| |
คุณสมบัติพิเศษของหทยรูป   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๘๕ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของหทยรูปไว้ดังต่อไปนี้

หทยรูปนี้มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกกะ มีดังนี้

๑. มโนธาตุมโนวิญฺาณธาตูนํ นิสฺสยลกฺขณํ มีการให้มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุได้อาศัยเกิด เป็นลักษณะ

๒. ตาสญฺเว ธาตูนํ ธารณรสํ มีการทรงไว้ซึ่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุเหล่านั้นนั่นเอง เป็นกิจ

๓. ตทุพฺพลหนปจฺจุปฏฺานํ มีการรักษาไว้ซึ่งธาตุดังกล่าวนั้นมิให้ทุพพลภาพ เป็นผลปรากฏ

๔.จตุมหาภูตปทฏฺานํ มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน:

จากวิเสสลักษณะหรือลักขณาทิจตุกกะของหทยรูปที่ท่านแสดงไว้ข้างต้นนั้น ผู้เขียนขออธิบายขยายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นดังต่อไปนี้

๑. มโนธาตุมโนวิญฺาณธาตูนํ นิสฺสยลกฺขณํ มีการให้มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุได้อาศัยเกิด เป็นลักษณะ หมายความว่า คุณสมบัติประจำตัวของหทยวัตถุรูปนี้ ก็คือ เป็นฐานรองรับให้มโนธาตุและมโนวิญญาณเกิดขึ้น ซึ่งมโนธาตุนั้นย่อมอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดโดยแน่นอน เพราะปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และสัมปฏิจฉนจิต ๒ รวมจิต ๓ ดวง ที่เรียกว่า มโนธาตุ นั้น จะต้องเกิดกับบุคคลที่มีหทยวัตถุรูป ได้แก่ บุคคลที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ๒๖ เท่านั้น ย่อมไม่เกิดกับบุคคลที่เกิดในอรูปภูมิ ๔ เลย และเมื่อเกิดขึ้นย่อมอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดเท่านั้น ไม่อาศัยวัตถุรูปอย่างอื่นเกิดขึ้นเลย ส่วนมโนวิญญาณธาตุนั้น ได้แก่ จิต ๗๖ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ ตทาลัมพนจิต ๑๑ อัปปนาชวนจิต ๒๖ และมหัคคตวิบากจิต ๙ ในจิต ๗๖ ดวงนี้ จิตที่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดโดยแน่นอนก็มี จิตที่อาศัยหทยวัตถุรูปเกิดโดยไม่แน่นอนก็มี และจิตที่ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดเลยก็มี ใน ๓ ประเภทนั้น มโนวิญญาณธาตุที่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดโดยแน่นอน มี ๓๐ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ หสิตุปปาทจิต ๑ ตทาลัมพนจิต ๑๑ รูปาวจรจิต ๑๕ และโสตาปัตติมัคคจิต ๑ เพราะจิตเหล่านี้เกิดเฉพาะกับบุคคลที่เกิดในปัญจโวการภูมิเท่านั้น มโนวิญญาณธาตุที่อาศัยหทยวัตถุรูปเกิดโดยไม่แน่นอน กล่าวคือ อาศัยเกิดก็มี ไม่ต้องอาศัยเกิดก็มี มี ๔๒ ดวง ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โมหมูลจิต ๒ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ และโลกุตตรจิต ๗ [เว้นโสตาปัตติมัคคจิต ๑] เพราะจิตเหล่านี้ ถ้าเกิดกับบุคคลที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดอย่างแน่นอน แต่ถ้าเกิดกับบุคคลที่เกิดในอรูปภูมิ ๔ ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดเลย [เพราะในอรูปภูมินั้นไม่มีรูปใด ๆ ที่จิตจะอาศัยเกิดเลย] ส่วนมโนวิญญาณธาตุที่ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดเลยนั้น มี ๔ ดวง ได้แก่ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ เพราะจิตทั้ง ๔ ดวงนี้ เกิดเฉพาะกับบุคคลที่เกิดในอรูปภูมิ ๔ เท่านั้น ย่อมไม่เกิดกับบุคคลที่เกิดในภูมิอื่นเลย และอรูปภูมิ ๔ นั้น ก็ไม่มีรูปใด ๆ เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้น อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวงนี้ จึงเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใด ๆ เลย ตามที่กล่าวแล้วนี้ จึงสรุปได้ว่า หทยวัตถุรูปนี้ย่อมมีคุณสมบัติพิเศษในการเป็นฐานรองรับการเกิดขึ้นของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุตามสควร อันเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาของหทยวัตถุรูป โดยไม่มีใครหรือสิ่งใดไปบงการจัดแจงแต่ประการใด

๒. ตาสญฺเว ธาตูนํ ธารณรสํ มีการทรงไว้ซึ่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุเหล่านั้นนั่นเอง เป็นกิจ หมายความว่า หทยวัตถุรูปนี้ย่อมสามารถรองรับการเกิดขึ้นของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุได้ตามสมควรแก่สภาพของบุคคล กล่าวคือ มโนธาตุทั้ง ๓ นั้น ย่อมเกิดกับบุคคลที่มีหทยวัตถุรูปได้ครบทั้ง ๓ ดวงในทุกคน ไม่มียกเว้น ส่วนมโนวิญญาณธาตุนั้น เกิดกับบุคคลต่าง ๆ กันตามสมควร กล่าวคือ บุคคลที่เกิดจากอำนาจอกุศลกรรม ได้แก่ อบายสัตว์ทั้ง ๔ ภูมิ ย่อมมีมโนวิญญาณธาตุเกิดได้ ๒๔ ดวงเป็นอย่างมาก คือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ อกุศลจิต ๑๒ สันตีรณจิต ๓ และมหากุศลจิต ๘ [ตามสมควร] เท่านั้น ส่วนบุคคลที่เกิดจากอำนาจกุศลกรรมนั้น ผู้ที่เกิดจากกุศลกรรมชั้นต่ำ ได้แก่ สุคติอเหตุกบุคคลและทวิเหตุกบุคคล ย่อมมีมโนวิญญาณธาตุเกิดได้ ๒๘ ดวง โดยเพิ่มจากอบายสัตว์อีก ๔ ดวง ได้แก่ มหาวิบากญาณวิปปยุตตจิต ๔ เท่านั้น ส่วนบุคคลที่เกิดจากกุศลชั้นสูง ได้แก่ ติเหตุกบุคคลนั้น ย่อมมีมโนวิญญาณธาตุที่อาศัยหทยวัตถุรูปเกิดได้ทั้งหมด ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ [ไม่ใช่ในหนึ่งคนเกิดได้ทั้งหมด แต่จำแนกไปตามประเภทของบุคคล เมื่อสรุปรวมกันแล้ว ย่อมได้จำนวนมโนวิญญาณธาตุที่อาศัยหทยวัตถุรูปเกิดได้ทั้งหมด] เพราะฉะนั้น จึงสรุปความได้ว่า หทยวัตถุรูปย่อมมีหน้าที่อันสำเร็จมาจากคุณสมบัติ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส นั้น คือ สามารถรองรับการเกิดขึ้นของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุได้ตามสมควรแก่สมรรถภาพของหทยวัตถุรูปของแต่ละบุคคล และตามสมแก่สภาพของบุคคลนั้น ๆ ด้วย

๓. ตทุพฺพลหนปจฺจุปฏฺานํ มีการรักษาไว้ซึ่งธาตุดังกล่าวนั้นมิให้ทุพพลภาพ เป็นผลปรากฏ หมายความว่า หทยวัตถุรูปนี้เมื่อเป็นฐานรองรับการเกิดขึ้นของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุแต่ละดวงแล้ว ย่อมรองรับไว้จนกว่าจิตดวงนั้น ๆ จะสามารถเกิดขึ้นและทำหน้าที่ของตนได้สำเร็จและดับไปในที่สุด โดยไม่มีการทุพพลภาพหรือทำให้จิตดวงนั้น ๆ ต้องดับไปก่อนที่จะทำหน้าที่ของตนได้สำเร็จแต่ประการใดเลย เปรียบเหมือนพื้นแผ่นดินที่รองรับการเกิดขึ้นของต้นไม้ ฉันนั้น แม้ต้นไม้นั้นจะหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม แผ่นดินก็สามารถทรงต้นไม้นั้นให้เกิดขึ้น เจริญเติบโตขึ้น ผลิดอกออกผล จนกระทั่งต้นไม้นั้นล้มตายไปเอง แผ่นดินก็ยังสามารถทรงไว้ โดยที่ไม่ยุบสลายหรือทำให้ต้นไม้นั้นเน่าสลายไปก่อนเวลาอันควร [หมายเอาแผ่นดินที่แน่นหนาตามปกติ และไม่มีเหตุอื่นใดมาทำให้แผ่นดินยุบสลายหรือแตกกระจายไป] นี้เป็นผลปรากฏที่เกิดจากคุณสมบัติของหทยวัตถุรูป ในการทรงไว้ได้ซึ่งการเกิดขึ้นของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุดังกล่าวแล้ว

๔. จตุมหาภูตปทฏฺานํ มีมหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า หทยวัตถุรูปนี้ ย่อมเป็นหนึ่งในอุปาทายรูป ๒๔ คือ เป็นรูปธรรมที่ต้องอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นฐานรองรับในการเกิดขึ้นทั้งสิ้น เพราะหทยวัตถุรูปนี้เป็นเพียงรูปธรรมที่ซึมซาบอยู่ในก้อนเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า มังสหทยะ เท่านั้น ไม่มีรูปร่างสัณฐานปรากฏอยู่โดยเฉพาะ และสิ่งที่หทยวัตถุรูปซึมซาบอยู่นั้น ก็ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลมเป็นหลัก โดยมีธาตุดินเป็นสภาพที่อ่อน [แข็งน้อย] เป็นที่อาศัยซึบซาบอยู่ มีธาตุน้ำเป็นเครื่องยึดเกาะธาตุอื่น ๆ ให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีธาตุไฟเป็นสภาพอุณหภูมิหล่อเลี้ยงให้อยู่ในสภาพที่พอเหมาะกัน มีธาตุลมเป็นตัวกระพือพัดปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ อนึ่ง ในบรรดารูปกลาปทั้งหมดนั้น ย่อมมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ รวมเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ทุกกลาป หทยวัตถุรูปนี้ก็มีสภาพเป็นกลาป เรียกว่า วัตถุทสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๐ รูป มีหทยวัตถุรูปเป็นประธาน ซึ่งใน ๑๐ รูปนั้น ได้แก่ หทยวัตถุรูป ๑ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ และอาหารรูป ๑ เพราะฉะนั้น หทยวัตถุรูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นฐานรองรับที่สำคัญดังกล่าวแล้ว

สรุปความแล้ว หทยวัตถุรูปนี้ย่อมมีการให้มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุได้อาศัยเกิด เป็นลักษณะ มีการทรงไว้ได้ซึ่งมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุเหล่านั้นนั่นเอง เป็นสัมปัตติรส คือ หน้าที่อันปรากฏจากคุณสมบัติ มีการรักษาไว้ซึ่งธาตุดังกล่าวนั้นมิให้ทุพพลภาพ เป็นผลปรากฏ และหทยวัตถุรูปนี้ต้องมีมหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด จึงจะปรากฏเกิดขึ้นได้ เพราะหทยวัตถุรูปเป็นอุปาทายรูป คือ รูปที่ต้องอาศัยมหาภูตทั้ง ๔ เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ แล้ว หทยวัตถุรูปนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |