุนรองน้ำที่อยู่ในธมกรกไม่ให้ไหลออกมา เช่นเดียวกับโลกที่สัตว์ทั้งหลายอาศัยอยู่นี้ พื้นแผ่นดินตั้งอยู่เหนือน้ำ น้ำตั้งอยู่เหนือลม ที่เรียกว่า เหฏฐิมอัชฎากาศ เหฏฐิมอัชฏากาศนี้ย่อมหนุนรองน้ำไว้ให้น้ำและพื้นแผ่นดินตั้งมั่นอยู่ได้ เช่นนี้ ก็เป็นไปด้วยอำนาจวิตถัมภนวาโย

ธาตุลมที่มีลักษณะเคลื่อนไหว เรียกว่า สมีรณวาโย เป็นวาโยธาตุที่ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนเคลื่อนไหวไปมาได้ เช่น สัตว์ทั้งหลายที่เคลื่อนไหวอิริยาบถต่าง ๆ ได้ หรือกระพริบตา เกลือกกลอกนัยน์ตาไปมาได้ กระดิกมือ กระดิกเท้า การขับถ่ายสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย การคลอดบุตร เป็นต้นเหล่านี้ ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจสมีรณวาโยทั้งสิ้น ส่วนสมีรณวาโยที่อยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น ทำให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ เคลื่อนไหวจากที่เดิมไปได้

บทสรุปของผู้เขียน :

วาโยธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง คือ ธาตุลม มีลักษณะเคร่งตึงหรือหย่อน สรุปแล้ว มี ๒ ความหมาย คือ

๑. วาโยธาตุ เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง คือ ธาตุลมที่มีลักษณะเคร่งตึง คือ ทำให้สิ่งต่าง ๆ ตั้งมั่นอยู่ได้ เรียกว่า วิตถัมภนวาโย

๒. วาโยธาตุ เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง คือ ธาตุลมที่มีลักษณะหย่อน คือ ทำให้สิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไหวไปได้ เรียกว่า สมุทีรณวาโย หรือ สมีรณวาโย

อธิบายความว่า วาโยธาตุ คือ ธาตุลมนี้ ถ้ามีลักษณะเคร่งตึง ก็เรียกว่า วิตถัมภนวาโย ซึ่งเป็นลมที่ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนนั้นมีอาการตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น ถ้ามีวิตถัมภนวาโยมาก ย่อมทำให้ผู้นั้นรู้สึกตึงปวดเมื่อยไปทั่วร่างกาย หรือมิฉะนั้น ก็เกิดขึ้นในขณะที่มีอาการเกร่งแขน ขา หรือขณะที่เพ่งมองดูอะไรนาน ๆ โดยไม่กระพริบตา ส่วนวิตถัมภนวาโยที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์ คือ เกิดในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ย่อมทำให้สิ่งนั้นตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง หรือทำให้แข็งตึง เช่น ในยางรถยนต์ที่สูบลมจนเต็มแล้ว หรือในลูกบอลที่อัดลมเข้าไปภายในจนเต็มแล้ว เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะมีวิตถัมภนวาโยอยู่เป็นปริมาณมากนั่นเอง

ธาตุลมอีกลักษณะหนึ่ง มีลักษณะเคลื่อนไหว เรียกว่า สมุทีรณวาโย หรือบางทีก็เรียกว่า สมีรณวาโย เป็นธาตุลมที่ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนนั้นหย่อนและเคลื่อนไหวไปมาได้ เช่น อาการเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งหลายที่มีการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่าง ๆ หรือมีการกะพริบตา กระดิกมือ กระดิกเท้า หรือขับถ่ายสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย ตลอดจนการคลอดบุตร เป็นต้น เหล่านี้ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจของสมีรณวาโยทั้งสิ้น ส่วนลมที่เคลื่อนไหวอยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ที่มีชีวิตนั้น ย่อมทำให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ เคลื่อนไหวไปจากที่เดิมหรือเคลื่อนไหวไปมาได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |