ไปยังหน้า : |
การที่บุคคลจะสามารถประหาณทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดให้หมดไปจากจิตใจ เพียงชั่วครั้งชั่วคราวไม่ให้เกิดขึ้นมาครอบงำจิตให้เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตตจิตได้นั้น ย่อมประหาณได้ด้วยเหตุปัจจัย ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ
๑. ปริปุจฉกตา เป็นผู้หมั่นสอบสวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมอยู่เสมอ หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้หมั่นศึกษาเล่าเรียน หมั่นสอบสวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมกับท่านผู้รู้อยู่เสมอ ย่อมได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมสามารถกำจัดความเห็นผิดให้บรรเทาเบาบางลงไปได้
๒. ทิฏฐิวิปปันนะปะริวัชชะนะตา หลีกเว้นให้ห่างไกลจากบุคคลผู้มีความเห็นผิด หมายความว่า เมื่อบุคคลรู้ถึงโทษของความเห็นผิดแล้ว จึงพยายามหลีกเลี่ยงบุคคลผู้มีความเห็นผิด หรือบุคคลที่มีทัศนวิสัยที่เป็นไปโดยไม่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรม หรือไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรมและหลักวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เพื่อมิให้ใจเสพคุ้นในสิ่งที่ผิด ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้ไม่ได้พบไม่ได้เห็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้เสพคุ้นกับสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลายที่จะเป็นเหตุให้สั่งสมความเห็นผิด จึงทำให้สามารถตัดต้นตอของความเห็นผิดไปได้
๓. ปัญญาวันตะปุคคะละเสวะนะตา หมั่นคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีปัญญา หมายความว่า เมื่อบุคคลรู้ถึงโทษของความเห็นผิดแล้ว ก็พยายามคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีปัญญา ผู้มีความคิดเห็นเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรมอันดีงาม มีพฤติกรรมเป็นไปในทางที่ดีงาม มีความคิดสร้างสรรค์ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เป็นต้น ทำให้ได้รู้ได้เห็นตัวอย่างที่ดีที่ถูกต้อง สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติตามและดำเนินชีวิตอยู่ในหนทางที่ดีงาม หลีกห่างจากความเห็นที่ผิดได้
๔. สัทธัมมะสัมมุขะตา เป็นผู้หันหน้าให้พระสัทธรรม หมายความว่า เป็นบุคคลที่มีความสนใจในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม มีความคิดที่สร้างสรรค์ จึงสนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติในพระสัทธรรม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายที่ถูกต้อง โดยไม่หมกมุ่นอยู่ในกระแสกิเลสกระสังคม มุ่งมั่นในการแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารของชีวิต ย่อมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และคลายจากความเห็นผิดไปได้
๕. สัมมาวิตักกะพะหุละตา หมั่นฝึกคิดตริตรองแต่ในเรื่องที่ถูกต้อง หมาย ความว่า เป็นคนที่ชอบใช้วิจารณญาณในการพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่ประสบพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันตามเหตุผลที่ได้ศึกษาเล่าเรียน หรือที่ได้ยิน ได้ฟังได้เห็นตัวอย่างที่ดีมาแล้วนั้น เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง โดยไม่หลงงมงายไปตามกระแสกิเลส ย่อมทำให้เกิดองค์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น สามารถกำจัดความเห็นผิดให้บรรเทาเบาบางลงไปได้
๖. อะโยนิโส นะ อุมมุชชะนะตา เป็นผู้ไม่จมปลักอยู่แต่ในความคิดที่ไม่แยบคาย หมายความว่า เมื่อบุคคลเป็นผู้ไม่ยอมจมอยู่ในเรื่องที่ไม่มีเหตุผล หรือในความคิดความเห็นที่ไม่มีสาระแก่นสาร แต่พยายามแสวงหาความรู้และอุบายความคิดที่แยบคาย พยายามคิดค้นหาเหตุผลของสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้เรียนมานั้น อย่างละเอียดลึกซึ้งอยู่เสมอ โดยไม่ยอมตัดสินใจเชื่อแบบงมงาย ย่อมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล ทำให้สามารถบรรเทาความเห็นผิดลงไปได้
เมื่อบุคคลหมั่นประพฤติปฏิบัติตามองค์ประกอบเหล่านี้ ย่อมสามารถที่จะกำจัดความเห็นผิดให้บรรเทาเบาบางลงไป ถึงแม้จะยังละไม่ได้เด็ดขาด แต่ก็สามารถป้องกันความเห็นผิดไม่ให้เกิดขึ้นมาครอบงำความคิดความเห็นในชีวิตประจำวันได้ เป็นการกำจัดต้นตอและตัดกำลังของความเห็นผิดไม่ให้เกิดความหนาแน่นในสันดานไปด้วย เมื่อบุคคลกำจัดทิฏฐิหรือทำให้บรรเทาเบาบางลงไปได้แล้ว โลภะก็จะอ่อนกำลังลงไปด้วย เนื่องจากขาดแรงสนับสนุนที่มีกำลังมากนั่นเอง