| |
คุณสมบัติพิเศษของปถวีธาตุ   |  

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕ เป็นต้น ได้แสดงคุณสมบัติพิเศษของปถวีธาตุไว้ดังนี้

ปถวีธาตุ เป็นรูปธรรมหรือรูปธาตุชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันว่า ธาตุดิน ฯ

ปถวีธาตุ มีลักษณะพิเศษเฉพาะตน ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ ๔ ประการ มี ลักษณะ เป็นต้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกกะ ได้แก่

๑. กฺกขฬมุทุลกฺขณา มีความแข็งหรือความอ่อน เป็นลักษณะ

๒. ปติฏฺาปนรสา มีการทรงไว้ซึ่งรูปอื่น ๆ เป็นกิจ

๓. สมฺปฏิจฺฉนปจฺจุปฏฺานา มีการรองรับไว้ได้ซึ่งรูปอื่น ๆ เป็นผลปรากฏ

๔. อวเสสธาตุตฺตยปทฏฺานา มีรูปธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ คือ อาโป เตโช วาโย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ปถวีธาตุมีลักษณะพิเศษเฉพาะตน ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ ประการ มีลักษณะเป็นต้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้

๑. กฺกขฬมุทุลกฺขณา มีความแข็งหรือความอ่อน เป็นลักษณะ หมายความว่า ปถวีธาตุ คือ ธาตุดินนี้ ย่อมมีลักษณะแข็งหรืออ่อน เป็นสภาวะลักษณะเฉพาะประจำของตน ไม่ว่าจะเกิดกับใครหรือสิ่งใด ที่ไหน เมื่อไรก็ตาม ย่อมจะแสดงลักษณะแข็งหรือลักษณะอ่อน [คือแข็งน้อย] ให้ปรากฏกับบุคคลนั้นหรือสิ่งนั้นเสมอ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะลักษณะไปเป็นอย่างอื่นเลย

๒. ปติฏฺาปนรสา มีการทรงไว้ซึ่งรูปอื่น ๆ เป็นกิจ หมายความว่า เพราะธาตุดินมีสภาพแข็ง จึงเป็นเครื่องรองรับธาตุอื่น ๆ ได้ ถ้าไม่มีปถวีธาตุเป็นพื้นฐานรองรับเสียแล้ว ธาตุอื่น ๆ ย่อมไม่สามารถปรากฏขึ้นได้ และธาตุอื่น ๆ จะปรากฏสภาวะลักษณะขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะมีปถวีธาตุเป็นเครื่องรองรับ กล่าวคือ ธาตุน้ำจะปรากฏอาการเอิบอาบซึมซาบได้ ก็ต้องมีธาตุดินเป็นเครื่องรับรอง ธาตุน้ำจึงเอิบอาบซึมซาบไปสู่ธาตุดินและทำให้ธาตุดินไหลหรือเกาะกุมกันอยู่ได้ ธาตุไฟจะปรากฏสภาวะลักษณะร้อนหรือเย็นได้ ก็ต้องมีธาตุดินเป็นเครื่องรองรับ ธาตุไฟจึงแสดงอาการร้อนหรือเย็นของธาตุดินนั่นเองออกมา ธาตุลมจะกระพือพัดได้ ก็ต้องมีธาตุดินเป็นเครื่องรองรับ ธาตุลมจึงจะกระพือพัดธาตุดินไปได้ และทำให้ธาตุดินเกิดความเคร่งตึงหรือหย่อนเบาได้ เพราะฉะนั้น ธาตุดินจึงเป็นสภาวะที่ทรงไว้ซึ่งหน้าที่ประจำของตนคือทรงรูปอื่น ๆ ไว้ได้

๓. สมฺปฏิจฺฉนปจฺจุปฏฺานา มีการรองรับไว้ได้ซึ่งรูปอื่น ๆ เป็นผลปรากฏ หมายความว่า ผลปรากฏที่แสดงออกมาของธาตุดินนั้น คือ การรองรับไว้ได้ซึ่งธาตุอื่น ๆ ดังกล่าวแล้ว หรือการที่ธาตุอื่น ๆ สามารถปรากฏขึ้นได้ ก็เพราะมีธาตุดินเป็นฐานรองรับอยู่นั่นเอง

๔. อวเสสธาตุตฺตยปทฏฺานา มีรูปธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ คือ อาโป เตโช วาโย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ธาตุดินแม้จะมีสภาวะลักษณะแข็งกว่าธาตุอื่น ๆ และเป็นเครื่องรองรับให้ธาตุอื่น ๆ ปรากฏเกิดขึ้นก็ตาม แต่ธาตุดินก็ไม่สามารถปรากฏเกิดขึ้นโดยลำพังตนเองได้ จำต้องอาศัยธาตุอื่น ๆ ช่วยอุปถัมภ์ค้ำจุนด้วย กล่าวคือ ต้องอาศัยธาตุน้ำเป็นเครื่องเกาะกุมให้เป็นกลุ่มก้อนรวมกันอยู่ได้ อาศัยธาตุไฟเป็นไออุ่นหล่อเลี้ยงรักษา และอาศัยธาตุลมเป็นเครื่องกระพือพัดทำให้เกิดความเคร่งตึงหรือหย่อนเบาได้ตามสมควรแก่สถานะของธาตุดินที่ปรากฏเป็นสิ่งนั้น ๆ เช่น เป็นเพชรก็ต้องมีความเคร่งตึงมากจึงทำให้แข็งแกร่ง เป็นน้ำก็ต้องมีความเคร่งตึงน้อยจึงทำให้หย่อนและเบาสามารถไหลไปได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ คือ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม จึงเป็นเหตุใกล้ให้ธาตุดินสามารถปรากฏเกิดขึ้นได้และทรงตัวอยู่ได้

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีและมูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๕๖ ได้อธิบายสรุปความเรื่องปถวีธาตุไว้ดังนี้

ที่ว่า ปถวีธาตุ มีความแข็งเป็นลักษณะนั้น คือ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับธาตุอื่น ๆ แล้ว ปถวีธาตุคือธาตุดินนี้ย่อมมีสภาพแข็งกว่าธาตุอื่น ในลักขณาทิจตุกกะจึงแสดงว่า ปถวีธาตุมีความแข็งเป็นลักษณะเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงความอ่อนด้วย แต่แท้จริงแล้ว ความอ่อนก็คือ ความแข็งมีน้อยนั่นเอง นอกจากปถวีธาตุแล้วรูปอื่น ๆ ไม่สามารถทำให้ความแข็งหรือความอ่อนปรากฏขึ้นแก่การสัมผัสถูกต้องได้เลย วัตถุใดมีปถวีธาตุมาก วัตถุนั้นย่อมมีความแข็งมาก เช่น ไม้ หิน เหล็ก เป็นต้น แต่ถ้าวัตถุใดมีปถวีธาตุน้อย วัตถุนั้นย่อมมีความแข็งน้อย เช่น สำลี ยาง ฟองน้ำ เป็นต้น เมื่อสัมผัสถูกต้องแล้วจะรู้สึกว่ามีลักษณะอ่อน เพราะฉะนั้น ธรรมชาติใด เมื่อสัมผัสถูกต้องแล้วมีลักษณะอ่อนหรือแข็งก็ตาม ธรรมชาตินั้นจัดเป็นปถวีธาตุทั้งสิ้น ธาตุอื่น ๆ นอกจากปถวีธาตุแล้ว ไม่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกแข็งหรืออ่อนปรากฏขึ้นได้โดยกายสัมผัส

ฉะนั้น ปถวีธาตุนี้ จึงเป็นที่อาศัยของรูปอื่น ๆ เหมือนพื้นแผ่นดินย่อมเป็นที่อาศัยของสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะ ตลอดจนอารมณ์ต่าง ๆ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ เหล่านี้ ถ้าปราศจากปถวีธาตุเสียแล้ว ย่อมจะปรากฏขึ้นไม่ได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |